กรุงเทพฯ จะจมทะเลไหม?
  AREA แถลง ฉบับที่ 969/2567: วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2567

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            มีกระแสขึ้นเป็นระยะๆ โพนทะนาว่าน้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพมหานครในอีก 30 ปีข้างหน้า ทำให้ชาวบ้านกลัวจน "ขี้ขึ้นสมอง" เรามาดูกันว่าประเทศอื่นเขาคิดถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง จะส่งผลต่ออสังหาริมทรัพย์อย่างไรบ้าง  ที่สำคัญเราต้องมองออกไปรอบบ้าน อย่าให้นักวิทย์ฯ ไทยบางคน หลอกเราได้
            สิงคโปร์ สำนักงานเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งชาติ (National Climate Change Secretariat) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา น้ำทะเลขึ้นปีละ 1.2-1.7 มิลลิเมตร ตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา (http://bit.ly/1xPXdqm) บัดนี้ผ่านมา 45 ปี หากเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 มิลลิเมตร ก็เท่ากับเพิ่มขึ้น 67.5 มิลลิเมตร (หรือ 6.75 เซนติเมตร หรือ 0.675 เมตร) ซึ่งก็พอๆ กับประเทศไทย  ไม่ได้ขึ้นมากหรือน้อยกว่ากันนัก
            นี่แสดงว่าหากมีการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล 2 เมตร (2,000 มิลลิเมตร) ในอีก 20 ปีข้างหน้า (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ดังที่นักวิทย์ฯ ไทยโพทะนา)  ป่านนี้สิงคโปร์คงเต้นเป็นเจ้าเข้าไปแล้ว  ผมไปดูงานที่สิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2538 พบว่าที่สิงคโปร์ เขาวางแผนระยะยาว 20, 30 แต่เดี๋ยวนี้วางแผนไปถึง 50 ปีล่วงหน้าแล้ว  และอาจถึง 100 ปีล่วงหน้าในไม่ช้านี้  ถ้าสิงคโปร์ "บ้าจี้" เหมือนที่ไทยโดนนักวิทย์ฯ "เป่าหู"  ป่านนี้ก็คงสร้างกำแพงรายล้อมสิงคโปร์ไว้แล้วอย่างแน่นอน  แต่นี่เขาเฉยมากเลย
            มาเลเซีย  ทีนี้มาดูการคาดการณ์ของมาเลเซียกันบ้าง  มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2643 หรือ (ค.ศ.2100) หรืออีก 83 ปีข้างหน้า น้ำทะเลในบริเวณรอบๆ ประเทศมาเลเซียจะขึ้นแน่นอน  แต่ไม่ได้ขึ้น 2 เมตร 10 เมตร 20 เมตร หรือมากกว่านั้นตามที่นักวิทย์ฯ ไทยกล่าวอ้าง (ส่งเดช) แต่อย่างใด  แต่จะขึ้น 0.253 เมตร หรือ 25.3 เซ็นติเมตร บริเวณใกล้ๆ กังสิงคโปร์ จนถึงประมาณ 1.604 เมตร ในบริเวณเกาะบอร์เนียว ใกล้ๆ กับบรูไน (http://bit.ly/2sxeFWS)  ทั้งนี้คงเป็นเพราะแถวนั้นมีการสูบน้ำมันออกมาขายมากเป็นพิเศษหรืออย่างไร
            จะสังเกตได้ว่าบริเวณแถวสงขลา-ปัตตานี น่าจะมีน้ำทะเลขึ้นสูงเฉลี่ยราว 40 เซนติเมตร ภายในเวลา 83 ปีข้างหน้า  ไม่ใช่ 2-20 เมตรแบบที่เราได้รับการ "กรอกหู" มาโดยนักวิทย์ฯ ไทย  แสดงว่าอะไรได้อีกนอกจากจะบอกว่า "ย.ห." (อย่าห่วง)  ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เหลียวแลปัญหาแบบนี้  แต่ว่าอย่าได้ถูกปั่นหัวให้กลัวจน "ขี้ขึ้นสมอง" หรือ "กลัวเป็นบ้าเป็นหลัง" ไปก็แล้วกัน  ต้องใช้วิจารณญาณ หาไม่คนไทยเราก็จะถูกหลอกเรื่อยไปนั่นเอง
