เปิดความลับช็อกโลก: ซาโตชิแอบขุดบิทคอยน์ โดยต้นทุนในการขุดไม่ถึง 1 สตางค์ต่อเหรียญ กำไรเกือบ 3.6 ล้านล้านบาท รวยติดอันดับโลก
หลายคนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดคริปโตในปัจจุบันอาจไม่รู้ว่า ในช่วงต้นปี 2009 เมื่อ Bitcoin เพิ่งถือกำเนิดขึ้น บิทคอยน์ส่วนใหญ่นั้นแทบไม่ต้องมีต้นทุนในการขุดเลย ไม่ต่างจากการเสกเงินออกมาจากอากาศ การขุด Bitcoin ในยุคแรกนั้นง่ายมาก ใช้เพียงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลธรรมดาก็สามารถขุดได้แล้ว ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปัจจุบันที่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง (Application-Specific Integrated Circuit (ASIC) Miner) และพลังงานมหาศาล
ความไม่เท่าเทียมนี้เห็นได้ชัดที่สุดในกรณีของซาโตชิ นากาโมโต้ ผู้สร้าง Bitcoin จากงานวิจัยของ Sergio Lerner ที่ได้ค้นพบความจริงในปี 2013 ว่าซาโตชิใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนในการขุด Bitcoin ได้ถึง 1.1 ล้านเหรียญ ด้วยต้นทุนค่าไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยจากการเปิดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพียงเครื่องเดียวทิ้งไว้ ในขณะที่ปัจจุบัน การจะได้มาซึ่ง Bitcoin จำนวนเท่ากันนี้ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในระดับที่แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ยังต้องควักเงินเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านล้านบาทจึงจะได้ครอบครองอุปทานเท่าซาโตชิ เรามาดูกันว่าความเหลื่อมล้ำในเรื่องต้นทุนระหว่างยุคแรกกับปัจจุบันนั้นห่างกันขนาดไหน
การคำนวณต้นทุนการขุด Bitcoin ในปี 2009 สามารถทำได้โดยใช้สูตร:
เวลาเฉลี่ยในการขุด 1 บล็อก = (ความยาก × 2³²) / อัตราการแฮช
โดยในปี 2009:
- ความยาก (Difficulty) = 1
- อัตราการแฮช (Hash Rate) = 3 MH/s หรือ 3,000,000 แฮชต่อวินาที
- เวลาที่ใช้ = (1 × 2³²) / 3,000,000 = 1,430 วินาที หรือประมาณ 23.83 นาทีต่อบล็อก
- แต่ละบล็อกได้รับรางวัล 50 BTC
- ดังนั้น เวลาต่อการขุด 1 BTC = 1,430 วินาที ÷ 60 ÷ 60 ÷ 50 = 0.008 ชั่วโมง
คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า:
- คอมพิวเตอร์ใช้ไฟ 300 วัตต์ หรือ 0.3 กิโลวัตต์
- ค่าไฟฟ้า $0.10 ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
- ต้นทุนต่อชั่วโมง = 0.3 kW × $0.10/kWh = $0.03
- ต้นทุนต่อ 1 BTC = 0.008 ชั่วโมง × $0.03 = $0.00024
ความยากในการขุด Bitcoin (Mining Difficulty): ความยากในการขุด Bitcoin เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจาก 1 ในปี 2009 มาเป็น 101,646,843,652,784 ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ปี 2024 จากเว็บไซท์ https://www.blockchain.com/explorer/charts/difficulty ) หรือเพิ่มขึ้นกว่า 101.6 ล้านล้านเท่า นี่หมายความว่า การขุด 1 บล็อกในปัจจุบันยากกว่าสมัยที่ซาโตชิขุดถึง 101.6 ล้านล้านเท่า แม้ปัจจุบันประสิทธิภาพเครื่องขุดจะมีมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถลดทอนความเหลื่อมล้ำนับล้านเท่านี้ได้ นี่สะท้อนให้เห็นว่าซาโตชิและนักขุดยุคแรกได้เปรียบอย่างมหาศาล
ประวัติศาสตร์การซื้อขาย Bitcoin ครั้งแรก: ในช่วงปลายปี 2009 เว็บไซต์ BitcoinTalk ได้เปิดตัว และสมาชิกชื่อ NewLibertyStandard ได้เปิดตลาดแลกเปลี่ยน Bitcoin แห่งแรก โดยมีการซื้อขายครั้งประวัติศาสตร์เมื่อผู้ใช้ชื่อ Sirius ส่ง Bitcoin จำนวน 5,050 BTC ให้แลกกับเงิน $5.02 ผ่าน PayPal ทำให้ราคา Bitcoin ครั้งแรกในประวัติศาสตร์อยู่ที่ $0.00099 ต่อ BTC
หากคำนวณมูลค่า ณ ราคาสูงสุด ($93,233.30):
- Bitcoin 5,050 BTC × $93,233.30 = $470,828,165
- เทียบกับเงินลงทุน $5.02
- คิดเป็นกำไร 93,790,471 เท่า หรือประมาณ 93.8 ล้านเท่า
- หากคิดเป็นเงินบาท จากเงินลงทุนเพียง 175.70 บาท (คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์ในปี 2009) จะกลายเป็น 16,478,985,775 บาท หรือประมาณ 16,479 ล้านบาท
นี่ถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินของมนุษยชาติ จากเงินลงทุนเพียงไม่กี่ดอลลาร์ กลายเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือ ก่อนการ halving ครั้งแรกในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2012 มี Bitcoin ถูกขุดออกมาแล้วประมาณ 10.5 ล้าน BTC หรือครึ่งหนึ่งของ Bitcoin ทั้งหมดที่จะมีได้ในระบบ แม้ว่าในช่วงปี 2010-2012 ความยากในการขุดจะเพิ่มขึ้นจากปี 2009 และมีการเปลี่ยนจาก CPU เป็น GPU แต่ต้นทุนการขุดก็ยังต่ำมาก โดยในปี 2009 มีต้นทุนเพียง $0.00024 ต่อ BTC และในปี 2010 มีต้นทุนเพียง $0.000625 ต่อ BTC เท่านั้น
เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ต้นทุนพุ่งสูงถึง $82,428 ต่อ BTC นั่นหมายความว่า Bitcoin ที่ซื้อขายกันในตลาดนั้นมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ระหว่างเหรียญที่ถูกขุดด้วยต้นทุนแทบจะเป็นศูนย์ในยุคแรก กับเหรียญที่ต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในการขุดยุคปัจจุบัน จากข้อมูลต้นทุนการขุดใน https://en.macromicro.me/charts/29435/bitcoin-production-total-cost แสดงให้เห็นว่าในประวัติศาสตร์ของ Bitcoin นั้น เหรียญส่วนใหญ่ถูกขุดไปแล้วตั้งแต่ยุคต้นๆ โดยคนเพียงไม่กี่คนที่เข้าถึงการขุดได้ด้วยต้นทุนต่ำ ก่อนที่ halving ครั้งแรกจะเข้ามาเป็นกลไกที่ทำให้การขุดยากขึ้นและมีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมหาศาลในปัจจุบัน
ความเหลื่อมล้ำนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อพิจารณาว่า ซาโตชิสามารถขุด Bitcoin ได้ 1.1 ล้าน BTC ในเวลาเพียง 6 เดือนของปี 2009 ด้วยคอมพิวเตอร์ธรรมดาเพียงเครื่องเดียวและต้นทุนค่าไฟเพียง 9,240 บาท แต่หากจะขุด Bitcoin ที่เหลืออยู่ในระบบอีก 1.22 ล้าน BTC ให้ได้จำนวนใกล้เคียงกัน จะต้องใช้เวลาถึง 116 ปี (จนถึงปี 2140) และต้องใช้พลังงานมหาศาลเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าของทั้งโลก
จากตารางการ halving ข้างต้น จะเห็นว่าทุกๆ 4 ปี รางวัลจากการขุดจะลดลงครึ่งหนึ่ง จาก 50 BTC ในปี 2009 เหลือเพียง 3.125 BTC ในปัจจุบัน และจะลดลงเรื่อยๆ จนเป็นศูนย์ในปี 2140 นี่หมายความว่าในขณะที่ต้นทุนการขุดเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจาก $0.00024 เป็น $82,428 ต่อ BTC ในเวลาเพียง 15 ปี แนวโน้มต้นทุนในอีก 116 ปีข้างหน้าจะต้องสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัวเพื่อแย่งชิงรางวัลที่น้อยลงเรื่อยๆ สิ่งที่ซาโตชิทำได้ด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวและเงินหลักพันบาท กลายเป็นความพยายามอันสิ้นหวังที่ต้องใช้ทรัพยากรของทั้งโลกและเวลาอีกกว่าร้อยปี แต่ก็ไม่มีทางทำได้เทียบเท่า นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ถูกออกแบบไว้ในระบบตั้งแต่แรก โดยให้ผลประโยชน์มหาศาลกับคนกลุ่มแรกที่เข้าถึงการขุด Bitcoin ได้
ลองจินตนาการถึงเด็กที่เกิดในอีก 100 ปีข้างหน้า ในโลกที่ Bitcoin กลายเป็นสกุลเงินหลักไปแล้ว การกระจายตัวของความมั่งคั่งจะเหลื่อมล้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ พวกเขาจะต้องทำงานทั้งเดือนเพื่อให้ได้เงินเดือนเพียง 100 satoshi ในขณะที่คนยุคแรกๆ สามารถขุด Bitcoin ได้ถึง 720,000,000,000 satoshi ต่อวันด้วยต้นทุนเพียงค่าไฟจากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
ตัวอย่างเช่น ถ้าเงินเดือนในอนาคตอยู่ที่ 100 satoshi ต่อเดือน คนทำงานจะต้องใช้เวลาทำงานถึง 83,333 ปี หรือประมาณ 2,083 ชั่วอายุคนเพื่อให้ได้ 1 BTC ในขณะที่นักขุดในปี 2009 สามารถขุดได้ 5,000,000,000 satoshi (50 BTC) ทุกๆ 10 นาที ด้วยต้นทุนเพียง $0.00024 ต่อ BTC หรือพูดง่ายๆ คือ สิ่งที่คนในอนาคตต้องทำงานยาวนานกว่า 2,000 ชั่วอายุคนเพื่อให้ได้มา กลับเป็นสิ่งที่คนยุคแรกได้มาในเวลาเพียง 10 นาทีด้วยต้นทุนที่แทบจะเป็นศูนย์ นี่ยังไม่นับรวมถึงการที่ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งจะยิ่งทำให้การกระจายตัวของ Bitcoin ต่อหัวน้อยลงไปอีก
ในขณะที่คนรุ่นแรกๆ ได้ครอบครอง Bitcoin ไปด้วยต้นทุนที่แทบจะเป็นศูนย์ ราวกับการเสกเงินออกมาจากอากาศ คนรุ่นหลังในอีก 100 ปีข้างหน้าจะต้องทำงานหนักยาวนานกว่า 2,000 รุ่นเพื่อให้ได้มาเพียง 1 BTC หากนี่คือระบบการเงินในอนาคต มันจะสร้างสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่คนรุ่นหลังแทบไม่มีโอกาสไล่ตามความมั่งคั่งของคนรุ่นก่อนได้เลย เพราะทรัพยากรส่วนใหญ่ถูกจับจองไปแล้วตั้งแต่ต้นด้วยต้นทุนที่ต่างกันหลายล้านเท่า
วิวัฒนาการของอุปกรณ์ขุด Bitcoin ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามกาลเวลา:
2. ยุค GPU Mining (2010-2013):
3. ยุค ASIC Mining (2013-ปัจจุบัน):
เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงวงการขุด Bitcoin:
การเข้ามาของ ASIC miner หลัง halving ครั้งแรกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 อย่างพร้อมกัน:
การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นักขุดที่ใช้ GPU ต้องเลือกระหว่างการลงทุนซื้อ ASIC หรือเลิกขุดไป เพราะไม่คุ้มกับค่าไฟและต้นทุน นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การขุด Bitcoin กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้รายย่อยที่ไม่มีเงินลงทุนค่อยๆหายไปตั้งแต่หลังปี 2013
ในช่วงปี 2009 ซาโตชิสามารถขุดได้ถึง 1.1 ล้าน BTC ด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพียงเครื่องเดียว ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลบนบล็อกเชน พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2009 มีนักขุดเพียงไม่กี่คนเท่านั้น สามารถดูได้จาก งานวิจัยของ Sergio Lerner ที่แสดงลำดับของนักขุดในระบบ
จากการวิเคราะห์ของ Sergio Lerner พบบล็อกที่มีลักษณะพิเศษประมาณ 22,000 บล็อก ใน 500,000 บล็อกแรก ซึ่งสร้าง Bitcoin รวมกันประมาณ 1.1 ล้าน BTC โดยที่มากกว่า 90% ถูกขุดก่อนบล็อกที่ 40,000 หรือก่อนเดือนกรกฎาคม 2010 ที่น่าสนใจคือซาโตชิได้กระจาย Bitcoin เหล่านี้ไปยังกว่า 22,000 addresses แทนที่จะรวมไว้ที่ address เดียวตามพฤติกรรมการขุดทั่วไป การกระจายในลักษณะนี้ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและมีความซับซ้อนเกินความจำเป็น ทำให้ยากต่อการระบุจำนวน Bitcoin ที่แท้จริงที่ถือครอง และอาจเป็นความพยายามในการปกปิดขนาดของการถือครอง
ที่น่าสนใจคือ ในบล็อกแรก (Genesis Block) ซาโตชิได้ใส่ข้อความ 'The Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks' ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Times เกี่ยวกับการที่รัฐบาลอังกฤษกำลังจะอัดฉีดเงินช่วยเหลือธนาคารเป็นรอบที่สอง ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 พร้อมกับเขียนโค้ดพิเศษเพื่อทำให้ Bitcoin จำนวน 50 BTC ในบล็อกนี้ไม่สามารถใช้จ่ายได้
การกระทำนี้ดูเหมือนเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่แยบยล โดยการใส่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเงินแบบรวมศูนย์ในบล็อกแรกที่ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นผู้สร้าง โดยการแสดงการเสียสละด้วยการล็อกเหรียญไว้เพื่อให้ใช้งานไม่ได้ แต่เมื่อ Sergio Lerner ค้นพบในปี 2013 ว่าซาโตชิได้แอบขุดและสะสม Bitcoin ไว้ถึง 1.1 ล้านเหรียญ โดยไม่ได้ล็อกหรือเผาเหรียญเหล่านี้เลย กลับพยายามปกปิดการถือครองด้วยการกระจายไปกว่า 22,000 addresses ทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์ผู้สร้าง Bitcoin เพื่อต่อต้านระบบการเงินแบบรวมศูนย์ กับการกระทำที่แท้จริงที่แอบสะสมความมั่งคั่งไว้อย่างมหาศาลโดยไม่เปิดเผย
นี่อาจเป็นการวางแผนอย่างแยบยลในการสร้างความน่าเชื่อถือในระยะแรกด้วยการล็อกเหรียญในบล็อกแรกที่ทุกคนรู้ว่าเป็นของเขา ในขณะที่แอบขุดและสะสม Bitcoin อีกกว่า 1.1 ล้านเหรียญไว้ในสถานะที่ใช้จ่ายได้ ซึ่งมีมูลค่า ณ ปัจจุบันสูงถึง 3.59 ล้านล้านบาท โดยใช้ต้นทุนเพียงแค่ 9,240 บาท
มาคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของซาโตชิ:
ปัจจุบัน Bitcoin ทำราคาสูงสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษจิกายน 2024 ที่ $93,233.30: (อ้างอิง https://coinmarketcap.com/currencies/bitcoin/ )
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้ใช้ชื่อ theymos ซึ่งเป็นแอดมินของฟอรั่ม BitcoinTalk ได้เคยเปิดเผยว่า ในช่วงปี 2010 เขาใช้เครื่องวัดพลังงาน Kill-A-Watt พบว่าการใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถขุด Bitcoin ได้ถึง 160 BTC และด้วยความที่คิดว่า Bitcoin มีราคาแพงเกินไปที่ 5 เซ็นต์ต่อเหรียญ เขาจึงขาย Bitcoin ในราคาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ $0.003 ต่อ BTC
สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในวงการ Bitcoin อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนักลงทุนยุคแรกกับปัจจุบัน ในปี 2009 การลงทุนเพียง 1 บาทในการขุด Bitcoin (ซึ่งสามารถขุดได้ประมาณ 108 BTC จากต้นทุนค่าไฟที่ $0.00024 ต่อ BTC) จะมีมูลค่าในปัจจุบันถึง 352,533,874 บาท หรือกว่า 352 ล้านบาท
แต่ในทางกลับกัน หากคุณต้องการจะทำกำไรแค่เพียง 2 เท่าในปัจจุบัน คุณจะต้องลงทุนซื้อ Bitcoin ที่ราคา $93,233.30 (ประมาณ 3.26 ล้านบาท) และต้องรอให้ราคาขึ้นไปถึง $186,466.60 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันการจะเข้าถึงการขุด Bitcoin นั้นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ทั้งค่าอุปกรณ์และค่าไฟฟ้า เนื่องจากความยากในการขุดที่เพิ่มขึ้นกว่า 101.6 ล้านล้านเท่า ทำให้มีเพียงนักลงทุนรายใหญ่หรือบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้
เมื่อเทียบกันแล้ว คนที่เข้ามาในยุคแรกใช้เงินเพียงไม่กี่บาทก็สามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลได้ แต่คนที่เข้ามาในปัจจุบัน แม้จะลงทุนด้วยเงินเก็บทั้งชีวิต ก็อาจได้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่น่าตกใจคือ ต้นทุนในการขุด Bitcoin ปัจจุบัน ($82,428) สูงกว่าต้นทุนในยุคแรก ($0.00024) ถึง 343.45 ล้านเท่า นั่นหมายความว่า หากในปี 2009 ใช้เงินเพียง 0.0084 บาท (ไม่ถึง 1 สตางค์) ในการขุด 1 Bitcoin ปัจจุบันต้องใช้เงินถึง 2.88 ล้านบาท (คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์) เพื่อขุดให้ได้เพียง 1 Bitcoin เท่านั้น นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในโลกคริปโตเคอเรนซี ที่คนรุ่นแรกได้เปรียบอย่างมหาศาล ในขณะที่คนรุ่นหลังแทบไม่มีโอกาสได้ผลตอบแทนในระดับเดียวกันอีกต่อไปแม้จะลงทุนด้วยเงินทั้งหมดที่หาได้ทั้งชีวิตก็ตาม
คำถามที่น่าคิดคือ เมื่อเห็นความเหลื่อมล้ำขนาดนี้แล้ว บิทคอยน์ยังน่าลงทุนอีกหรือไม่? ในขณะที่คนส่วนน้อยสามารถครอบครองอุปทานเกือบครึ่งหนึ่ง (10.5 ล้าน BTC) โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่คนที่มาทีหลังต้องจ่ายส่วนต่างมากถึง 343.45 ล้านเท่า จากต้นทุนการขุดที่เพิ่มขึ้นจาก $0.00024 เป็น $82,428 ต่อ 1 BTC เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำที่ราคาปรับตัวจาก 400 บาทเป็น 40,000 กว่าบาท โดยใช้เวลาหลายสิบปี หรือที่ดินที่มีการปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีสินทรัพย์ใดในโลกที่ราคาพุ่งขึ้นเป็นร้อยล้านเท่าภายในเวลาเพียง 15 ปีเหมือนบิทคอยน์
จากข้อมูล M2 Money Supply (M2SL) ที่แสดงปริมาณเงินในระบบ เราจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน M2 เพิ่มขึ้นจาก 8,459.5 พันล้านดอลลาร์ เป็น 20,881.1 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 146.84% (2.47 เท่า) คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.34% ต่อปี ซึ่งเป็นการเติบโตที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ สินค้าและบริการต่างๆ ในระบบก็มีการปรับตัวขึ้นตามปริมาณเงินนี้อย่างสมเหตุสมผล ต่างจากบิทคอยน์ที่ราคาพุ่งขึ้นถึง 93.8 ล้านเท่าจากราคาซื้อขายครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการเก็งกำไรที่เกินจริงและไม่สอดคล้องกับทฤษฎีที่บอกว่าบิทคอยน์ราคาเพิ่มขึ้นเพราะเงินเฟ้อ ไม่ได้ราคาขึ้นจากการปั่นราคาหรือเก็งกำไรใดๆ
อย่าตกเป็นทาสของซาโตชิ นากาโมโต้
อ้างอิง
https://bitslog.com/2013/04/17/the-well-deserved-fortune-of-satoshi-nakamoto/
https://cointelegraph.com/news/mysterious-bitcoin-mining-pattern-solved-after-seven-years
https://www.blockchain.com/explorer/charts/difficulty
https://asicjungle.com/asic-magazine/articles/the-history-and-evolution-of-bitcoin-mining
https://en.macromicro.me/charts/29435/bitcoin-production-total-cost
https://fred.stlouisfed.org/series/M2SL
https://cryptosiam.com/news/top-3-wallets-with-the-most-bitcoin-in-the-world
https://medium.com/@chain.info1/after-11-years-a-bitcoin-address-changed-was-it-satoshi-613864f7b6ca
https://river.com/learn/what-will-happen-after-all-bitcoin-mined/