ความสวยเป็นทรัพย์ ผู้หญิงมีรูปเป็นทรัพย์ (ผู้ชายหล่อๆ ก็มีรูปเป็นทรัพย์เช่นกัน) แล้วเราจะประเมินหรือตีค่าอย่างไร ความสวยนำไปสู่ความสำเร็จในวิชาชีพได้หรือไม่
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินมาเสนอแนวทางการประเมินค่าความสวย เพราะความสวยสามารถนำไปสร้างรายได้ เช่น ถ้าเทียบกับระหว่างเด็กสาวสองคนที่เพิ่งมาจากต่างจังหวัดมาทำงานในร้านอาหาร มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัน อัธยาศัยไมตรีก็คล้ายๆ กัน แต่คนหนึ่งสวยกว่าอีกคนหนึ่ง คนสวยกว่าก็อาจทำงานช่วยเสิร์ฟอาหาร ส่วนคนที่ไม่สวยก็อาจช่วยงานล้างจานไปก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป เป็นต้น
มาตรฐานความงาม
ความสวยนั้นมีมาตรฐานความสวย แม้ผิวสีจะแตกต่างกัน บางคนชอบคนผิวดำ บางคนชอบคนผิวเหลือง บางคนชอบคนผิวขาว แต่รสนิยมของคนอาจแตกต่างกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไป (หาไม่ก็คงมีแต่นางงามจักรวาลที่มีผิวสีขาว สีเหลืองหรือสีดำ สีใดสีหนึ่งเท่านั้น) มาตรฐานอันหนึ่งก็คือ “สัดส่วนทองคำ” (Golden Ratio) ซึ่งวัดจากความสมมาตร (Symmetry) โดยตั้งเส้นกึ่งกลางบนใบหน้าเป็นแกน เมื่อวัดระยะทุกของส่วนบนใบหน้า จะต้องมีขนาดของแต่ละส่วนจะต้องเท่ากัน ซึ่งได้แก่
1. ความกว้างของใบหน้าส่วนบน (Upper Face) เช็กจากความกว้างของหน้าผาก และระยะห่างระหว่างดวงตาของทั้งสองฝั่งของเส้นกึ่งกลาง
2. ความกว้างของโหนกแก้ม (Middle Face) เช็กจากความกว้างและความสูงของโหนกแก้ม ทั้งในขณะหน้านิ่งและขณะยิ้ม
3. ความกว้างของกรอบหน้า (Lower face) เช็กความกว้างของกรอบหน้า ขนาดกราม ทั้งในขณะหน้านิ่งและขณะยิ้ม (https://lnkd.in/gusSbY3g)
ยิ่งกว่านั้นคนจะสวยมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับ 5 เคล็ดลับการประเมินความงาม โดยดูจาก
1. เข้าใจคุณภาพของผิวหน้า (Quality Skin)
2. สังเกตรูปทรงของใบหน้า (Facial Shape)
3. การวิเคราะห์สัดส่วนและกรอบใบหน้า (Facial Proportion & Contour)
4. วิเคราะห์ความสมมาตรของใบหน้า (Facial Symmetry) และ
5. ประเมินการแสดงออกของสีหน้าและอารมณ์ (Facial Expression) (https://lnkd.in/gd3GJS4s)
ความเป็นได้ในการใช้ความงาม
เช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่นใด ความสวยหรือความหล่อของคน จะมีค่าได้นั้น ต้องดูจากความเป็นไปได้ 4 ทางคือ
1. ความเป็นไปได้ทางกายภาพ ซึ่งระบุไว้ข้างต้นตามมาตรฐานความสวย
2. ความเป็นไปได้ทางการตลาด เช่น มีความต้องการของตลาดหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ามี หาไม่ก็คงไม่มีคลีนิคเสริมความงามที่มีอยู่เกลื่อนเมือง (แต่ถ้าเป็นการสงฆ์ หรือแม่ชี ความสวยคงไม่มีความหมาย)
3. ความเป็นไปได้ทางการเงิน ซึ่งก็คือสามารถนำไปสร้างรายได้ได้หรือไม่ ถ้าไม่อาจสร้างรายได้ได้ ก็ไม่มีมูลค่านั่นเอง และ
4. ความเป็นไปได้ทางข้อกฎหมาย เช่น ถ้าเรานำความสวยไปแลกเป็นเงินในกรณีการให้บริการทางเพศนั้น เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่อาจทำได้ แม้จะสร้างรายได้ แต่ก็ไม่สมควรทำเพราะในประเทศไทย การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมายนั่นเอง
วิธีต้นทุน
ความสวยของคนเราอาจประเมินได้จากการสร้างขึ้นมา เช่น
1. ถ้าคางไม่สวย ก็อาจต้องเหลาคาง เป็นเงิน 200,000 บาท
2. ถ้าจมูกไม่โด่ง ก็อาจต้องใช้เงินประมาณ 80,000 บาท
3. ถ้าต้องการทำตาสองชั้น ต้องใช้เงิน 50,000 บาท
4. ถ้าผิวไม่สวย ก็อาจต้องไปฉีดโบทอกครั้งละ 20,000 บาท
5. ถ้าปรับปรุงหน้าอก ก็อาจต้องใช้เงิน 200,000 บาท
6. การทำแขนขาให้เรียวลง ก็อาจต้องใช้เงิน 50,000 บาท
7. อาจต้องลดความอ้วน อาจต้องใช้เงิน 200,000 บาท เป็นต้น
หากคิดจากวิธีนี้ ก็ต้องใช้เงินประมาณ 800,000 บาท หรืออาจมากน้อยกว่านี้ เพื่อให้เกิดความสวยขึ้น มูลค่าความสวยจึงอยู่ที่ 800,000 บาท แต่ถ้าทำแล้ว ไม่สามารถนำไปหารายได้ ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ก็คงไม่มีมูลค่า มีแต่ต้นทุนเท่านั้น
