ตามที่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ดร.ทักษิณ ชินวัตร เสนอให้ศึกษาบิทคอยน์มาใช้ เรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือไม่
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าเรื่องนี้ ดร.ทักษิณกล่าว ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยในโครงการเสริมศักยภาพ สส.และบุคลากรทางการเมือง โดย ดร.ทักษิณเสนอว่า “นายกรัฐมนตรีอาจจะมอบให้ทางกระทรวงการคลังไปศึกษาเพื่อรับบิทคอยน์ได้หรือไม่ ใช้แซนด์บอกซ์ในแหล่งท่องเที่ยว เช่น จ.ภูเก็ต หรือหัวหินได้ไหม ใช้บิทคอยน์เพื่อให้คนถือบิทคอยน์มาใช้เงิน” ได้หรือไม่
เรื่องนี้ ดร.โสภณ มองว่ามีความเสี่ยงที่จะใช้บิทคอยน์ในการเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพราะ
1. บิทคอยน์มีราคาที่ผันผวนสูงมาก ไม่สามารถจะนำมาใช้เพื่อเป็นสกุลเงินได้ ที่ผ่านมาส่วนมากใช้เพื่อการเก็งกำไร
2. ขาดการกำกับดูแลในด้านกฎหมายและการกำกับดูแล ทั้งนี้เงินดิจิตอลนี้มีลักษณะเป็น “สีเทา”
3. มีความซับซ้อนในการบริหารจัดการ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนที่จะได้ประโยชน์เป็นสำคัญหากนำบิทคอยน์มาใช้
4. มีผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ใช้ “เงินจริง” ไม่ใช่ใช้ “เงินปลอม” เยี่ยงบิทคอยน์
5. มีความเสี่ยงด้านคอมพิวเตอร์ เช่น การโจมตี การแฮกกระเป๋าเงิน การมีแพลทฟอร์มปลอม ทำให้สูญเสียเงินมหาศาล ซึ่งพบได้ในแต่ละปีเป็นอันมาก จึงรั่วไหลสูง
6. ทุกวันนี้มีเพียงประเทศที่การพัฒนาต่ำ เช่น เอลซัลวาดอร์ที่ยอมรับบิทคอยน์ ประเทศใหญ่ๆ ไม่ได้ยอมรับ “เงินปลอม” นี้ ถ้าไทยรีบนำมาใช้อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประเทศชาติโดยรวมได้
อย่างไรก็ตามที่ปัจจุบัน รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนีและอื่นๆ ถือบิทคอยน์อยู่เป็นจำนวนมหาศาลนั้น ล้วนได้มาจากการยึดจากอาชญากร รัฐบาลแต่ละประเทศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเล่นบิทคอยน์เลย
กรณีบิทคอยน์ยังมีข้อครหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม เช่น
1. การโอนเงินข้ามประเทศ โดยไม่ต้องผ่านการเสียภาษีตามกฎหมาย ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีได้มากมาย
2. อาชญากรชอบใช้บิทคอยน์ในการแลกเปลี่ยนทางการเงิน ซึ่งพบเห็นและจับได้เป็นระยะๆ อยู่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา
3. การลักลอบใช้ไฟหลวง ซึ่งพบเห็นข่าวและจับได้อยู่บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นว่าการขุดบิทคอยน์แบบสุจริตชนเป็นไปไม่ได้แล้ว
4. นายซาโตชิ นากาโมโตะผู้สร้างบิทคอยน์ก็ไม่เปิดเผยตัวตน แต่ในจำนวน 21 ล้านเหรียญที่ปัจจุบันขุดแล้ว 19 ล้านเหรียญ อยู่ในมือของนายซาโตชิถึง 1.1 ล้านเหรียญ ด้วยราคาบิทคอยน์ที่ไม่มีมูลค่าแต่ถีบตัวสูงขึ้น ก็ทำให้นายนซาโตชิกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกไปแล้ว โดยไม่ได้ลงทุนอะไรเลยนอกจากสร้างบิทคอยน์ขึ้นมา
ยิ่งกว่านั้น ดร.ทักษิณ ยังเสนอให้มีเหรียญที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (stablecoin) โดยเสนอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังศึกษา ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพิมพ์แบงก์เพิ่ม ด้วยการออกคอยน์ โดยมีพันธบัตรของรัฐบาลค้ำประกัน เพื่อทำให้เงินไหลเวียนในเศรษฐกิจ ข้อนี้ ดร.โสภณเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะการออกโทเคนต่างๆ ของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะช่วยให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
การนำ “เงินปลอม” เช่น บิทคอยน์มาใช้จะสร้างโทษแก่เศรษฐกิจชาติโดยมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ประโยชน์เท่านั้น ดร.โสภณกล่าว
หมายเหตุ: บทความนี้ลงในมติชนออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม 2567
https://www.matichon.co.th/economy/news_4954004