เหมืองทองอัครามีมลพิษจริงหรือ
  AREA แถลง ฉบับที่ 0024/2568: วันพฤหัสบดีที่ 09 มกราคม 2568

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            เมื่อเร็วๆ นี้ “ศาลปกครองกลาง ชี้ คำสั่งแก้ปัญหาบ่อกักกากแร่รั่วชอบด้วยกฎหมาย ยกฟ้อง ’อัครา รีซอร์สเซส‘ ไม่เพิกถอนคำสั่งระบุ เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่”

            ตกลงแล้วเหมืองทองอัครมีมลพิษจริงหรือไม่ ลองดูผลการสำรวจของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ซึ่งเคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้:

 

--------------

 

15    ธันวาคม 2559 โปรดดู https://www.area.co.th/t/1707

เรื่อง      โปรดเปิดเหมืองทองคำ เดิมพันด้วยชีวิตว่าไร้มลพิษ

กราบเรียน   พล.อ.ประยุทธฺ์ จันทร์โอชา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

                  พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทร้พยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                  พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

                  พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                  พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

                  นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

                  นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

                  นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

                  นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

อ้างถึง   หนังสือถึงนายกฯ ลว. 22 กรกฎาคม 2559

 

            ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คสช. ใช้อำนาจ ม.44 ปิดเหมืองทองคำ ปรากฏว่าเหมืองทองคำอัครา เลิกจ้างพนักงานถึง 1,004 คน (http://bit.ly/2gCYMa6) น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างยิ่ง สวนทางกับนโยบายของรัฐที่ว่าจะปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องมลพิษนั้นประชาชนโดยรอบพิสูจน์มาแล้วด้วยชีวิตของตนเองว่า เหมืองทองคำอัคราไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ กระผมจึงทำหนังสือนี้มาขอ ฯพณฯ โปรดพิจารณาทบทวนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังข้อมูลต่อไปนี้:

            1. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 กระผมได้ทำหนังสือถึงนายกฯ ขอให้เหมืองทองคำชาตรีได้ดำเนินการต่อไปเพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการและไม่มีมลพิษ โดยระบุผลการสำรวจว่าของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับคณะนักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ พบว่า ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป รัฐบาลจึงควรฟังเสียงประชาชนเจ้าของพื้นที่ (http://bit.ly/1slFPir)

            2. ยิ่งกว่านั้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 นายอำนวย พานทอง นายอำเภอทับคล้อ และนายกฤษณะ ก้อนแก้ว นายก อบต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้จัดให้มีการลงประชามติเห็นด้วยกับการที่จะอนุญาตให้ บ.อัคราไมนิ่ง ขยายกิจการสร้างบ่อทิ้งกากแร่ได้ โดยเห็นด้วยเป็นจำนวน 560 คะแนน และไม่เห็นด้วยเป็นจำนวน 269 คะแนน จึงเป็นอันสรุปว่ามติในครั้งนี้ บ.อัครา ไมนิ่ง ได้รับคะแนนเห็นชอบจากชาวบ้านอย่างท่วมท้น (http://bit.ly/1WvASQF)

            3. ไม่มีใครป่วยหรือตายเพราะเหมือง โดยเฉพาะคนงานในโรงงานเอง ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าประชาชนโดยรอบเหมืองป่วยหรือเสียชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น กรณีนายสมคิด ธรรมพเวช ภริยาก็แจ้งว่า “จากผลการชันสูตร เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวม. . .ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย” (http://bit.ly/1Zc11St) หรือกรณีนายเฉื่อย บุญส่ง ก็ตายเพราะโรตตับแข็ง (http://bit.ly/1VuKzxN) ดังนั้นถ้ามีมลพิษ คนงานเหมืองคงตายก่อน แต่พวกเขากลับแข็งแรงดี ยังสามารถบริจาคโลหิตได้สม่ำเสมอ

            4. พืชผักก็ไม่มีสารพิษ ยังทานได้ตามปกติ เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ชาวตำบลเขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร เข้าแจ้งความกรณีถูกหลอกลงชื่อรับผักปลอดสารพิษ ก่อนนำไปแอบอ้างเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ (http://bit.ly/1P3rjAQ) อีกกรณีหนึ่งก็คือเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ชาวนาข้างเหมืองทองอัคราพิจิตรได้แจ้งความเอาผิดนักวิชาการพูดเท็จ โดย “ชาวบ้านรอบเหมืองทองเดือดนักวิชาการ NGO มั่วนิ่ม นำรูปนาข้าวไปเผยแพร่ว่ามีสารพิษจากเหมืองทอง” (http://bit.ly/1PijwVh) กระบวนการใส่ร้ายป้ายสีเหมืองมีการสร้างกระแสกันอย่างต่อเนื่อง

            5. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือที่ นร.0505/16885 เมื่อ 12 พฤษภาคม 2559 ชี้แจงว่าพื้นที่ดินบริเวณเหมืองทองคำอัครามีการปนเปื้อนเหล็ก แมงกานีสและสารหนูในระดับสูงมาก่อนมีการทำเหมืองแล้ว (ไม่ใช่เพราะผลของเหมือง) คุณภาพน้ำใต้ดินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การปนเปื้อนของไซยาไนด์ในนาข้าวยังไม่ได้พิสูจน์ (ว่ามาจากเหมือง) พืชผักก็ไม่แตกต่างจากในบริเวณอื่น และยังไม่มีข้อสรุปว่าโลหะหนักทำให้เกิดการเจ็บป่วยจริง (http://bit.ly/2gNbE0X)

            6. การปิดเหมืองทองคำจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชน ทำให้ประชาชนยากจนลงเฉียบพลัน ประชาชนต้อง "บ้านแตกสาแหรกขาด" ไปทำงานในท้องที่อื่น เช่น เข้ามาในกรุงเทพมหานคร สร้างปัญหาให้กับสังคมมากขึ้น

            7. การปิดเหมืองยังทำลาย เกียรติภูมิของชาติเพราะในขณะที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่กลับปิดเหมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ประกอบการโดยสุจริตเสียหาย เกียรติภูมิของรัฐบาลก็จะเสียหายเพราะไปรับฟังแต่เรื่องเท็จของเอ็นจีโอ เป็นต้น

            โดยสรุปแล้วประชาชนแถวนั้นอยู่กันได้ พืชผักที่บอกว่าปลูกกินไม่ได้ แท้จริงแล้ว ประชาชนกินได้ น้ำก็ดื่มได้ทุกวัน ที่ว่ามีคนเสียชีวิตเพราะมลพิษก็เป็นเรื่องเท็จ จากการพิสูจน์ที่ตายไปเพราะโรคอื่น ไม่เกี่ยวกับมลพิษเลย มหาวิทยาลัยเอกชนที่ไปพิสูจน์ก็กำลังถูกชาวบ้านฟ้องว่าไม่เป็นกลาง คนงานเหมืองไม่เคยเสียชีวิตเลย แถมยังสามารถบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทยแทบทุกเดือน มลพิษทางเสียง ฝุ่น ก็ไม่มี นกยังมาทำรังที่บ่อกากแร่ และในนั้นยังมีไซยาไนด์ น้อยกว่าในบุหรี่และกาแฟ

            กระผมไม่ได้เข้าข้างนายทุน แต่เข้าข้างชาวบ้านส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ถ้าไม่มีเหมืองชาวบ้านคงยากจนลง บ้านแตกสาแหรกขาด ต้องย้ายหนีตายไปทำงานในเมือง เกิดความแตกแยกในสังคมเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ความสมานฉันท์ในประเทศจะไม่มี เกียรติภูมิของชาติและรัฐบาลจะได้รับความเสียหาย

            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และโปรดไปนอนค้างคืนพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ประชาชนรอบเหมืองใช้ชีวิตตนเองเป็นเดิมพันว่าไม่มีมลพิษ ต่างสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ได้

 

--------------

 

            ยิ่งกว่านั้น ดร.โสภณ ได้รับหนังสือจากมูลนิธิน้ำสะอาดเพื่อชีวิต ยืนยันว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ บริเวณรอบบ่อกักเก็บกากแร่ เหมืองทองอัครา จ.พิจิตร ผ่าน! สะอาด! โดยได้รับหนังสือจากนายชูชาติ รักษาวงศ์ ประธานมูลนิธิน้ำสะอาดเพื่อชีวิต เรื่องการตรวจสอบคุณภาพน้ำ บริเวณรอบบ่อกักเก็บกากแร่ เหมืองทองอัครา จ.พิจิตร https://www.area.co.th/t/4017

            โดยเมื่อต้นปี 2561 หลังจากมูลนิธิฯ ได้ทราบข่าวเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนจากการทำเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร ในเวลานั้นมูลนิธิฯ มีความประสงค์จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องสารปนเปื้อนในน้ำโดยการใช้แร่ไพโรลูไซด์ ซึ่งเป็นแร่ธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการกำจัดโลหะหนักที่ละลายอยู่ในน้ำ มูลนิธิฯ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน บริเวณแหล่งน้ำรอบบ่อกักเก็บกากแร่ เมืองทองอัครา หนองผักแว่น, หนองบัว, หนองน้ำซับ บ้านเขาดิน ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร, ป่าบอน บริเวณหลังบ่อกักเก็บน้ำเมืองทองคำของเหมืองทองอัครา และน้ำประปาหมู่บ้านวัดคีรีเทพนิมิต เพื่อนำตัวอย่างน้ำที่ได้มาตรวจสอบคุณภาพน้ำกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด Central Laboratory (Thailand) Co.,Ltd. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561

            ทางบริษัทฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำตามตัวอย่างที่ส่งไป ผลปรากฏว่าหนองน้ำบริเวณรอบเหมืองทองพบสารปนเปื้อน Arsenic (As), Iron(Fe) และ Manganese(Mn) แต่มีปริมาณการปนเปื้อนเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นปริมาณที่พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป ส่วนน้ำประปาหมู่บ้านไม่พบสารปนเปื้อนทั้ง 3 ชนิด ข้างต้น เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ นายชูชาติ รักษาวงศ์ ประธานมูลนิธิน้ำสะอาดเพื่อชีวิต จึงขอส่งเอกสาร รายงานผลการทดสอบคุณภาพน้ำ บริเวณรอบบ่อกักเก็บกากแร่เหมืองทองอัคราทั้ง 5 จุด (ดังมีรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย” ให้ ดร.โสภณ เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนต่อไป)

            การที่รัฐบาลประยุทธ์ปิดเหมืองทองคำโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ชุมชนและบริษัทที่ได้รับสัมปททาน  พล.อ.ประยุทธ์จึงควรชดใช้ค่าเสียหายเอง  จะใช้งบประมาณแผ่นดินไม่ได้

 

--------------

 

            ยิ่งกว่านั้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ดร.โสภณ ยังมีจดหมายถึงนายกฯ แจ้งผลการสำรวจว่า ประชาชน 89% ให้เปิดเหมืองทองอัครา การปิดเหมืองเป็นการทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงควรพิจารณา โปรดดูรายละเอียดที่นี่: https://www.area.co.th/t/3184

 

อ่าน 40 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved