มาฟังประสบการณ์จากผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ไปประเมินค่าเขื่อนในหลายประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่ายิ่งน้ำท่วม ยิ่งต้องสร้างเขื่อนให้มาก เพราะประโยชน์อเนกอนันต์ต่อประเทศในทั่วโลก
บางคนบอกว่าเขื่อน “เอาท์” หรือล้าสมัยแล้ว ไม่ควรสร้างอีก แถมทำลายสิ่งแวดล้อม มันไม่จริง อันที่จริง เขื่อนเป็นนวัตกรรมตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์แล้ว เขื่อนสิ่งดีๆ ที่มนุษย์ใช้ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อมนุษยชาติมาช้านานแล้ว มรดกโลกเขื่อนตูเจียงเอี้ยน (Dujiangyan) ที่เมืองตูเจียงเอี้ยน มณฑลเสฉวน ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2542 โดยสร้างมากกว่าสองพันปีแล้วตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ นอกจากเป็นเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเขื่อนที่ยังคงใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน (http://goo.gl/fGzqCS) ในประเทศศรีลังกา ก็ได้พบเห็นเขื่อนที่ก่อสร้างมา 900 ปี และทราบมาว่ากษัตริย์หลายพระองค์แห่งประเทศศรีลังกาได้ก่อสร้างเขื่อนไว้หลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการแสดงบทบาทของกษัตริย์ต่อการช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง (https://goo.gl/MUAUWX)
บ้างก็บอกว่าที่ลาวมีเขื่อนมากมาย น้ำก็ยังท่วม ผมในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งที่ศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับมอบหมายให้ไปประเมินเขื่อนถึง 28 แห่งในลาวมาแล้ว ขอยืนยันว่าต้องสร้างเพิ่มต่างหาก หรือแม้แต่เขื่อนที่อินโดนีเซียที่ผมไปประเมินมาเช่นกัน ก็มีประโยชน์อเนกอนันต์จริงๆ
เขื่อนเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีชีวิตยืนยาวและใช้ประโยชน์ได้มหาศาล เช่น เขื่อน Cirata ที่ผมไปประเมินในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย น่าจะมีอายุใช้งานประมาณ 150 ปี เพื่อการผลิตไฟฟ้าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสะสมของตะกอน แต่ถึงแม้จะไม่คุ้มกับการผลิตไฟฟ้าในภายหลัง ก็ยังมีประโยชน์ในการเกษตร ประมง ประปา ป้องกันน้ำท่วม จึงเป็นเขื่อนที่น่าจะคงอยู่ไปอีกนาน
การสร้างเขื่อนในอินโดนีเซียนี้ มีการเวนคืนที่ดินมหาศาล โดยมีบ้านเรือนของประชาชนอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้านต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมในหุบเขาต่างๆ แต่ก็มีการชดเชยไป อย่างไรก็ตามเขื่อนนี้ก่อสร้างในสมัยรัฐบาลซูฮาร์โตเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารในยุคนั้น การต่อต้านจึงจำกัด แต่ถ้าเป็นในปัจจุบัน ก็อาจถูกพวก NGOs ขัดขวาง อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันนี้ เขื่อนนี้ก็พิสูจน์ชัดว่ามีประโยชน์เอนกอนันต์จริง
อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่ามีการก่อสร้างเขื่อนใหม่มากกว่ารื้อทิ้ง บางคนให้ข่าวเพียงบางส่วน เช่น บอกว่า สหรัฐอเมริการื้อทิ้งเขื่อนกันใหญ่แล้ว ขณะนี้รื้อไปแล้ว 2,119 เขื่อน (https://lnkd.in/grnSRf3B) ข้อนี้อาจทำให้คนเห็นว่าเขื่อนนั้นล้าสมัยไปแล้ว แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นบันทึกการรื้อเขื่อนตั้งแต่ พ.ศ.2455 (หรือ ค.ศ.1912) จนถึงปี 2566 หรือรวมระยะเวลา 111 ปี ไม่ใช่รื้อในช่วงที่ผ่านมาไปเสียทั้งหมด
ยิ่งถ้าเราทราบตัวเลขว่า จำนวน 2,119 เขื่อนที่รื้อทิ้งไปนี้เทียบได้เป็นแค่ 2.3% ของจำนวนเขื่อนทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีอยู่รวมกันถึง 91,804 แห่ง (https://lnkd.in/g3rGvPAa) ก็จะเห็นได้ว่า การรื้อเขื่อน ก็เป็นไปตามอายุขัยหรือตามความเหมาะสม เขื่อนเก่าๆ ที่ตื้นเขินแล้ว หรือในบริเวณที่เหมาะจะสร้างเขื่อนใหม่ ก็จะสร้างขึ้นทดแทนเขื่อนเดิมบ้างนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นยังมีการวางแผนสร้างเขื่อนใหม่อีกมากมายทั่วโลก
อีกตัวเลขหนึ่งที่พึงทราบก็คือ ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2552-2566) มีการสร้างเขื่อนใหม่อีกถึง 2309 แห่ง ตัวเลขการสร้างเขื่อนใหม่ในรอบ 19 ปี มีมากกว่าตัวเลขการรื้อเขื่อนในรอบ 111 ปีเสียอีก นี่เองที่เขื่อนยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ทรงคุณค่าและควรจะมีการก่อสร้างต่อไป แต่ทั้งนี้ก็มีบางท่านให้ข้อสังเกตว่าระยะหลังๆ มานี้ อัตราการสร้างเขื่อนใหม่ลดลง แสดงว่าเขื่อนไม่เป็นที่นิยมแล้วหรือไม่ ข้อนี้ คงต้องตั้งข้อสังเกตว่าในสหรัฐอเมริกาที่มีเขื่อนถึง 91,804 แห่งนี้อาจ “พอเพียง” แล้ว จึงไม่ได้สร้างใหม่ และหากมีการรื้อเขื่อนที่หมดอายุไปบ้าง ก็คงต้องสร้างเขื่อนใหม่อีกนั่นเอง
ที่มา: https://hobomaps.com/LaosHydropowerProjects.html
สำหรับเขื่อนในประเทศลาวที่ผมในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับมอบหมายให้ไปประเมินนั้น ปรากฏว่าเขื่อนลาวสร้างรายได้มหาศาล การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการใช้ขับเคลื่อนประเทศทั้งในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คมนาคม รวมไปถึงการเกษตรในรูปแบบใหม่ที่ต้องใช้เครื่องจักรเข้าช่วยในการขยายกำลังการผลิตนั่นเอง ทำให้ลาวมีรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าในแต่ละปีมีอัตราเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกิจการพลังงานจากเขื่อนจึงถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ที่สำคัญต่อประเทศ
แต่ก็มีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าลาวมีเขื่อนมากมายแล้วทำไมน้ำยังท่วมอีก ข้อนี้เป็นการมองข้อมูลด้านเดียว ในแง่หนึ่ง น้ำท่วมมีหลายสาเหตุ เช่น ในยามพายุใหญ่มา ก็เกิดน้ำท่วมได้ ไม่ว่าในพื้นที่ใดก็ตาม อีกสาเหตุหนึ่งก็คงเป็นเพราะการปล่อยน้ำของจีน (อย่างขาดความรับผิดชอบเท่าที่ควร) ทำให้สองฝั่งโขงเกิดน้ำท่วม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเขื่อนในลาว (โปรดดูแผนที่ประกอบ) กรณีนี้ควรได้รับการตรวจสอบจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายบ้าง (แต่คงทำได้ยากยิ่ง)
ยิ่งกว่านั้นในครั้งที่ผมไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ประเทศจีน ปรากฏว่าบนภูเขา เขาสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไว้มากมาย ไม่ปล่อยน้ำให้สูญเปล่า นครเซียะเหมินมีภูเขาใหญ่น้อยเต็มไปหมด ถ้าดูจากแผนที่จะพบว่าบนภูเขา เขาได้ทำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไว้เต็มไปหมด เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ คนเราต้องดัดแปลงธรรมชาติเพื่อความผาสุกของสังคม การดัดแปลงเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ ยิ่งมีเขื่อนมาก ยิ่งทำให้สัตว์ ป่า และคนได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นนั่นเอง
บนภูเขาในนครเซียะเหมิน มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเต็มไปหมด ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อมนุษยชาติ
ในประเทศไทยควรมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อีกมาก ที่ไหนน้ำท่วมก็สร้างเขื่อน มีภูเขาก็สร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำไว้ เพราะที่ผ่านมา น้ำไหลไปท่วมบ้านชาวบ้านอย่างน่าสงสาร แถมไหลทิ้งลงทะเลไปหมด เราจึงพึงสร้างเขื่อน ส่วนการปลูกต้นไม้บนป่าเขา เช่น เขาหัวโล้นที่จังหวัดน่านและที่อื่นๆ ก็ควรดำเนินการไป แต่ก็อาจมีบางท่านกล่าวว่าป่าไม้เป็นที่เก็บน้ำถาวร ส่วนเขื่อนเป็นที่เก็บน้ำชั่วคราว ในความเป็นจริง มันตรงกันข้าม ป่าเป็นที่เก็บน้ำชั่วคราว เราคงได้ยินคำว่า “น้ำป่าไหลหลาก” ส่วนเขื่อนต่างหากที่เก็บน้ำถาวร ในปี 2485 ที่น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานครนั้น ป่าไม้ยังเต็มไปหมด ก็ยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้
ในประเทศไทยก็ดูได้อย่างเขื่อนภูมิพล ก็มีคุณูปการยิ่งในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2507-2557) ก็คือ การสร้างความเจริญให้กับประเทศ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 64,580.63 ล้านหน่วย ชดเชยการนำเข้าน้ำมันเตาได้กว่า 15,466.75 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 342,418.16 ล้านบาท ยังระบายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ 270,951 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งเสริมอาชีพประมงคิดเป็นมูลค่า 427.37 ล้านบาท อีกทั้ง ยังส่งเสริมการท่องเที่ยว มากกว่า 27 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนรอบเขื่อน (http://bit.ly/2fOyBxh)
ประเทศไทยต้องสร้างเขื่อนเพื่อชีวิตสัตว์ป่า ป่าไม้ ประชาชนและสิ่งแวดล้อม เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตโดยแท้