บิทคอยน์ไม่อาจแก้ความยากจน มาดูบทเรียนจากความล้มเหลวของเอลซัลวาดอร์ ในปี 2021 ประเทศเอลซัลวาดอร์ได้กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมายควบคู่ไปกับดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้วิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีไนยิบ บูเคเล ที่หวังจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน รวมถึงลดต้นทุนในการรับเงินโอนจากต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นถึง 1 ใน 5 ของ GDP ในประเทศ
อย่างไรก็ดี หลังจากผ่านไม่ถึงสี่ปี โครงการดังกล่าวกลับเละเทะไม่เป็นท่า การนำบิทคอยน์มาใช้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ในประเทศเลย แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันอย่างหนัก ทั้งสร้างแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินดิจิทัล Chivo พร้อมแจกเงินโบนัส 30 ดอลลาร์ให้กับผู้ใช้ และออกกฎหมายให้ร้านค้าทุกแห่งยอมรับบิทคอยน์ แต่ตัวเลขจากธนาคารกลางเผยให้เห็นว่า เพียง 1% ของเงินโอนเท่านั้นที่เข้ามาผ่านช่องทาง Chivo ขณะที่การสำรวจพบว่า 71% ของประชาชนมองว่าการใช้บิทคอยน์ไม่ได้ช่วยพัฒนาฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวพวกเขาเลย
“มันเป็นความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์” นางลอร์ดส์ โมลินา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่สถาบันการคลังศึกษาแห่งอเมริกากลาง กล่าว "แทบจะไม่มีใครในเอลซัลวาดอร์ใช้บิทคอยน์เลย กระทั่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีใครใช้เลย" นอกจากนี้ แผนการสร้าง "บิทคอยน์ซิตี้" ซึ่งวาดฝันว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานภูเขาไฟและใช้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินหลัก ก็ยังเป็นเพียงลมปากที่ไม่มีความคืบหน้า แถมความผันผวนของราคาบิทคอยน์ ยังทำให้เงินสำรองจากการลงทุนของรัฐบาลมีความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา
จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลอเมริกา พบว่า ประชาชนกว่า 71.1% มองว่าบิทคอยน์ไม่ได้ช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ทางการเงินของพวกเขาแม้แต่น้อย ขณะเดียวกัน IMF และธนาคารโลกก็เตือนถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินคริปโต ที่อาจทำให้ประเทศเปราะบางต่อการฟอกเงินและอาชญากรรมมากขึ้น บ่อนทำลายเสถียรภาพในระยะยาว
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังกระหึ่ม รัฐบาลของบูเคเลกลับเลือกที่จะหลบเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใส ทั้งในแง่ของตัวเลขการลงทุน การใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น สำหรับประเทศยากจนอย่างเอลซัลวาดอร์ การขาดระบบรองรับทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพียงพอ ทำให้ไม่เพียงกับรายได้ของคนส่วนใหญ่ แต่ยังตอกย้ำปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้ลึกลงไปอีก เมื่อค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นโดยที่รายได้ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับตัวตาม พวกเขาต้องแบกรับภาระหนักขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กลุ่มคนรวยกลับได้ประโยชน์จากการกักตุนสินค้าและสินทรัพย์ต่างๆ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างออกไปเรื่อยๆ
ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ การจ้างงานต่ำ ทักษะแรงงานไม่เพียงพอ ระบบการศึกษาและสาธารณสุขที่ด้อยคุณภาพ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจเอลซัลวาดอร์เป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ครัวเรือนยากจนจำนวนมากต้องใช้เงินเกือบทั้งหมดไปกับการซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นในแต่ละเดือน แทบไม่เหลือเงินเก็บออมหรือต่อยอดทางธุรกิจ สภาวะเช่นนี้ไม่เพียงทำให้คนจนหมดโอกาสในการยกระดับฐานะ แต่ยังทำให้คนที่เคยมีรายได้ปานกลางต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะร่วงหล่นสู่ความยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ประสบการณ์ของเอลซัลวาดอร์จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความยากจนและความเหลื่อมล้ำไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการใช้บิทคอยน์ การผลักดันบิทคอยน์ของประธานาธิบดีบูเคเลไม่เพียงจะไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้น แต่ยังเสี่ยงที่จะทำให้ปัญหาเดิมลุกลามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเงินภาษีไปกับการลงทุนที่ผิดพลาด การเปิดช่องให้กลุ่มนายทุนฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ และการสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะมัวแต่โหนกระแสบิทคอยน์แต่ละเลยการแก้ไขในปัจจัยที่จำเป็นกว่า ในแง่หนึ่งที่รัฐบาลได้ทยอยซื้อบิทคอยน์จนมียอดสะสมในปัจจุบันถึง 2,380 BTC คิดเป็นมูลค่าราว 5,342 ล้านบาท และสร้างกำไรจากการลงทุนไปแล้วถึง 1,887 ล้านบาท แต่เมื่อคุณรวมต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นบวกเท่าไหร่ ถือว่าขาดทุนอย่างหนัก
การทดลองนำบิทคอยน์มาใช้เป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมายในเอลซัลวาดอร์นั้น ไม่เพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังทำให้เสียเวลาไปถึงหลายปีในการพยายามผลักดันนโยบายที่ไม่ตรงจุด
ตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 4 ปีที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ทุ่มเททรัพยากรและความพยายามไปกับการส่งเสริมการใช้บิทคอยน์ ซึ่งเวลาและทรัพยากรเหล่านี้น่าจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่จำเป็นมากกว่า เช่น การปรับปรุงระบบการศึกษา การพัฒนาทักษะแรงงาน หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
การเสียเวลาไปหลายปีกับนโยบายที่ไม่ได้ผลนี้ ทำให้เอลซัลวาดอร์พลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคหรือในระดับการพัฒนาเดียวกันอาจก้าวหน้าไปไกลกว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เพราะถึงแม้ราคาบิทคอยน์จะปรับตัวสูงขึ้นมากและทำสถิติสูงสุดใหม่ (all-time high) แล้ว แต่สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ในเอลซัลวาดอร์ก็ยังคงยากลำบาก ไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของราคาบิทคอยน์แต่อย่างใด หลายคนยังคงประสบปัญหาความยากจน ไม่มีอันจะกิน
ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักคือ รายได้ต่อหัวของประชาชนในเอลซัลวาดอร์นั้นต่ำมาก ซึ่งส่งผลให้:
1. แม้จะใช้เงินเก็บทั้งหมดซื้อบิทคอยน์ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถถือครองบิทคอยน์เต็มจำนวน (1 BTC) ได้ พวกเขาทำได้เพียงเก็บสะสมเศษเล็กเศษน้อยของบิทคอยน์ (ซาโตชิ) เท่านั้น
2. ต่อให้ราคาบิทคอยน์พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวก็ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วได้ (มีเงินเก็บในบิทคอยน์มูลค่า 30-50 ดอลล่าร์ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเทียบเคียงประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี ปีละ 50,000 ดอลล่าร์ได้อย่างไร?)
3. ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ไม่สามารถเทียบเคียงได้กับประเทศพัฒนาแล้วได้เลย เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของ Spot Bitcoin ETF ที่ถูกอนุมัติแล้ว ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่ก็ยังไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่พัฒนาแล้วในหลายๆประเทศ ซึ่งมีการยอมรับและใช้งานบิทคอยน์ในระดับต่ำมาก กลับมีประชาชนที่มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่ามาก โดยไม่ต้องพึ่งพาบิทคอยน์เลย พวกเขาสามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้ดี มีระบบสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็ง และมีเศรษฐกิจที่มั่นคง มีรายได้ต่อหัวที่สูง
นี่เองเราจึงสรุปได้ว่า บิทคอยน์ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การนำบิทคอยน์มาใช้เป็นสกุลเงินหลักของประเทศเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริง
ที่มาของภาพประกอบ: https://www.bbc.com/thai/articles/cw82zjp6ng7o