            กัมพูชา ณ นครสีหนุวิลล์  องค์การสหประชาชาติ (UN HABITAT) ได้จัดทำรายงานขึ้นชิ้นหนึ่ง (http://bit.ly/2rYe9o0) ระบุว่าในปี 2568 (ค.ศ.2025) น้ำทะเลขึ้นจะมีผลต่อเรือประมงในระดับเล็กน้อย ต่อที่อยู่อาศัยในระดับปานกลาง ต่อการกัดเซาะรุนแรง ต่อถนนหนทางในระดับปานกลาง  แต่ในรายงานไม่ได้มีรายละเอียดผลการสำรวจมากนัก  แต่จากการไปสังเกตการณ์ของผมเองในปี 2559 พบว่าที่นครสีหนุวิลล์แห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ  ชายฝั่งก็สวยงาม ไม่พบการกัดเซาะรุนแรงแต่อย่างใด
            ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย หรือ Asian Development Bank ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบกว่า ในรอบ 120 ปี (พ.ศ.2443 - 2563) ส่วนใหญ่น้ำทะเลขึ้นเพียงเล็กน้อย (http://bit.ly/2rY6Hcu) ดังนี้:
            - นครแคนตอน ประเทศคีริบาติ น้ำทะเลเพิ่มขึ้นราว 7 เซนติเมตร
            - นครมุมไบ ประเทศอินเดีย น้ำทะเลเพิ่มราว 10 เซนติเมตร
            - ประภาคารรัฟเฟิล สิงคโปร์ น้ำทะเลเพิ่มขึ้นราว 10 เซนติเมตร
            - นครดาเวา ประเทศฟิลิปปินส์ น้ำทะเลเพิ่มราว 60 เซนติเมตร
            - นครนากาซากิ ประเทศญี่ปุ่น น้ำทะเลเพิ่มขึ้นราว 20 เซนติเมตร
            - นครเซียะเหมิน ประเทศจีน น้ำทะเลเพิ่มราว 13 เซนติเมตร
            โดยนัยนี้จึงไม่ต้องตกอกตกใจไปมากเป็นพิเศษแต่อย่างใด  การเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลนั้น เป็นไปอย่างช้า ๆ  ต่อให้น้ำแข็งจากขั้วโลกทั้งสองขั้วละลายหมด ก็เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำที่ขั้วโลกมีไม่ถึง 1% ของน้ำทั่วโลก เพราะปริมาณน้ำที่เป็นรูปของน้ำแข็งและหิมะ มีเพียง 1.7% ของน้ำทั้งโลก  ถ้าในกรณีน้ำที่อยู่ทั่วขั้วโลก จึงน่าจะมีไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำไป (https://on.doi.gov/1K4gY8U)  ดังนั้นจึงอย่าไปเชื่อคำโพทะนาว่าน้ำจะท่วมโลกแต่อย่างใด
            หลายคนเน้นใช้ความรู้สึกมาบอกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ รุนแรงขึ้น แต่ความจริงก็คือ พายุหมุนเขตร้อนที่เข้ามาในประเทศไทยมีปริมาณลดลงตลอดในช่วงปี 2494-2549 รวมทั้งอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง พ.ศ.2539-2549 ก็ไม่แตกต่างกันเลย  ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยกลับลดลงนับแต่ปี 2483 ที่สำรวจ ความรู้สึกที่ไม่อิงข้อมูล มักทำให้คิดตรงข้ามกับความจริง และมักจะรีบเชื่อเมื่อมีผู้ทำให้ตกใจ (http://bit.ly/2qULCzn)
            ส่วนที่เห็นน้ำท่วมโบสถ์วัดขุนสมุทรนั้น คงเป็นเพราะการทรุดตัวของดินจากผลของการสูบน้ำบาดาลเกินขนาด การทำลายป่าชายเลน การพังทลายของตลิ่งและอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาโดยตลอด ไม่ใช่เพราะภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด เป็นธรรมชาติรอบอ่าวไทย ที่บางส่วนของพื้นที่อาจถูกกัดเซาะ บางบริเวณก็กำลังเกิดที่งอก ในสมัยโบราณ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่เดิมเป็นทะเลทั้งหมด ทุกวันนี้ใต้ท้องนาในจังหวัดอยุธยา ยังขุดทรายมาขายกันได้เป็นล่ำเป็นสัน วัดเจดีย์หอยที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ก็ยังพบเปลือกหอยทะเลมากมาย แค่น้ำทะเลกัดเซาะวัดขุนสมุทรและบริเวณใกล้เคียงเพียงเท่านี้ ยังเทียบอะไรไม่ได้กับการเกิดภาคกลางของประเทศไทยแต่อย่างใด  ในประเทศไทยของเรา การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศยังเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา และเอ็นโซ ตามกระแสน้ำอุ่น แต่กลับมีการกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อนเป็นสำคัญ (http://bit.ly/2rI3s7T)
            ผมเพียงมุ่งตรวจสอบการโฆษณาชวนเชื่อที่ขาดจรรยาบรรณ ทำให้สังคมขาดความรอบรู้และเกิดการคิดอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เราควรมีเวทีการถกเถียงเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้าง เป็นการส่งเสริมสังคมอุดมปัญญา มีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมที่สักแต่เชื่อกันด้วยศรัทธาอย่างมืดบอดอันถือเป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปัญญา-ความรู้ของประชาชนในระยะยาว
            การใช้อวิชชาหลอกล่อให้คนเชื่อ เป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประหนึ่งเห็นชาวบ้านเป็นวัวควายที่อธิบายกันดีๆ ไม่ได้ ต้องหลอกล่อด้วยความกลัวถึงผลร้ายของภาวะโลกร้อนจนเกินจริง และด้วยการใช้ความน่ารัก-น่าสงสารของคน สัตว์และสิ่งของเพื่อให้คล้อยตาม โปรดสังเกตว่า “หมัดเด็ด” ในการปิดปากผู้สงสัยเรื่องโลกร้อนก็คือการป้ายสีพวกเขาว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อโลก เราจึงควรมีการวินิจฉัยด้วยตนเองให้ชัดเจนตามหลักธรรมกาลมสูตรก่อนที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ
            การบิดเบือนความจริงเคยส่งผลเสียหายมากมายมาแล้ว เช่น การที่ NGO บางแห่งเคยให้ข้อมูลที่เป็นเท็จอย่างร้ายแรงว่า ประเทศไทยมีโสเภณี 2 ล้านคน ทำให้พจนานุกรมลองแมน เคยให้คำจำกัดความของกรุงเทพมหานครว่าเป็นนครแห่งโสเภณีในปี 2536 จะสังเกตได้ว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมมักพยายามโฆษณาว่าปัญหาที่ตนเกี่ยวข้องอยู่มีขนาดใหญ่ ด้วยหวังให้สังคมให้ความสนใจ แต่น่าเสียดายที่ทุกคนก็ใช้วิธีเดียวกันจนเฝือ สังคมเลย “มึน” และกลับคิดว่าปัญหาทั้งหลายนั้นสุดแก้ไข กลายเป็นปัญหาโลกแตกไป
            การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังอาจถือเป็นการเบี่ยงประเด็นสาระสำคัญของปัญหาในโลกนี้ อันได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บที่เผชิญอยู่ทุกวัน การกดขี่เอารัดเอาเปรียบต่อผู้ด้อยโอกาส สงครามและการก่อการร้าย อำนาจเผด็จการที่ปิดกั้นเสรีภาพประชาธิปไตย ตลอดจนการปล้นสะดมของประเทศมหาอำนาจต่อประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น บางทีถ้าเราเอาเงินรณรงค์เรื่องโลกร้อนไปช่วยคนทุกข์ยากทางอื่น ยังอาจได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่านี้
            รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์แสดงความเห็นในเฟสบุ๊ก และลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (https://bit.ly/2Iq8sWG) ความว่า