วิธีการเปรียบเทียบตลาด
กรณีการเปรียบเทียบตลาดที่ชัดเจน ก็อาจดูจากการประกวดนางงามต่างๆ เช่น
1. นางนพมาศตามงานต่างๆ ก็อาจได้เงิน 100,000 บาท
2. นางงามประจำจังหวัดก็อาจได้รางวัล เงินรางวัล 400,000 บาท มงกุฏเกียรติยศ มูลค่า 200,000 บาท ศัลยกรรมจาก S45 มูลค่า 500,000 บาท และอื่นๆ มูลค่ารวม 2,310,000 บาท (https://lnkd.in/gEEQaVcW)
3. นางงามระดับประเทศ เช่น Miss Grand ได้รางวัลเงินสด 1,200,000 บาท มงกุฎเพชรแท้เกียรติยศ 2,000,000 บาท และห้องชุดพักอาศัยมูลค่า 1,800,000 บาท รวมเบื้องต้น 5,000,000 บาท และยังอาจมีสิทธิพิเศษอื่นๆ อีก (https://lnkd.in/gyQgjQHa)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความงามในระดับต่างๆ ก็มีมูลค่าเป็นตัวเงินที่แตกต่างไป
วิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า
ในกรณีความงามทั่วไป ก็อาจวัดค่าได้โดยวิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า เช่น การเป็น Pretty อย่างในกรณีงานมอเตอร์โชว์ (ไม่รวม Pretty สีเทาที่ถือว่าหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย) โดยคิดดังนี้
1. ค่าตัวเป็น Pretty วันหนึ่งอาจเป็นเงิน 5,000 บาท
2. ปีหนึ่งอาจเป็น Pretty ได้ 120 วันจาก 365 วัน
3. รวมรายได้ทั้งปีเป็นเงิน 750,000 บาท
4. มีค่าใช้จ่าย เช่น ปัจจัยสี่และอื่นๆ สมมติเป็นเงิน 350,000 บาท
5. ดังนั้นรายได้สุทธิก็เป็นเงิน 300,000 บาทต่อปี
6. ในวงการ Pretty อาจกล่าวได้ว่ามีอายุการทำงาน 12 ปีโดยประมาณ
7. สมมติให้รายได้เพิ่มขึ้นปีละ 3% เพราะมีความสามารถมากขึ้น ก่อนที่จะไปถึงค่าเสื่อมหลังปีที่ 12
8. สมมติว่าอัตราผลตอบแทนในการเป็น Pretty มีประมาณ 12% เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ได้มั่นคงอะไรนัก และอาจมีความผันแปรบ้าง
9. ดังนั้นอัตราผลตอบแทนสุทธิจึงเป็นประมาณ 9% (12% - 3%)
10. ดังนั้นมูลค่าความสวยจึงอยู่ที่
= [1-{1/((1+9%)^12ปี)}] / 9% * 300,000
= 2,148,218 บาท
ความสวยอย่างเดียวไม่พอ
ในการประกอบธุรกิจความสวยอย่างเดียวคงไม่พอ เช่น ความสวยน่าจะมีส่วนต่อความสำเร็จของวิชาชีพนายหน้าบ้างหรือไม่ ประเด็นนี้น่าสนใจไม่น้อย ในปี 2561 ดร.โสภณได้ไปร่วมประชุม Pacific Rim Real Estate Society ณ นครโอ้คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้นำเสนอบทความทางวิชาการที่น่าสนใจเรื่องความสวยกับความสำเร็จในวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ (https://lnkd.in/gPY_2rEx)
ผลการศึกษาพบว่าความสวยไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญต่อความสำเร็จในวิชาชีพนายหน้าเลย ทั้งนี้เป็นผลจากการศึกษานายหน้านับพันๆ คนในประเทศสิงคโปร์ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่แท้ ได้แก่
1. การมีการศึกษาที่สูงกว่านายหน้าอื่น
2. การมีระเบียบวินัยที่ดี
3. การมีประสบการณ์ที่มากกว่านายหน้าอื่น
4. ความโดดเด่น/เป็นผู้นำ (Dominance)
5. การเป็นคนขี้อายเล็กน้อยเพราะทำให้ผู้ใช้บริการไม่รู้สึกว่า “พูดมาก” / “จ้องเอาเปรียบ” ลูกค้า เป็นต้น
ปัจจัยข้างต้นทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นต่อตัวนายหน้ามากกว่าเรื่องหน้าตา แต่แน่นอนว่าคนสวยมากๆ มาเริ่มทำงานนายหน้าสักพักก็อาจเปลี่ยนไปทำงานที่เหมาะสมกว่า เช่น แอร์โฮสเตท พริตตี้ หรืออื่นๆ เพราะความสวยเป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง จะสังเกตได้ว่านายหน้าที่ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ของสิงคโปร์เป็นคนมีหน้าตาธรรมดา ยิ่งกว่านั้นนายหน้าที่ดูขี้อาย พูดน้อย ก็อาจประสบความสำเร็จมากกว่านายหน้าที่พูดมาก ดูคล่องไปหมด เพราะลูกค้าอาจกลัวว่าจะมาหลอกลวง เป็นต้น
ดังนั้นความสำเร็จของอาชีพ ก็คือ ความเป็นมืออาชีพ น่าเชื่อถือ จึงสำคัญกว่าความสวยในการทำวิชาชีพใดๆ ก็ตาม