ผมได้มีโอกาสไปดูที่เขายายเที่ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขาใหญ่ พบการบุกรุกที่ดินเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นเมืองเข้าไปแล้ว มีทั้งวัดและมัสยิดซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีชาวมุสลิมไปตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน การย่อหย่อนต่อกฎหมาย ทำให้เกิดอาการ "สิบเบี้ยใกล้มือ" หรือ "มือใครยาว สาวได้สาวเอา" แต่ถ้าทำการจริงจัง สร้างเขื่อนแม่วงก์ จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ลองมาดูกัน
ป้ายสถานตากอากาศมีอยู่มากมายบนเขายายเที่ยง
มัสยิดขนาดใหญ่บนเขายายเที่ยง
บนเขายายเที่ยง มีการก่อสร้างอาคารเป็นจำนวนมาก ทั้งสถานตากอากาศ (Resort) ให้เช่า โดยมีป้ายอยู่เป็นจำนวนมาก บ้านพักใหม่ๆ ของชาวบ้านเอง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่เพิ่งย้ายเข้าอยู่อาศัยจากการซื้อที่ดินในภายหลัง การบุกรุกที่ดินบนเขายายเที่ยงเกิดขึ้นมานานแล้ว จนภายหลังทางราชการจัดสรรที่ดินให้ผู้อยู่อาศัยได้อยู่กันอย่างเป็นระเบียบ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีการซื้อขายที่ดินในบริเวณจัดสรรที่อยู่อาศัย และมีการซื้อขายแบ่งแยกแปลงที่ดินบริเวณยอดเขาเพื่อสร้างสถานตากอากาศ รวมทั้งที่อยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก
ที่ดินในหมู่บ้านก็มีการเปลี่ยนมือ ภาพถ่ายนี้ถ่ายในปี พ.ศ.2550 ปัจจุบันมีบ้านจำนวนมากกว่านี้แล้ว
รีสอร์ทต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายบนเขายายเที่ยง รีสอร์ทของพี่น้องมุสลิมก็มี
ทุกวันนี้มีการประกาศ “ขายที่ดิน เขายายเที่ยง” เป็นจำนวนมาก ทั้งขายยกแปลงและแบ่งแยกจัดสรร ทั้งที่เป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ มีเพียงใบภาษีบำรุงท้องที่ หรือใบ ภบท.5 และให้ทางราชการโอนชื่อผู้ถือใบ ภบท.5 เช่น ประกาศต่อไปนี้:
การประกาศขายที่ดินที่หาพบได้ใน google.com
อย่างไรก็ตามที่ดิน ภบท.5 ไม่สามารถซื้อขายได้ตามกฎหมาย นายมีชัย ฤชุพันธ์ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “ภบท.๕ คือใบเสร็จรับเงิน ที่ทางราชการออกให้เมื่อมีคนเสียภาษีบำรุงท้องที่ เหมือนกับเวลามีคนเขาซื้อพัดลม แล้วทางร้านออกใบเสร็จรับเงินให้ หากคนนั้นเขาเอาใบเสร็จรับเงินมาขายให้คุณ คุณจะซื้อไหม ถ้าซื้อแล้วจะได้อะไร สิ่งที่ได้ก็คือใบเสร็จรับเงิน" “เมื่อคุณซื้อที่ดินอย่างนั้นแล้ว ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า (เมื่อรัฐมาเรียกที่ดินคืนหรือจับในฐานะบุกรุกที่ดินของรัฐ) ก็จะตกมาอยู่กับคุณ”
ในขณะเดียวกัน ในการขายที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ผู้ขายอาศัยจุดขายคือ “หลบภัย วิกฤติโลกร้อน หนีน้ำท่วม เตรียมตัวกันหรือยัง” และด้วยกระแสความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ข้างต้น จึงทำให้ชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูงในกรุงเทพมหานครพากันเข้ามาซื้อที่ดินอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วม
มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าบนเขายายเที่ยง มีระบบไฟฟ้าจากทางราชการอย่างทั่วถึง ตลอดจนถนนคอนกรีตและถนนลาดยาง ที่ส่วนมากอยู่ในสภาพดี นับเป็นการส่งเสริมโอกาสและอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ ดังนั้นทางราชการจึงไม่ควร "ปากว่า ตาขยิบ" ด้วยการจัดหาสาธารณูปโภคต่าง ๆ แก่ผู้อยู่อาศัยอย่างบุกรุกผิดกฎหมายอีกต่อไป
แม้บนเขายายเที่ยง จะถูกบุกรุกขยายอาณาเขตออกไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีเขตทหาร ซึ่งจากการสังเกตพบว่า ป่าไม้บริเวณเขตทหารยังอุดมสมบูรณ์ เพราะไม่ถูกบุกรุก แสดงให้เห็นว่า หากทางราชการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดการป่าไม้ ป่าก็จะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สำหรับลูกหลานไทยต่อไป โปรดดูภาพประกอบตามนี้
ป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์ในเขตทหารที่ประชาชนไม่คิดบุกรุก
สำหรับข้อเสนอแนะ ทางราชการควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่าการซื้อที่ดิน ภบท.5 นี้เป็นสิ่งที่ไม่มีการรับรองสิทธิตามกฎหมาย และขอความร่วมมือกับท้องถิ่น ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษี ตลอดจนไม่ควรให้ความหวังแก่ประชาชนว่าจะออกโฉนดให้ ทั้งที่เป็นที่ดินสาธารณะที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และนับเป็นความเสี่ยงในการครองครองที่ดินเปล่านี้
การมุ่งรักษาป่าการการนำไปใช้สอย จึงจะช่วยลดทอนการบุกรุกป่าเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหลายนั้นล้วนเป็นสมบัติของประเทศชาติ ของประชาชนทุกคนโดยรวม ไม่พึงที่บุคคลใดจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตนเองหรือชุมชมที่ได้ประโยชน์จากการอยู่ใกล้ทรัพยากรของชาติ
ขณะเดียวกันควรมีการปราบปรามกันอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการรื้อถอนอาคารที่บุกรุกในเขตป่า การซื้อขายที่ดินก็จะเงียบไปพักหนึ่ง และหลายท่านอาจไม่ทราบว่า ที่ดินที่เคยจัดแบ่งให้กับประชาชนเมื่อปี 2520 บนเขายายเที่ยงนั้น บัดนี้ได้เปลี่ยนมือไปแทบหมดแล้ว คนอยู่ปัจจุบันไม่ใช่เกษตรกรยากจนอีกต่อไป แต่เป็นบ้านพักผ่อนตากอากาศ ที่น่าสลดใจก็คือ ผมพบฝรั่งตาน้ำข้าว มีภริยาเป็นคนไทย ที่อพยพจากมีนบุรีไปอยู่บนเขายายเที่ยงด้วย
ดังนั้นในกรณีป่าเขาทั้งหลาย ทางราชการควรเอาจริงด้วยการให้ประชาชนเลิกตั้งถิ่นฐานบนนั้น และอพยพออกไป โดยเฉพาะผู้ที่มาซื้อต่อ ต้องยึดคืนสถานเดียว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกฎหมู่แต่อย่างใด
ท่านบุกรุกที่หลวงอยู่ฟรีมานาน ควรคืนสังคมได้แล้ว เห็นแก่ประเทศชาติกันเถอะครับ