อ่าน 4,910 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 11/2558: 16 มกราคม 2558
      สนามบินพาณิชย์ที่ 3 อย่าเลือกกำแพงแสน ต้องอู่ตะเภาเท่านั้น

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่สาม และมีนักวิชาการบางท่านค้านและเสนอให้ไปพัฒนาสนามบินกำแพงแสนแทนนั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เห็นว่าไม่ควรหลงทางไปพัฒนาสนามบินกำแพงแสนอันจะก่อให้เกิดความสูญเปล่า ผิดกับอู่ตะเภาที่มีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
          สนามบินกำแพงแสนตั้งอยู่ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ภายในพื้นที่ของ โรงเรียนการบิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ สร้างขึ้นในปี 2512 มีทางวิ่งประมาณ 2,743 เมตร (9,000 ฟุต) อยู่ห่างจากสนามบินดอนเมืองประมาณ 117 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่งโมง 18 นาที
          ในบริเวณที่ตั้งสนามบินกำแพงแสน ไม่มีเขตเศรษฐกิจสำคัญใด ๆ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองนครปฐม กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เป็นระยะทาง 53, 72 และ 86 กิโลเมตรตามลำดับ  หากมีสนามบินพาณิชย์ตั้งอยู่ในที่กำแพงแสน ก็เท่ากับเป็นความสูญเปล่าเป็นอย่างยิ่ง ไม่คุ้มค่าที่จะใช้ และอาจมีผู้ใช้จำนวนจำกัด ถือเป็นความขาดทุนอย่างมหาศาลดังที่เกิดขึ้นในสนามบินร้างหลายแห่งในจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ไปตั้งสนามบินในพื้นที่ ๆ ไม่เหมาะสม
          ในทางตรงกันข้ามสนามบินอู่ตะเภามีเขตเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่น เมืองพัทยา นิคมอุตสาหกรรมมาตาพุต และยังเชื่อมโยงถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย การมีสนามบินนานาชาติแห่งชาติ 3 สนามบินคือดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ เหตุผลในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาได้แก่
          1. สนามบินอู่ตะเภามีศักยภาพสูง เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบยึดสนามบินสุวรรณภูมิในปี พ.ศ. 2551 สนามบินนี้ยังสามารถใช้เป็นสนามบินทดแทน-สำรองได้ นอกจากนั้นสนามบินนี้ยังมีพื้นที่ที่สามารถขยายตัวได้มากโดยไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน
          2. สนามบินอู่ตะเภาตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเดินทางสู่จังหวัดหลักในภาคตะวันออกได้โดยสะดวก ตั้งแต่ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
          3. หากพิจารณาจากอสังหาริมทรัพย์ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน เป็นอสังหาริมทรัพย์ในเขตจังหวัดชลบุรีและระยองถึง 14.6% หรือมากกว่าหนึ่งในสี่ของขนาดตลาดของกรุงเทพมหานคร และหากรวมจันทบุรี ขนาดตลาดอาจประมาณหนึ่งในสามของกรุงเทพมหานคร สมควรที่จะมีสนามบินเป็นของตนเอง
          4. มูลค่าการขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะในเขตจังหวัดชลบุรีและระยอง มีมูลค่าถึง 94,531 ล้านบาท หรือเท่ากับค่าก่อสร้างสนามบินใหม่ 1 สนาม การนี้แสดงให้เห็นว่าอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นี้ขยายตัวมากกว่าจังหวัดอื่นที่มีสนามบินอย่างมากมาย เช่น หากเทียบกับนครราชสีมา ชลบุรี-ระยอง มีขนาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ใหญ่กว่าถึง 16 เท่า ใหญ่กว่าสุราษฎร์ธานี 24 เท่า ใหญ่กว่านครศรีธรรมราช 29 เท่า ใหญ่กว่าอุดรธานี และพิษณุโลก 37 เท่า ดังนั้นจึงควรมีสนามบินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
          5. ท่าเรือน้ำลึกทวายของประเทศพม่า อาจมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุดของไทยถึง 10 เท่า และยังมีสนามบิน ดังนั้นเพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับสากลได้ สนามบินมาบตาพุดจำเป็นต้องเป็นสนามบินนานาชาติ
          6. ความมั่นคงของชาติมาจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งก็จะสร้างความมั่นคงทางทหารและทางการเมืองต่อไป ดังนั้นหากประเทศไทยมุ่งเน้นความสำคัญของความมั่นคงของชาติจึงจำเป็นต้องขยายสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่
          7. การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินแห่งชาติแห่งที่ 3 นั้น จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันยิ่งสูงขึ้น จะยิ่งเป็นศูนย์กลางทางบินของภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น

          ดังนั้นการที่ทางราชการมีดำริที่จะแปลงสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 จึงถือว่า "เดินมาถูกทางแล้ว"


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved