เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปเมืองบินห์เยือง ทางด้านเหนือของนครโฮจิมินห์ เพื่อประเมินค่าทรัพย์สินประเภทโรงงานอุตสาหกรรมให้กับนักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย เห็นสิ่งละอันพันละน้อยที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง เผื่อเข้าถึงหูของผู้บริหารประเทศ จะได้สังวรไว้บ้าง
ถ่ายภาพกับ "ลาวด๋อง" (ผู้ใช้แรงงาน) ชาวเวียดนามสักหน่อย
โรงงานที่ผมไปประเมินค่าตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชื่อ VSIP ซึ่งย่อมาจาก Vietnam Singapore Industrial Park และมีอยู่ด้วยกัน 3 แห่ง ผมได้พบกับผู้บริหารของนิคมฯ แห่งนี้ โดยได้รับการต้อนรับอย่างดี ภาพที่ผมถ่ายกับพวกเขามานั้นมีฉากหลังเป็นภาพของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศร่วมลงนามข้อตกลงกัน สิงคโปร์ถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของเวียดนาม รองจากไต้หวัน เกาหลีและญี่ปุ่น แปลกปนเศร้าที่ประเทศต่าง ๆ แห่แหนไปลงทุนในเวียดนามมากมาย
กับคณะผู้บริหาร VSIP เมืองบินห์เยือง
ผมไปประชุมคราวนี้ผมพักโรงแรม 3 ดาวของชาวเวียดนาม ไม่ได้พักโรงแรม 4-5 ดาว เช่น New World หรืออื่น ๆ ซึ่งผมจะไปพักก็ต่อเมื่อมีคนออกเงินให้! เช่น ถ้าผมไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทมหาชนในนครโฮจิมินห์ หรือกระทรวงการคลังของเวียดนาม เขาก็จะจัดโรงแรมดี ๆ คืนละ 150-250 เหรียญสหรัฐ (4,500 - 7,500 บาท) ให้ แต่ถ้าผมไปเอง ก็นอนแบบ "พอเพียง" ครับ คืนละ 60 เหรียญ (1,800 บาท)
ผมเชื่อว่าโรงแรมระดับสามดาวนี้ในเวียดนามถูกกว่าไทย ทั้งในด้านห้องหับและอาหารมื้อเช้า ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเพราะเวียดนามมีต้นทุนค่าก่อสร้างที่ต่ำกว่าไทย ไม่ใช่ต้นทุนต่อตารางเมตรซึ่งพอ ๆ กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม แต่หมายถึงต้นทุนรวม เพราะโรงแรมประเภทนี้ในเวียดนามไม่ต้องสร้างที่จอดรถมากมายเช่นในไทย ในความเป็นจริงอาคารใหญ่ๆ ในไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีที่จอดรถมากมาย หากมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีนั่นเอง แต่นี่ผู้กุมอำนาจในประเทศไทยอาจสมคบกับบริษัทรถญี่ปุ่น เน้นการสร้างถนนแทนรถไฟฟ้าก็ได้!?!
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ปลูกอยู่ริมทาง ใครต่อใครที่ไปเมืองต่าง ๆ ในเวียดนามจะพบเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่ปลูกอยู่สองข้างทางในใจกลางเมือง ซึ่งปลูกมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสแล้ว และโชคดีที่เวียดนามก็รักษาต้นไม้เหล่านั้นไว้ แต่ในกรุงเทพมหานคร เรามักเอาต้นไม้ที่ดูไร้ค่ามาปลูกส่งเดชไว้ บ้างก็เอาไม้ใบเล็ก ร่วงมากมากปลูก ว่าง ๆ ก็ต้องมาตัดโค่นทีเพราะไปพาดกับสายไฟที่เกะกะรุงรังบ้าง เป็นการปลูกต้นไม้ที่ไม่ยั่งยืน รก ใบก็มาก ผลก็ไม่มี ไม่ใช่ไม้เนื้อแข็ง ฯลฯ นั่นเอง
ภาพต้นไม้ใหญ่ในนครโฮจิมินห์ซิตี้ (ขวา) เทียบกับภาพต้นไม้ที่ปลูกส่งเดชในบ้านเรา (ซ้าย)
เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก็คืออนุสาวรีย์ลุงโฮจิมินห์ บิดาของประเทศเวียดนามที่ตั้งเด่นเป็นสง่าใจกลางนครโฮจิมินห์ซิตี้ที่ใครต่อใครต้องไปถ่ายภาพด้วยนั้น บัดนี้ปิดไปแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ผมยังพาคณะไปถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเป็นอย่างดี แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาเอาผ้าใบคลุมไว้เลย และบริเวณโดยรอบก็ที่เป็นถนนและสวนสาธารณะก็ถูกล้อมรั้วไว้
ขณะนี้ในใจกลางนครโฮจิมินห์กำลังสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกันอย่างขนานใหญ่ ที่ใจกลางเมืองนี้คือศูนย์กลางใหญ่แห่งหนึ่งของรถไฟฟ้า ซึ่งต่อไปจะนำความเจริญมาสู่ย่านนี้กันอีกเป็นจำนวนมาก เวียดนามจึงยินยอมที่จะ "กลืนเลือด" อดทนเพื่อความเจริญในวันข้างหน้า ซึ่งก็คงไม่นานเกินรอ ดังนั้นโรงแรมห้าดาว ศูนย์การค้าใหญ่ และร้านรวงใหญ่ ๆ ในย่านนั้นจึงถูกปิดหรืออย่างน้อยก็แทบไม่มีใครเดินเข้ามาใกล้ย่านก่อสร้างเป็นระยะเวลาชั่วคราว
ขณะนี้อนุสาวรีย์ลุงโฮ ปิดไปแล้ว เพราะกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่
แต่ของไทยเรากลับตรงกันข้าม ท่านคงเห็นสถานีรถไฟฟ้า MRT ที่อยู่ตรงโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งก่อสร้างอย่างน่าเกลียดมากอยู่บนถนนสีลมเลย รถจากพระรามสี่จะเลี้ยวเข้าสีลม ต้องอ้อมสถานีนี้ที่อยู่บนถนนก่อน แต่เดิมตอนก่อสร้าง ก็เป็นข่าวครึกโครมว่าทางโรงแรมดุสิตธานีไม่ยอมให้สร้างเข้าไปในที่จอดรถโรงแรม ซึ่งจริงๆ ควรสร้างเข้าไปในที่จอดรถดังกล่าว โดยโรงแรมอ้างว่าจะทำให้การประกอบกิจการโรงแรมเกิดมูลค่าด้อยลง คนมาใช้บริการไม่สะดวก กรณีนี้ควรชดเชยค่าเสียหายให้ตามสมควรก็ว่ากันไป แต่จะปล่อยให้ผลสุดท้ายออกมาเป็นการก่อสร้างบนถนนเช่นนี้ นับเป็นความน่าอดสูที่พึงประณามเป็นอย่างยิ่ง
อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งก็คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ชาวบ้านที่ถูกเวนคืนเรียกร้องจนสำเร็จ ให้สถานีย้ายจากโรงแรมอินทราประตูน้ำ ไปซอยรางน้ำ อันนี้ถือเป็นชัยชนะของประชาชน (กฎหมู่) ส่วนหนึ่ง แต่เป็นความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงของประเทศชาติ เพราะการย้ายไปอยู่อีกที่ ก็จะทำให้ชาวบ้านที่อีกเดือดร้อนจากการเวนคืนเช่นกัน เมืองต้องมีการพัฒนา จะปฏิเสธการเวนคืน คงไม่ได้ แต่เราจะจัดการเวนคืนให้เหมาะสมอย่างไรต่างหาก
ถ้ามีการเวนคืน ก็อาจจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ให้อยู่ใกล้เคียง สร้างเป็นอาคารชุดให้อยู่ ลูกหลานจะได้ไม่เดือดร้อนเรื่องการเรียน และต้องชดเชยให้สมน้ำสมเนื้อ รวมทั้งค่ารื้อถอน ค่าเสียโอกาสต่าง ๆ แต่จะปฏิเสธไม่ยอมไป คงไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ที่ตั้งสถานีเดิมสะดวกต่อการเดินทาง คนมาจับจ่ายที่ประตูน้ำ ราชดำริ เพชรบุรี วันละนับแสน ๆ คนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าได้ เดือนละหลายล้านคน ปีละหลายสิบล้านคน แต่การย้ายออกไปไกล ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น สร้างความลำบากให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ เพียงเพื่อเอาใจคนเพียงหยิบมือเดียว
อย่าลืมนะครับ ถ้าเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น สมัยอยุธยาที่มีการเกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปฟรี ๆ หรือถือเอาสมบัติของประขาชนไปเข้าคลังหลวง ไปสร้างวัง ไปรบทัพจับศึกกับเพื่อนบ้าน ก็ว่าไปอย่าง แต่สมัยนี้ การเอาสมบัติของชาวบ้านไป ต้องจ่ายค่าทดแทน ถ้าค่าทดแทนไม่เหมาะสม ก็ต้องต่อสู้ แต่ไม่ใช่ดื้อแพ่ง ขัดขวางความเจริญ และทำร้ายผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมโดยขาดหิริโอตตัปปะเยี่ยงนี้
ไทยต้องไม่ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย