สาธารณรัฐบอตสวานา เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาใต้ และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ปกติเวลาจะเดินทางไป ก็ต้องต่อเครื่องบินที่สนามบินของนครโจฮันเนสเบอร์กของประเทศอาฟริกาใต้ ประเทศนี้กลายเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษและได้รับเอกราช เมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2509 มีกรุงคาโบโรเน (Gaborone แต่ออกเสียง ค ควาย) ผมเดินทางไปประเมินค่าทรัพย์สินเมื่อต้นเดือนมกราคม ศกนี้
บอตสวานามีพื้นที่ 600,370 ตารางกิโลเมตรและใหญ่เป็นอันดับที่ 45 ของโลก (มีขนาดใหญ่กว่าไทยเล็กน้อย) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และพื้นดินกว่าร้อยละ 70 ถูกครอบคลุมโดยทะเลทรายกาลาฮารี มีกรุงคาโบโรเน เป็นเมืองหลวง ตั้งแต่ได้รับเอกราช บอตสวานาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเจริญเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดในโลก และสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นจากหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมาเป็นประเทศรายได้ระดับกลางซึ่งมีจีดีพีเฉลี่ย 16,516 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 สูงกว่าไทยเกือบเท่าตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า ค่าจ้างได้ขั้นต่ำ เป็นเพียง 40% ของไทย แสดงว่ามีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นอย่างมาก
ประชากรของบอตสวานามี 2 ล้านคน โดยประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ของบอตสวานาติดเอดส์ถึง 23% ถึงประมาณ 3 แสนคนเศษๆ ในขณะที่ไทยมีประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ติดเอดส์ 1.1% แต่มีจำนวนมากกว่า 4 แสนคน ประชากรอยู่ในกรุงกาโบโรนถึงราว 6 แสนคน นอกนั้นกระจายตามพื้นที่อื่นๆ แต่ส่วนมากของพื้นที่เป็นทะเลทราย มีพื้นที่เพาะปลูกไม่ถึง 1% ของพื้นที่ทั่วประเทศ
น้ำประปาที่กรุงคาโบโรเนไหลสัปดาห์ละ 3 วันเท่านั้น เขาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก โดยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงภัยแล้ง ฝนแทบไม่ตกเลย น้ำในเขื่อนเหลืออยู่ราว 4% เท่านั้น อากาศที่นี่ก็ร้อนระอุ ช่วงที่ผมไปเป็นหน้าร้อน กลางวันอาจถึง 40 องศา กลางคืนอาจลดเหลือ 18 องศา เดินบนถนนถ้าไม่ถือร่มอยู่ยากจริง ๆ แม้แต่คนที่นั่นก็ยังต้องใส่หมวกหรือถือร่ม ไม่ได้กลัวดำ แต่แดดแฝดร้อนจริง ๆ
ที่บอตสวานามีกาสิโนอยู่หลายต่อหลายแห่ง ปรากฏว่าคนเข้าบ่อนก็เป็นคนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และคนเข้าส่วนมากถึงราว 90% เป็นคนหน้าซ้ำ ๆ โดยถือเป็นการใช้เวลาว่างเล่นสนุก ๆ ถ้าใคร “หน้ามืด” เล่นเสียมาก ๆ ทางกาสิโนจะให้คนมาเตือนให้เลิกเล่น จะได้ไม่เสียจนสิ้นเนื้อประดาตัว เขาก็หวังให้ลูกค้ากลับมาเล่นใหม่ แม้กาสิโนจะเปิดได้ แต่ก็ไม่มีปรากฏการณ์ว่าคนเลยติดการพนันหัวปักหัวปำอย่างที่พี่ไทยกลัวกันแต่อย่างใด
เป็นธรรมดาสำหรับประเทศยากจน (แต่จีดีพีสูงเพราะมีความเหลื่อมล้ำ) ที่อาจมีอาชญากรรมอยู่ตามสมควร ในเวลามืดค่ำ ไม่มีใครเดินอยู่ข้างถนน เพราะไม่ปลอดภัย ทุกคนปิดบ้านเงียบ แต่มีเคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เวลาไปไหนต้องมองหน้าผู้คน (อย่างเป็นมิตร ไม่ใช่มองหน้าหาเรื่อง) แสดงความระแวดระไว หาไม่จะถูกโจรเข้าโจมตีได้ สังเกตได้ว่าแม้แต่กลุ่มเด็กนักเรียนนักศึกษาตัวเล็ก ๆ ก็เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยได้ (ในเวลากลางวัน) อย่างไรก็ตามประเทศนี้ไม่ได้มีสถิติอาชญากรรมากเช่นอาฟริกาใต้ที่มีผู้คนคลาคร่ำกว่า
