ผมขออนุญาตนำเสนอถึงอนาคตของประเทศไทยในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน และประเทศมหาอำนาจของโลก อันได้แก่ จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แถมด้วยอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรอันดับที่สองของโลก และประเทศเหล่านี้ต่างมีความสำคัญกับประเทศไทยของเราไม่น้อย จึงขออนุญาตนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็น ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดมาจากเว็บไซต์ของซีไอเอ หรือหน่วยข่าวกรองชื่อดังของสหรัฐอเมริกานั่นเอง
ประเทศไทยของเรามีขนาดประเทศ 513,120 ตารางกิโลเมตร หากเทียบกับประเทศในอาเซียนก็เล็กกว่าเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งใหญ่กว่าไทยถึง 3.53 เท่า และประเทศเมียนมาร์ ซึ่งใหญ่กว่าไทย 27% แสดงว่าบรรพบุรุษของเขารบเก่ง เก็บที่ไว้ให้ลูกหลานมากมาย แม้จะเคยกลายเป็นเมืองขึ้นอังกฤษถึงเกือบร้อยปี เพราะพระราชาของเขาไม่ยอมศิโรราบต่ออังกฤษ แถมเมื่อแพ้สงครามยังถูกจับไปเป็นเชลยอยู่อินเดียเสียอีก
อย่างกัมพูชามีขนาดประเทศเพียง 1/3 ของไทย ฟิลิปปินส์และลาวก็มีขนาดราวครึ่งหนึ่งของไทย เวียดนามและมาเลเซียก็ราว 2/3 ของไทย ส่วนบรูไนและสิงคโปร์ก็เป็นมีขนาดไม่ถึง 1% ของไทยด้วยซ้ำไป ยิ่งหากดูญี่ปุ่น ก็มีขนาดเพียง 3/4 ของไทย ส่วนอินเดียมีขนาดประมาณ 6 เท่าของไทย ส่วนสหรัฐอเมริกาและจีนมีขนาด 18 และ 19 เท่าของไทย ซึ่งนับว่าใหญ่มาก
ในแง่ประชากร ไทยเรามีเกือบ 68 ล้านคนแล้ว อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดถึง 253 ล้านหรือเกือบ 4 เท่าของไทย ฟิลิปปินส์มีประชากรมากกว่าไทย 59% เวียดนามมีมากกว่าไทย 38% ส่วนเมียนมาร์ที่มีขนาดประเทศใหญ่กว่าแต่มีประชากรเพียง 82% ของไทย มาเลเซียก็ราว 44% ของไทย กัมพูชามีเพียง 1/4 ของไทย ส่วนประชากรลาวมีเพียง 1/10 ของไทยเท่านั้น
เมื่อพิจารณาถึงความหนาแน่นของประชากร ไทยมีประชากรราว 132 คนต่อตารางกิโลเมตร ลาวมีเพียง 29 คนต่อตารางกิโลเมตร จึงทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและน้ำได้เพียงพอและสามารถส่งออกได้ น่าสังเกตว่าประชากรของสิงคโปร์อยู่กันถึง 8,104 คนต่อตารางกิโลเมตร หนาแน่นกว่ากรุงเทพมหานครที่มีความหนาแน่นเพียง 3,500 คนต่อตารางกิโลเมตร แต่ปรากฏว่าสิงคโปร์กลับไม่มีสภาพแออัด เพราะเขาอยู่กันอย่างหนาแน่นในแนวสูง ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ไทยพึงศึกษาเป็นเยี่ยงอย่าง จะได้ไม่ทำลายพื้นที่ชนบทโดยรอบไปหมด
นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของไทยที่อัตราการเพิ่มของประชากรเพียง 0.4% ต่อปี จึงไม่มีจำนวนประชากรมากจนเกินไป ซึ่งก็พอ ๆ กับจีน ส่วนญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่จำนวนประชากรติดลบหรือลดลงปีละ 0.1% ขณะนี้จีนมีประชากรมากที่สุดถึง 1,356 ล้านคน ตามมาด้วยอินเดีย 1,236 ล้านคน และมีโอกาสเป็นไปได้ที่อินเดียจะมีประชากรมากกว่าจีนในเวลาอีกไม่เกิน 12 ปี
สัดส่วนประชากรเมืองเป็นประเด็นที่พึงพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง น่าแปลกที่ไทยมีประชากรเมืองเพียง 34% ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กลับมีสัดส่วนประชากรเมืองสูงกว่าไทยมาก ทั้งนี้ก็เป็นเพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเกาะ จึงมีประชากรอยู่ตามเมืองท่ามากกว่า ส่วนไทยมีชนบทอันไพศาล ที่ขยายตัวจากการบุกรุกป่ามาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีที่ผ่านมา จึงมีประชากรเมืองน้อยกว่า
ยิ่งกว่านั้น ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว ญี่ปุ่นต่างมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง ประชาชนไปอยู่ไม่ค่อยได้ จึงทำให้อยู่กันตามเมืองท่า ตามที่ราบชายทะเลเป็นหลัก จึงรักษาป่าไม้ไว้ได้มากกว่าไทย ส่วนไทยนั้นมีพื้นราบมากกว่า เช่นเดียวกับเกาะชวาของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่ราบมาก จึงทำให้แทบทั้งเกาะกลายสภาพเป็นพื้นที่เมือง ส่วนเกาะอื่น ๆ มีประชากรน้อยกว่ามาก เกาะชวาที่มีขนาดเพียง 27% ของประเทศไทย มีประชากรอยู่ถึง 143 ล้านหรือ 56% ของประชากรอินโดนีเซียทั้งหมด มีความหนาแน่นถึง 1,030 คนต่อตารางกิโลเมตร
ในแง่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติพบว่า ขนาดเศรษฐกิจอินโดนีเซียใหญ่สุดคือเท่ากับ 2 เท่าของไทย จึงถือว่าประเทศนี้เป็นยักษ์ใหญ่ที่เพิ่งตื่นจากหลับ สิงคโปร์มีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 50% ของไทย ซึ่งถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพียงเล็กน้อย อาจกล่าวได้ว่ามาเลเซียมีขนาดเศรษฐกิจราว 3/4 ของไทย ส่วนฟิลิปปินส์มีขนาด 2/3 และเวียดนามกับสิงคโปร์มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับครึ่งหนึ่งของไทย
แต่เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติต่อหัว จะพบว่าคนสิงคโปร์รวยกว่าคนไทยถึง 6 เท่า ทั้งที่เมื่อสิบปีก่อนรวยกว่าเพียง 5 เท่า แสดงว่าสิงคโปร์เจริญเร็วกว่าไทยมาก ชาวบรูไนก็รวยกว่าคนไทย 5 เท่า พอ ๆ กับชาวสหรัฐอเมริกา ส่วนคนญี่ปุ่นรวยกว่าไทย 4 เท่า ที่น่าสังเกตก็คือจีนมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเท่าไทยแล้ว ทั้งที่เมื่อ 30 ปีก่อนหากกันมาก ผมจำได้ว่าตอนไปเรียนเบลเยียมเมื่อปี 2529 สถาปนิกจีนมีรายได้เป็นเงินไทยเพียง 400 บาท ขณะที่สถาปนิกไทยในขณะนี้คงมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท
ทุกประเทศที่นำมาเปรียบเทียบมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่าไทยแทบทั้งสิ้น ยกเว้นญี่ปุ่นประเทศเดียว จากข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า ในปี 2558-2559 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเซียตะวันออกจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 7% โดยเฉลี่ย แต่ของไทยคงเฉลี่ยเพียง 4-4.5% เท่านั้น ข้อนี้เป็นข้อน่ากังวลว่าในไม่ช้าประเทศที่ด้อยกว่าไทยจะกระโดดขึ้นมาหายใจรดต้นคอไทยแล้ว
สำหรับสัดส่วนประชากรยากจน พบว่าคนไทย 13.2% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แน่นอนว่าประเทศที่ยากจนกว่าไทยส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนประชากรยากจนสูงกว่าไทย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่แตกต่างกัน การเป็นคนจนในประเทศไทยยังดีที่เรายังมีชนบทอันไพศาล มีเศรษฐกิจการยังชีพที่ไม่ใช้เงิน (Subsistence Economy) เช่นปลูกข้าว ผัก จับกบเขียดหากินได้พอสมควร แต่ถ้าเป็นคนจน คนไร้บ้านในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ชีวิตคงแร้นแค้น ฟื้นคืนได้ยากกว่า
ว่าที่จริงแล้วประเทศเช่นกัมพูชา ลาว เป็นประเทศที่มีลักษณะพึ่งพิงประเทศไทยเป็นอย่างมาก หากเราสามารถรักษาไว้เป็นพวก คงจะดีไม่น้อย และเป็นโอกาสในการลงทุนของคนไทยได้อีกด้วย นอกจากนี้เมียนมาร์และเวียดนาม ก็เป็นแหล่งการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาดของไทย แต่ในขณะนี้ไทยยังไม่เป็นประเทศประชาธิปไตย ยังไม่อาจเป็นผู้นำในอาเซียนได้ดังเก่า ซึ่งคงต้องพยายามต่อไป
จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ประเทศที่ควรลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มากที่สุดก็คืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อกฎหมายที่คล้ายคลึงกับไทย ส่วนประเทศอินโดจีนยังเป็นลักษณะประเทศสังคมนิยมที่มีข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ส่วนหากจะลงทุนซื้อทรัพย์สิน ก็ควรพิจารณาสิงคโปร์ ซึ่งนักลงทุนมาเลเซีย และอินโดนีเซียให้ความสนใจไปลงทุนมากเป็นพิเศษ
สำหรับประเทศพี่ใหญ่ของไทยคือจีนและอินเดียนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในแง่ประชากร หากนับจำนวนประชากรที่มีรายได้ระดับสูง 10% แรกก็มีจำนวน 124-136 ล้านคนเข้าไปแล้ว หากสามารถนำมาท่องเที่ยวและลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ก็คงทำให้ไทยเจริญขึ้นอีกมาก แต่ขณะนี้ไทยยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ คงเป็นที่หนักใจในการลงทุน และเสียโอกาสไปเป็นอย่างมาก
และอีกอย่างหากจะให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ก็พึงมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และอาจรวมภาษีมรดก เพื่อเก็บภาษีจากนักลงทุนต่างชาติได้ด้วย ในอาเซียนมีเพียงบรูไนที่รวยกว่าไทย และเมียนมาร์ที่จนกว่าไทยมาก รวมทั้งประเทศไทยที่ยังไม่มีภาษีนี้ ดังนั้นหากเปิดให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยโดยไม่มีกฎหมายนี้ (เพราะผู้ยิ่งใหญ่ในไทยไม่ยอมเสียภาษี) ก็เท่ากับเราให้ต่างชาติยกแผ่นดินให้ต่างชาติฟรี ๆ ไป
โดยสรุปแล้วหนทางข้างหน้าของไทย ยังขรุขระ เราต้องร่วมกันพัฒนาประเทศ พัฒนาประชาธิปไตยเพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี และโอกาสความเจริญของชาติไทยเรา