อ่าน 2,315 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 194/2557: 3 ธันวาคม 2557
กรุงเทพมหานครต้องบริหารทรัพย์สินให้ดีกว่านี้

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เกาะรัตนโกสินทร์คือหัวใจของกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานครของเรา ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์อย่างจำกัด เราจะพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์อย่างไรดีเพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่กรุงเทพมหานครและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อชาวกรุงเทพมหานครได้ดีกว่านี้

          ปัญหาของเกาะรัตนโกสินทร์
          เกาะรัตนโกสินทร์หรือบริเวณหัวแหวนของกรุงเทพฯ คือหัวใจสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสถาปนามาตั้งแต่ พ.ศ.2325 หรือนับถึงปี พ.ศ.2557 ได้ 232 ปี เราเข้าใจกันดีว่าแต่เดิม ท้องสนามหลวงเป็นที่ทำนาเพื่อเลี้ยงพระนครในเวลาที่ทหารพม่าบุก และในช่วงก่อนปี 2525 ก็เป็นแหล่งจับจ่ายสำคัญในช่วงวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ จนต่อมาย้ายไปตลาดจตุจักร
          ปัญหาของกรุงเทพมหานครในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ คือทางเท้าเต็มไปด้วยผู้ขายและผู้ซื้อ มีสินค้าสารพัดอย่าง เหม็นกลิ่นปัสสาวะ อุจจาระ มีผู้เร่ร่อนนอนอยู่ทั่วไป ฯลฯ เราจะแก้ไขกันอย่างไรดี ทั้งนี้หลังจากรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกาะรัตนโกสินทร์ก็ได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง ปัญหาต่าง ๆ ก็บรรเทาเบาลางลง หรือจะกลายเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม
          1. ปัญหาแผงค้าขายไม่ได้มาตรฐาน แลดูไม่สวยงาม ปัญหานี้ลดน้อลงมากโดยเฉพาะบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์หลังรัฐประหาร แต่ในบริเวณอื่นก็ยังมีให้เห็นอยู่ แนวทางการแก้ไขก็คือการจัดระเบียบการเช่าใหม่ คิดค่าเช่าพื้นที่ในราคาถูก เช่น วันละ 50 บาท เพื่อนำเงินเข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้เป็นระเบียบ ผู้ค้าก็จะได้มีความมั่นคงในการขาย ในระยะยาวพัฒนาให้เป็น Night Market ที่สมบูรณ์แบบ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของกรุงเทพมหานคร กทม.ควรสำรวจและจัดทำทะเบียนผู้ค้าเป็นระยะ ๆ ผู้ที่เลิกค้าขายแล้วให้คัดออกและรับผู้ค้ารายใหม่โดยห้ามให้สิทธิเช่าช่วง

ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะรอบสนามหลวง

          2. ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองหลอดและคลองอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ว่ากันว่ากลิ่นเน่าเสียของน้ำนั้นแสนจมูกและทำให้สมองมึนงงได้เลยทีเดียว ปัญหานี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยาก โดยปล่อยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาเป็นช่วง ๆ เพื่อแก้ไขเฉพาะหน้า และบำบัดน้ำเสียก่อนการระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วทำบริเวณนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีเรือและกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและใช้บริการโดยเฉพาะ
          3. ปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนเร่ร่อน ซึ่งพบเห็นทั่วไป โดยในเรื่องนี้ กทม. ควรตระหนักว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จะให้อยู่ในสภาพอุจาดหรือน่าอนาถไมได้ ดังนั้น ต้องจัดหาที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะโดยคิดค่าเช่าราคาถูก ปลอดภัยและไม่อุจาดตา ในระยะยาวต้องพยายามคืนพวกเขาสู่สังคมปกติ ส่วนเด็กเร่ร่อน ผู้ขายบริการทางเพศ และผู้มีสติไม่สมประกอบ ควรรับการบำบัดพิเศษ
          4. ปัญหาทัศนะอุจาดในเกาะรัตนโกสินทร์ ขณะนี้ทางราชการกำลังทุบอาคารศาลฎีกาเดิม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร์เพื่อก่อสร้างใหม่ให้เป็นสถาปัตยกรรมไทย ด้วยหลักการนี้ แม้แต่อาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็อาจเข้าข่ายถูกปรับปรุงในอนาคตด้วย แต่ผมเห็นว่าสถาปัตยกรรมในลักษณะที่แตกต่างกัน แม้ขัดแย้งกันก็อยู่ร่วมกันได้ เช่น ในพระราชวังเครมลินก็มีสถาปัตยกรรมยุคบอลเชวิก เป็นต้น อาคารที่ควรเวนคืนและทุบทิ้ง น่าจะเป็นอาคารรัตนโกสินทร์ (คอนโดฯ) สองอาคารใหญ่ที่สูงราว 30 ชั้น ทางฝั่งธนบุรี เพราะแม้สร้างขึ้นก่อนกฎหมายห้าม แต่ก็เป็นความแปลกแยกทางสถาปัตยกรรมและผิดหลักการอนุรักษ์เมืองเก่า
          การพัฒนากรุงเทพมหานคร ต้องวางแผน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ปัญหา "หญ้าปากคอก" นี้จึงจะได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง

          การใช้สนามหลวงกับการสร้างสมานฉันท์ของคนในชาติ
          สนามหลวงน่าจะใช้เพื่อประโยชน์ของชาวกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี แต่เราแทบไม่ได้ใช้เท่าที่ควร สนามหลวงในปัจจุบันให้ใช้ในรัฐพิธีเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมให้ใช้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน ปัจจุบันนี้ตกอยู่ในสภาพ “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง” ควรคืนให้ประชาชน และใช้เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองได้ จะได้ไม่ไปชุมนุมในย่านอื่น นอกจากนี้ แม้การเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ปัญหาทางการเมืองมักจะเกิดในกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจึง ควรช่วยสร้างความสมานฉันท์ด้วย
          กรณีการใช้สนามหลวง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนามเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ระบุให้ใช้เฉพาะงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี แต่ห้ามมีกิจกรรมทางการเมือง ต้องยื่นคำขออนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องวางหลักประกันเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 - 1,000,000 บาท ส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการออกกำลังกายนั้น ก็ให้ใช้ตามวันเวลาที่ประกาศเท่านั้น

สภาพสนามหลวงในปัจจุบัน

          ผมไม่เห็นด้วยกับประกาศของกรุงเทพมหานครข้างต้น เพราะเท่ากับเป็นการ “ริบ” พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ ไป  สนามหลวงตกอยู่ในสภาพท “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง”  แนวคิดในการสร้างสนามปลูกหญ้าขนาดใหญ่เพียงเพื่อไว้ให้ดูด้วยตาว่าเขียวขจีเป็นเสมือนพรม แต่ไม่ยอมให้ใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนเท่าที่ควร เป็นเรื่องที่พึงทบทวนใหม่เป็นอย่างยิ่ง
          คนในกรุงเทพมหานครในสมัยก่อนขี่จักรยานเป็นก็เพราะมีสนามหลวง ใครใคร่มาเล่นว่าว หรือนั่งเล่นตามพื้นที่ต่างๆ ก็ย่อมทำได้ แต่ทุกวันนี้มีข้อจำกัดมากกทม. ควรให้พื้นที่สนามหลวงเป็นของประชาชน เพียงแต่ต้องจัดระเบียบให้ดี เช่น จัดการเรื่องการเช่าพื้นที่ค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม และเช่าจักรยาน โดยทำให้เกิดความโปร่งใส นำเงินเข้าหลวงเพื่อพัฒนาสนามหลวงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
          ที่สำคัญ ควรใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่ให้ไปชุมนุมในที่อื่น เช่น ในทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนราชดำริ หรือลานพระรูปทรงม้า หรือบนท้องถนน เช่น ถนนราชดำเนิน เป็นต้น หากได้ใช้สนามหลวงเพื่อการนี้ ก็จะจัดระเบียบการชุมนุมได้ดี ไม่กีดขวางการจราจร ไม่บุกรุกสถานที่ราชการ ไม่ทำให้แหล่งธุรกิจของประเทศชาติเสียหาย

          แปลงเป็นไนท์บาซาร์ใหญ่ที่สุดของโลก
          การท่องเที่ยวในเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้นมีข้อจำกัดในการเที่ยวในเวลากลางวัน เพราะอากาศที่ร้อนมาก ผมจึงเสนอให้แปลงพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นไนท์บาซาร์หรือตลาดท่องเที่ยวกลางคืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเพราะมีปัจจัยเอื้อทั้งแสงสีเสียงเพื่อการชื่นชมศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวได้โดยไม่ร้อน เป็นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งหาเงินเพื่อบริหารการคลังมาพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป
          โดยการนี้ ผมเห็นว่าควรเริ่มต้นให้ใช้พื้นที่บริเวณสนามหลวง และรอบกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณประมาณ 60,000 ตารางเมตซึ่งคิดเฉพาะพื้นที่ในบริเวณทางเดินรอบสนามหลวงและพื้นที่บนทางเท้ารอบอาคารศาลยุติธรรม ตลอดจนถนนราชินีและถนนหน้าหับเผยข้างอาคาร รศาลฯ หากใช้พื้นที่ 50% เพื่อกิจกรรมสันทนาการและไนท์บาซาร์ ก็จะกินพื้นที่ประมาณ 30,000 ตารางเมตร
          กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่สามารถจัดกิจกรรมและตลาดนัดได้ทุกวัน นำรายได้เข้ามาบำรุงเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติม เช่น คืนหนึ่งหากมีพื้นที่เช่าประมาณ 20,000 ตารางเมตรในระยะเวลาเริ่มต้น คิดเป็นเงินตารางเมตรละ 100 บาทต่อคืน ก็จะได้เงินประมาณปีละ 720 ล้านบาท หากหักค่าใช้จ่ายเหลือเงินกำไรสุทธิ 20% เพื่อนำมาพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ให้มีความสง่างามกว่าเดิม ก็จะได้เงินประมาณ 144 ล้านบาทต่อปี  ยิ่งหากการพัฒนานี้ขยายตัว ก็ยิ่งจะได้รายได้มาพัฒนากรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น และด้วยการจัดการที่ดี มีการบำรุงรักษาสถานที่หลังจากการใช้สอย ก็จะทำให้ภูมิทัศน์ของเกาะรัตนโกสินทร์ ยังคงความสง่างามและจะยิ่งสง่างามยิ่งขึ้น หากได้เงินกำไรมาพัฒนาเพิ่มเติม
          กิจกรรมไนท์บาซาร์นี้ควรจัดในเวลา 18:00 – 24:00 น. และควรมีกิจกรรมเสริม เช่น การล่องเรือในคลองหลอด (คลองรอบกรุง) จัดลานการแสดงออกสำหรับคนหนุ่มสาวและศิลปิน เป็นต้น และในอนาคตยังอาจขยายไปยังถนนมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และบริเวณอื่น ๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์รวมทั้งถนนราชดำเนินในและถนนราชดำเนินกลาง จนกลายเป็นตลาดไนท์บาซาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
          ตลาดที่เคยมีการดำเนินการในทั่วโลกได้แก่ตลาดซัมเมอร์ไนท์มาร์เก็ตในจังหวัดบริทิช โคลัมเบีย ของแคนาดาแต่ก็ไม่สามารถเปิดได้ตลอดเพราะสภาพภูมิอากาศอันหนาวเย็น นอกจากนี้ยังมีตลาดเทมเพิลสตรีทในฮ่องกง และตลาดอื่น ๆ หากตลาดไนท์บาซาร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ เปิดได้ตามที่ ดร.โสภณ นำเสนอ ก็จะเป็นตลาดที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก

สวนลุมไนท์บาซาร์ที่ไม่มีแล้ว แต่ถือเป็นตลาดการค้าที่ได้รับการนิยมเป็นอย่างยิ่ง

          1. เป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ให้ประชาชนได้ชื่นชมอาคารสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ในยามที่ไม่ร้อน ข้อนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความหวงแหนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
          2. เป็นการเปิดโอกาสให้วัยรุ่น เยาวชน คนหนุ่มสาว ศิลปิน ได้มีพื้นที่แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้เน้นการขายสินค้าแต่อย่างใด
          3. เป็นการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีพื้นที่ทำการค้าในราคายุติธรรม มีบริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน
          4. เป็นสถานที่ทางเลือกเพื่อการพักผ่อนที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในยามค่ำคืน ซึ่งจะทำให้พื้นที่นี้มีชีวิตชีวา ปลอดจากมิจฉาชีพ โดยจะจัดวางกำลังรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี บุตรหลานสามารถเดินทางมาได้อย่างปลอดภัย
          5. เป็นการทำให้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งนอกจากควรได้รับการยกย่องเชิดชูแล้ว ยังก่อประโยชน์แก่ประชาชนทั้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ประชาชนไทยโดยทั่วไปและนักท่องเที่ยว
          6. เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สะอาด ปลอดมลพิษ มีคุณภาพ ให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์ในเชิงสากล โดยไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวประเภทการให้บริการทางเพศหรืออื่นใดที่ทำให้ชื่อเสียงของประเทศชาติมัวหมอง
          ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครควรจัดการจราจรทั้งทางบก ทางน้ำ และบริการรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งจะเชื่อมต่อมายังเกาะรัตนโกสินทร์นี้ให้ดี เพื่อให้เป็นเกาะที่ปลอดมลพิษโดยเฉพาะในยามค่ำคืน
          การบริหารกรุงเทพมหานครต้อง “คิดนอกกรอบ” ในบางประการ แต่ต้องเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาตลาดไนท์บาซาร์นี้ให้เป็นศักดิ์ศรีของกรุงเทพมหานครต่อไป ไนท์บาซาร์จึงเหมาะสำหรับสนามหลวงเป็นอย่างยิ่ง

          เห็นไหมครับ เกาะรัตนโกสินทร์ของเรายังพัฒนาได้อีกมาก


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved