AREA แถลง ฉบับที่ 201/2557: 15 ธันวาคม 2557
ดัชนีความโปร่งใส: ยิ่งจน ยิ่งโกง
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงดัชนีการทุจริต (Corruption Perception Index หรือ CPI) ขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในปี 2557 นี้ดัชนีความโปร่งใสของไทยดีขึ้นจาก 3.5 เต็ม 10 เป็น 3.7 (www.transparency.org/cpi2014/results) แสดงว่าประเทศไทยมีระดับความโปร่งใสดีขึ้น
อย่างไรก็ตามดัชนีการทุจริตขององค์กรความโปร่งใสนานาชาตินี้ เป็นดัชนีที่ใช้ข้อมูลในรอบไม่เกิน 24 เดือนล่าสุด (http://goo.gl/cmikmI) ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วก็ใช้ข้อมูลของกลางปี 2557 หรือปลายปี 2556 ดังนั้นการที่ความโปร่งใสของไทยกระเตื้องขึ้นจึงอาจถือได้ว่าเป็นผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนผลงานความโปร่งใสของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะปรากฏให้เห็นในการแสดงดัชนีความโปร่งใสที่จะเผยแพร่ในปลายปี 2558 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือความโปร่งใสหรือการทุจริตมีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรกับรายได้ประชาชาติต่อหัว ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำ จะมีการทุจริตมาก ส่วนประเทศที่มีความโปร่งใสมักมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง ถือได้ว่ามีระดับความยากจนไม่มากนัก ประชากรจะมีฐานะดีกว่า การทุจริตก็จะน้อยกว่าไปด้วยนั่นเอง เข้าทำนอง "ยิ่งจน ยิ่งโกง" "ยิ่งรวย ยิ่งไม่โกง"
จากดัชนีความโปร่งใสของ Transparency International ในปีก่อนหน้า พบว่าในจำนวนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการสำรวจนี้ 178 ประเทศ พบว่ากลุ่มประเทศที่มีความโปร่งใสสูงสุดประกอบด้วย เดนมาร์ค นิวซีแลนด์และสิงคโปร์ โดยได้คะแนนเท่ากันคือ 9.3 เต็ม 10 รองลงมาคือฟินแลนด์และสวีเดนที่ต่างได้คะแนน 9.2 กลุ่มที่สองที่ได้คะแนน 8-8.9 นั้นประกอบด้วย แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซแลนด์ ลักเซ็มเบอร์ก ฮ่องกง และไอร์แลนด์ (เรียงตามคะแนนสูงสุดลงมา)
ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยที่สุด เรียงตามลำดับที่น้อยที่สุดขึ้นไปตามลำดับประกอบด้วย โซมาเลีย เมียนมาร์ อาฟกานิสถาน อิรัก อุสเบกิสถาน เตอร์กเมนิสถาน ซูดาน ชาด บูรุนดิ อิเควตอเรียลกีอานา และแองโกลาตามลำดับ ประเทศเหล่านี้มักเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญเท่าที่ควร คงมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และมีจำนวนมากเป็นประเทศในทวีปอาฟริกา รวมทั้งประเทศใหม่ที่แยกตัวจากอดีต สหภาพโซเวียต
สำหรับในกรณีประเทศไทย ดัชนีการทุจริตที่แสดงคะแนนความโปร่งใสของไทยอยู่ที่ 3.5 เต็ม 10 ในปี พ.ศ. 2553 และในช่วงปี 2555-2557 ได้คะแนน 3.8 3.5 และ 3.7 ตามลำดับ หากพิจารณาจากแนวโน้มระยะยาว จะพบว่าความโปร่งใสของประเทศไทยดีขึ้น เพราะในปีแรกของการวัด คือปี พ.ศ. 2541 พบดัชนีอยู่ที่ 3.0 อาจสังเกตได้ว่า ดัชนีการทุจริตของไทยคงที่ ณ 3.2 ในช่วงปี พ.ศ.2542-2545 และเริ่มดีขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2546 – 2548 ตามลำดับ โดยดัชนีเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.8 จาก 10 ในปี พ.ศ.2548 อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็กลับลดลงในปี พ.ศ.2549 – 2550 สำหรับในช่วงปี พ.ศ.2551-2553 นั้นกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงสูงสุดคือในช่วงปี พ.ศ.2547-2548
จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างดัชนีการทุจริต (CPI: Corruption Perceptions Index) กับรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita: Gross Domestic Products per capita) พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรอยู่พอสมควรโดยค่า R Square ที่แสดงความสัมพันธ์เชิงตัวแปรทั้งสองตัวแปร ได้ค่า 0.6756 ในปี 2553 และทั้งหมดอยู่ระหว่าง 0.6483 (ในปี พ.ศ.2552) ถึง 0.7491 ในปี พ.ศ.2545 และมีจำนวนประเทศในการวิเคราะห์ระหว่าง 81 - 175 ประเทศ
หากประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปต้องรักษาความโปร่งใสให้ดีที่สุด เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะคงหานักลงทุนที่จะลงทุนในประเทศที่มีการโกงกันสะบั้นหั่นแหลกไม่ได้ และเมื่อมีการลงทุนเพิ่มเติม เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ไทยก็จะดีขึ้นตามลำดับ
ดูอย่าง พม่า ลาว กัมพูชา ที่รายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำมาก เพราะความโปร่งใสน้อยเหลือเกิน การกระจายรายได้คงไม่ทั่วถึง ส่วนประเทศที่โปร่งใสสูงเช่นบรูไน สิงคโปร์ กลับมีความโปร่งใสสูง รายได้สูง มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
กรณีนี้อาจดูขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า "ยิ่งรวย ยิ่งโกง" แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า "ยิ่งจน ยิ่งโกง" ในประเทศที่รวย อาจมีคนรวยโกงเหมือนกันแต่เนื่องจากมีกฎระเบียบต่าง ๆ เข้มงวด โอกาสโกงจึงน้อบ คนรวยที่โกง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ "โรคจิต" เช่น ไปขโมยของในห้างสรรพสินค้า แต่คนจนมีโอกาสที่จะโกงเพราะความจำเป็นเป็นพื้นฐาน
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|