            1. ตอนนี้กรุงเทพฯทรุดตัวอย่างมากเเละอาจจะจมทะเลเหมือนจาการ์ต้า:  ผิด ตอนนี้กรุงเทพฯโดยเฉพาะพื้นที่ชั้นใน มีการทรุดตัวน้อยมาก เนื่องจากไม่ได้มีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ จาการ์ตานั้นทรุดจากสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะเรื่องการทรุดตัวของเเผ่นเปลือกโลกที่ กทม ไม่มีหลักฐานปรากฏชัด
            2. อาคารสูงใน กทม ทำให้เเผ่นดินทรุดมาก: ผิด อาคารทั้งสูงเเละไม่สูง ตั้งอยู่บนเสาเข็ม ที่จะถ่ายเเรงลงไปสู่ชั้นดินที่เเข็งเเรงเเละทรุดตัวน้อย
            3. การก่อสร้างทำให้ปกคลุมพื้นที่ที่น้ำจะไหลซึมลงพื้นดิน ทำให้ชั้นดินเเห้งเเละทรุดตัว: ผิด อย่างมาก ดินเเห้งมีความเเข็งเเรงเเละทรุดตัวน้อยกว่าดินเปียก
            4. น้ำใต้ดินใน กทม มาจากน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่เเละซึมลงดิน: ผิด ชั้นดินเหนียวกรุงเทพฯ หนากว่า 20 เมตร มีค่าความซึมน้ำต่ำมาก น้ำไหลไปตามผิวดินมากกว่าซึม นอกจากนั้น น้ำใต้ดินใน กทม มาจากการเติมของน้ำจากขอบเเอ่งดินเหนียว
            แต่......
            1. การที่พื้นผิวเป็นคอนกรีตที่น้ำซึมลงไม่ได้ จะส่งผลให้น้ำไหลลงระบบระบายน้ำเร็ว ทำให้อัตราการสูบน้ำก็ต้องเร็วตาม ถ้าสูบไม่ทันน้ำก็จะท่วมรอระบายนานขึ้น
            2. น้ำทะเลสูงขึ้นจริงในปัจจุบัน เเต่ก็ยังอยู่ในอัตราการเพิ่มที่ป้องกันได้
            3. ระดับพื้นดินใน กทม บางพื้นที่ต่ำจริง เนื่องจากเคยทรุดตัวเนื่องจากการสูบน้ำบาดาลมาก่อน ทำให้เป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อฝนตก น้ำก็จะท่วมขัง ต้องอาศัยการสูบน้ำออก
            4. การละลายของน้ำเเข็งขั้วโลกเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เเต่เราก็ไม่สามารถไปกังวลกับสิ่งที่ปัจจุบันมีความไม่เเน่นอนเกินกว่าจะลงทุนย้ายเมืองหรือทำอะไร
            โดยสรุปแล้วอย่าได้กลัวเรื่องน้ำทะเลท่วมกรุงเทพมหานคร เป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง ทุกอย่างป้องกันได้ ดูอย่างเนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ยังอยู่ได้
            ความเท็จที่พึงรู้ก็คือ เขื่อนทำให้ตะกอนไม่ลงอ่าวไทย เป็นเท็จ  35 ปีที่ผ่านมาน้ำทะเลขึ้น 2 เมตร เป็นเท็จ อีก 20 ปีน้ำทะเลจะกัดเข้า1.3 กม เป็นเท็จ  สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ ปกปิดความจริงในอีกด้านก็คือ
            1. มองข้ามการทำลายป่าโกงกางไปทำนากุ้งกันทั่วประเทศที่ทำให้ชายฝั่งล่มสลาย
            2. ทุกวันนี้มีแผ่นดินงอกกันมากมาย แต่กลับมองด้านเดียว
            3. แผ่นดินกรุงเทพมหานครหยุดทรุดหรือแทบไม่ได้ทรุดอีกต่อไป
            4. มีการป้องกันน้ำกัดเซาะสำเร็จ และเพิ่มแผ่นดินขึ้นอีก


            โปรดดู Clip ชี้แจงนี้เพื่อความกระจ่างว่าน้ำทะเลจะไม่ท่วมกรุงเทพมหานครแน่นอน:

 

กรุงเทพฯ จะจมทะเลไหม?: https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/1069333814687097

 

กรุงเทพฯ จะจมทะเลไหม?: https://youtu.be/indVsI3GKfQ

อ่าน 332 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved