ท่านทราบไหมว่าสิงคโปร์มีระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานมาช้านานแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พึงรู้ก็คือ เขายังมีระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยควรมีบ้าง เพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น เรามาเอาเยี่ยงกา (บางอย่าง) แต่ใช่ต้องเอาอย่างกา (ไปซะทุกอย่าง) มาลองศึกษาดูกัน
ที่ผ่านมา ระบบรถไฟฟ้า (Mass Rapid Transit) ของสิงคโปร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก่อนไทยถึง 12 ปีเลยทีเดียว โดยของไทยเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ระบบรถไฟฟ้าของสิงคโปร์มีผู้ใช้บริการถึง 3.2 ล้านคน ประกอบด้วยสถานีถึง 140 สถานี รวมระยะทาง 230 กิโลเมตร บนพื้นที่เกาะเล็ก ๆ ของสิงคโปร์เพียงประมาณ 734 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2529 สมัยนั้นประเทศสิงคโปร์ยังไม่มีรถไฟฟ้า การเดินทางเข้าเมืองก็ยังอาศัยรถแท็กซี่หรือไม่ก็รถประจำทางเท่านั้นซึ่งไม่สะดวกเท่าปัจจุบันแต่สิงคโปร์ก็ก่อสร้างรถไฟฟ้าอย่างรีบด่วนนับว่าเป็นความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีระบบขนส่งมวลชนแบล็คแบบนี้
ในปี 2555 หรือ 12 ปีก่อน ระบบรถไฟฟ้าของสิงคโปร์มีผู้ใช้บริการ 2.406 ล้านคน ประกอบด้วยสถานีถึง 102 สถานี รวมระยะทาง 148.9 กิโลเมตร บนพื้นที่เกาะเล็ก ๆ ของสิงคโปร์เพียงประมาณ 625 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้น โดยกล่าวได้ว่าในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสิงคโปร์ สามารถบริการประชาชนเพิ่มขึ้นมหาศาล แสดงว่ารถไฟฟ้าในสิงคโปร์ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาขึ้นโดยตลอด
เมื่อเดือนมกราคม 2567 ผู้เขียนได้จัดคณะดูงาน ณ ประเทศสิงคโปร์จำนวนเกือบ 20 ท่าน ยังสามารถใช้บริการระบบขนส่งมวลชนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้การเช่ารถบัสเพื่อการเดินทางเป็นหมู่คณะ แถมยังสามารถดูวิถีชีวิตของชาวบ้านชาวเมืองในประเทศสิงคโปร์อีกด้วย
นอกจากระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไปแล้ว สิ่งที่สิงคโปร์มีก็คือ Light Rail Transit (Light Rapid Transit) หรือรถไฟฟ้ามวลเบา ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2542 ปีเดียวกับที่ประเทศไทยเริ่มมีรถไฟฟ้า โดยถือเป็นระบบเสริมของรถไฟฟ้ามาตรฐาน (MRT) โดยเชื่อมในท้องที่ 3 แห่งที่มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ได้แก่ พื้นที่ Bukit Panjang ทางตะวันตก และพื้นที่ Sengkang และ Punggol ทางตะวันตกของเกาะสิงคโปร์
ในวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้กลับไปเยี่ยมรถไฟฟ้ามวลเบาในสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่งจึงขอมานำเสนอเพื่อกระตุ้นการพัฒนาของภาครัฐในประเทศไทย
จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่าระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานเป็นระบบที่ก่อสร้างอยู่ใต้ดินไม่ได้ขึ้นมาเหนือพื้นดินแม้ว่าจะอยู่ในเขตรอบนอกของใจกลางเมืองก็ตาม แต่ระบบรถไฟฟ้ามวลเบาจะเป็นระบบอยู่เหนือพื้นดินเพราะเป็นระบบที่มีระยะสั้นกว่ามากและเพื่อการก่อสร้างที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำ ยิ่งกว่านั้นก็ยังอยู่ในพื้นที่ที่มีการวางแผนพัฒนาเมืองใหม่อย่างดียังไม่ต้องเลี่ยงอาคารขนาดใหญ่ลงใต้ดินเช่นในเขตใจกลางเมือง
ลักษณะของรถไฟฟ้ามวลเบาของเขาก็คล้ายกับระบบรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างอาคารท่าอากาศยานของท่าอากาศยานใหญ่ ๆ ทั่วโลก ซึ่งดอนเมืองเราก็เคยมีใช้เช่นกัน โดยมากเป็นรถไฟฟ้าตู้เดียวหรือไม่กี่ตู้เพราะไม่ได้มีผู้โดยสารมากมายเช่นรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไป สิงคโปร์พัฒนาระบบรถไฟฟ้ามวลเขาขึ้นมาเพื่อเชื่อมชุมชนใกล้เคียงกับระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานหลักที่มีอยู่ และขณะนี้มี 3 สาย จำนวน 42 สถานี รวมระยะทาง 28.8 กิโลเมตร มีผู้ใช้บริการวันละ 160,000 คนโดยรวม
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพื้นที่หนึ่ง คือ Punggol ซึ่งถือเป็นเมืองใหม่ที่มีระบบรถไฟฟ้ามวลเบาวิ่ง พื้นที่นี้มีขนาดประมาณ 9.57 ตารางกิโลเมตร 5,981 ไร่เท่านั้น แต่บริเวณที่อยู่อาศัยมีขนาดเพียงประมาณ 2,000 ไร่ มีที่อยู่อาศัย 16,000 หน่วย คาดว่าจะสามารถมีประชากรราว 60,000 คน โดยคิดค่าโดยสารระหว่าง 20-25 บาท ซึ่งนับว่าถูกมากสำหรับคนสิงคโปร์ที่มีรายได้มากกว่าคนไทยถึงประมาณ 6 เท่า หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับค่าโดยสารประมาณ 4-6 บาทถ้าเป็นในกรณีประเทศไทย (ถูกกว่าค่ารถประจำทางหรือรถสองแถวเสียอีก)
ในประเทศไทยของเราก็สามารถ “เอาเยี่ยงกา” คือเอาอย่างประเทศสิงคโปร์ได้เช่นกัน ลองนึกถึงพื้นที่ต่อไปนี้ ซึ่งสามารถทำ LRT ได้ประกอบด้วย
1. ถนนพญาไท บรรทัดทอง อังรีดูนังต์
2. ถนนเจริญกรุง (ถนนตก) ตรอกจันทน์ เซ็นต์หลุยส์
3. ถนนทองหล่อ ซอยสุขุมวิท 49 (ซอยกลาง) เอกมัย
4. ถนนอ่อนนุชและบริเวณใกล้เคียง
5. ถนนสรรพาวุธและบริเวณใกล้เคียง
6. ถนนเทียมร่วมมิตร
7. ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ชานเมือง ประชาสงเคราะห์
8. ถนนอินทามระ
9. ถนนรัชดาภิเษก พหลโยธิน
10. ถนนประชาชื่น ประชาราษฎร์สาย 1
11. ถนนประดิพัทธ์ อารีย์สัมพันธ์
12. ถนนพระราม 1 พระราม 6 เพชรบุรี
13. ถนนสี่พระยา เจริญกรุง สุรวงศ์
14. ถนนเจริญนคร สมเด็จเจ้าพระยา เป็นต้น
การพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาในใจกลางเมืองยังทำให้เราสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นแต่ไม่แออัด โดยสามารถที่จะเพิ่มอัตราส่วนของพื้นที่ก่อสร้างต่อพื้นที่ให้สูงขึ้นเช่นประมาณ 20 เท่า ไม่ใช่แค่ 5-10 เท่าในเขตใจกลางเมือง ทำให้เมืองไม่ย้ายออกไปสู่รอบนอกจนเกินไป ไม่ขยายออกไปรุกพื้นที่ชนบทและพื้นที่สีเขียวที่อยู่รอบนอก เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ยิ่งกว่านั้นในเขตใจกลางเมืองยังถูกปล่อยปล่อยทิ้งไว้ให้สูญเปล่า ยิ่งหากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างเหมาะสมเช่นประมาณ 1% ของราคาตลาดในใจกลางเมือง ก็จะทำให้อุปทานที่ดินมีสูงขึ้น ราคาที่ดินไม่เพิ่มมากนักเพราะเจ้าของที่ดินไม่สามารถเก็บที่ดินไว้เฉยๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี ที่ดินในใจการเมืองก็จะแยกการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
ถ้ามีการก่อสร้าง LRT เกิดขึ้นจริง อาจให้ภาคเอกชนในประเทศ หรืออาศัยนักลงทุนต่างชาติที่เราต้องร่างข้อกฎหมายให้รัดกุม จะได้ไม่ “เสียค่าโง่” อีก ก็จะทำให้ประเทศชาติและอสังหาริมทรัพย์ไทยเร็วขึ้นและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ควรให้มีการประมูลอย่างโปร่งใสเพื่อไม่ให้ให้เกิดการผูกขาด
การนำเสนอสิ่งที่ดีของประเทศอื่นไม่ใช่ว่าไปยืนยอหรือเห็นประเทศอื่นดีกว่าประเทศของเรา แต่บางอย่างที่ดีเราควรนำมาใช้ ส่วนในสิ่งที่ไม่ดี เราก็ควรหลีกเลี่ยง เข้าทำนอง “ เอาเยี่ยงกา แต่ไม่ใช่เอาอย่างกา” ประเทศไทยอันเป็นที่แรกของพวกเราจะได้เจริญยิ่งขึ้นลูกหลานไทยจะได้ประโยชน์โดยตรง เราจึงเรียนรู้สิ่งที่ดีจากประเทศอื่นมาพัฒนาชาติของเรา
ขอให้ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และควรให้สำเร็จโดยไว