ดอกเบี้ยเงินฝากของที่นั่นก็พอ ๆ กับบ้านเราคือ 2.25% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้คือ 9% ซึ่งถือว่ามีช่วงถ่างมากกว่าเราเสียอีก การที่ดอกเบี้ยเงินกู้ต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากมาก ๆ แสดงถึงการเป็น “เสือนอนกิน” ของธนาคาร เช่นที่เห็นอยู่ในประเทศไทยของเราในขณะนี้ ส่วนการซื้อบ้านก็สามารถกู้เงินได้ถึง 90% ของมูลค่าบ้าน ผ่อนได้ 15-20 ปีแบบบ้านเรา
หากเทียบสัดส่วนระหว่างราคาที่ดินกับราคาบ้าน ประเทศไทยจะมีสัดส่วนเป็น 2:1 คือถ้าบ้านหลังละ 3 ล้าน ราคาในส่วนของที่ดินจะเป็นราว 2 ล้าน ส่วนของบ้านจะเป็น 1 ล้านบาท แต่ที่บอตสวานาจะตรงข้ามเลย ส่วนของที่ดินเท่ากับ 1 ส่วนของบ้านเท่ากับ 5 คือที่ดินที่นั่นมีมาก ประชากรน้อย ที่ดินแทบไม่มีราคา แต่ตัวบ้านต้องใช้แรงงานสร้าง มีราคาค่างวดมากกว่านั่นเอง ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกา จะคล้ายบอตสวานา คือค่าที่ดินเป็น 1 ค่าก่อสร้างเป็น 2 ตรงข้ามกับประเทศไทย เพราะสหรัฐมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลกว่าไทยมาก ส่วนถ้าเป็นอินเดียว จะยิ่งกว่าไทย คือค่าที่ดินเป็น 7 ค่าสร้างบ้านเป็น 1 เพราะที่ดินที่อินเดียหายาก มีประชากรมากมายเหลือเกินนั่นเอง
อย่างไรก็ตามประเทศนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประเทศหลาย ๆ แห่งในอาฟริกา มีการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ คือ Sir Seretse Khama กล่าวไว้ว่า “human dignity, like justice and freedom, is the common heritage of all men” หรือแปลงว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ความยุติธรรมและเสรีภาพเป็นมรดกตกทอดของมนุษยชาติ” (ใครจะมายึดเอาไปไม่ได้ ว่างั้นเถอะ)
ในทางตรงกันข้าม ประเทศเพื่อนบ้านที่มีข่าวเผด็จการทรราชหลายต่อหลายราย เช่น อีดีอามิน ในสมัยก่อนและทรราชอีกหลายคนที่จำไม่หวาดไม่ไหวนั้น คนที่บอตสวานาบอกว่า ประชาชนที่ประเทศเหล่านั้นน่าสงสาร ไม่กล้าลงคะแนนให้พรรคคู่แข่งของจอมเผด็จการเหล่านั้น เพราะกลัวจะถูกจอมเผด็จการเล่นงานเอาฐานเอาใจออกห่าง เลยต้องเลือกตั้งเข้าจอมเผด็จการเข้ามาครองอำนาจจนนึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ
อย่างเช่นประเทศซิมบับเว ประธานาธิบดีมูกาเบ วัย 90 ปีผู้ครองอำนาจมากว่า 3 ทศวรรษ ตอนนี้แก่มากแล้ว ศรีภริยาใหม่ อายุ 49 ปีที่อ่อนเยาว์กว่ามากก็เริ่มกรุยทางที่จะเถลิงอำนาจต่อจากสามี นางยังลงทะเบียนเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติซิมบับเว และจบแบบรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ได้เป็นด็อกเตอร์สมใจแล้ว แต่ได้ข่าวว่ามีการต่อต้านจากชาวซิมบับเวเป็นอันมาก เมื่อไหร่ก็ตามที่จอมเผด็จการมูกาเบตายไป คงหลั่งเลือดชโลมดิน เพราะไม่มีใครยอมรับภริยาจอมเผด็จการ ผู้ที่หวังสืบทอดอำนาจคนใหม่ ซึ่ง “ช็อปกระจาย” กับสินค้าแบรนด์เนมจากประเทศตะวันตก
ที่บอตสวานาที่มาไปเยือนนี้ แต่ต่างผิวพรรณ ต่างศาสนา ต่างทวีป แต่คนทุกคนก็อยากเป็นคนดี มีบ้านเมืองที่มีสุขกันทั้งนั้น ถ้าปราศจากการทุจริตโดยผู้มีอำนาจเสียแล้ว ประเทศก็จะพัฒนาได้ดีอย่างไม่ถูกใครขูดรีดไปครับ
สภาพแวดล้อมในกรุงคาบาโรเน
ในกรุงคาโบโรเน แดดแผดร้อน (แห้งๆ) มาก ขืนอยู่นานคงดำแน่ๆ ครับ
ภาพประธานาธิบดีมูกาเบและศรีภริยา จาก
www.theguardian.com/world/shortcuts/2014/sep/15/grace-mugabe-phd-award-first-lady-zimbabwe-university