AREA แถลง ฉบับที่ 23/2558: วันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2558
NGOs CSR ทุจริต ขวางความเจริญของชาติ
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
หลายท่านยังคงจำได้ว่า Dictionary Longman เมื่อปี 2536 {1} ที่เขานิยมว่ากรุงเทพมหานครคือนครแห่งโสเภณี ในขณะนั้นประเทศไทยประท้วงกันยกใหญ่ ทาง Longman ก็ออกมาบอกว่าได้ข้อมูลมาจาก NGOs แต่สุดท้ายเขาก็ยินดีที่จะแก้ไขนิยามกรุงเทพมหานครเสียใหม่ นี่เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่เราต้องใส่ใจการทำงานต่าง ๆ ของ NGOs ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ผมอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยได้มานำเสนอบทความทางวิชาการเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอาเซียนในการประชุมสมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Pacific Rim Real Estate Society) ซึ่งเป็นสมาคมของนักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ที่มาเลเซีย การจะเวนคืนที่ดินนั้น เขาไม่ฟัง NGOs มากนัก ตราบเท่าที่การเวนคืนนั้น เขาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ทางราชการสามารถเวนคืนสวนปาล์มน้ำมันหรือสวนยาง มาสร้างนิคมอุตสาหกรรม ก็ทำได้ เขาไม่ได้มองแคบ ๆ ว่าเป็นผลประโยชน์ของนายทุน แต่การที่นายทุนพัฒนาที่ดินแบบนี้ จะทำให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น เป็นผลดีต่อชาติ ยิ่งแนวคิดแบบดรามาไทย ๆ ว่าถ้าเวนคืนแล้วไม่ใช้ใน 5 ปี ต้องคืนเจ้าของ ทั้งที่จ่ายค่าเวนคืนไปแล้ว ยิ่งไม่มีในมาเลเซียแต่อย่างใด หากมาเลเซียมัวฟังพวก NGOs ก็คงทำอะไรไม่ได้
ในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ชาวบ้านมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับค่าทดแทนการเวนคืนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ หากจ่ายค่าเวนคืนต่ำไป ก็ต้องฟ้องร้องเอา และประชาชนก็มีโอกาสชนะ แต่จะไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาไม่ได้ จะอ้างว่าโครงการพัฒนาแล้ว ทำให้ที่ดินแถวนั้นดีขึ้น ตนควรจะได้ค่าทดแทนมากขึ้นไม่ได้ ตราบที่ทางราชการจ่ายค่าทดแทนให้ตามราคาตลาดหรือมากกว่าในขณะเวนคืน ยิ่งหากเป็นความผูกพันด้านจิตใจของบุคคลย่อมนำมาอ้างไม่ได้อย่างเด็ดขาด การขีดเส้นให้ชัดเจนอย่างนี้ ประชาชนก็จะตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด
ผมนึกไปนึกมาจึงทำให้อดเสียวสันหลังไม่ได้ว่า หากเมื่อ 20 ปีก่อน NGOs ไทย กล้าแข็งเช่นทุกวันนี้ ป่านนี้รึคงไม่ได้สร้างทางด่วนขั้นที่ 2 ที่คร่อมคลองประปา ยิ่งถ้าสะพานพระรามที่ 8 ไม่ใช่โครงการในพระราชดำริ ป่านนี้ก็คงไม่ได้สร้างเพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยอย่างแน่นอน แม้แต่สะพานพระปิ่นเกล้า ก็คงไม่ได้สร้าง เพราะถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงต้องสงวนไว้รักษาความเป็นไทย ๆ ไว้ ห้ามสร้างสะพานอย่างแน่นอน ชาวธนบุรีคงได้สะอื้นไห้ หาก NGOs เฟื่องในสมัยก่อน
ผมมาบรรยายนี้ได้พบกับศาสตราจารย์ชาวอินเดียที่มาร่วมบรรยายด้วย ผมได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับประเทศอินเดียที่มีการทุจริตทุกหย่อมหญ้าแม้แต่ในวงการ NGOs รัฐบาลอินเดียสั่งจับตา NGOs เหล่านี้ ซึ่งมีส่วนในการยุยงปลุกปั่นประชาชนให้ดื้อแพ่งกับโครงการต่าง ๆ ของทางราชการ รัฐบาลอินเดียเชื่อว่า NGOs เหล่านี้มีส่วนในการสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน {2}
เมื่อปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ Economist ได้ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับการทุจริตของ NGOs ในกรีก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง และความไม่โปร่งใสในการใช้เงิน ยังผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อความพินาศทางเศรษฐกิจและกีดขวางความเจริญของประเทศชาติ เช่น สะพานข้ามเมืองมุมไบ เขื่อนหรือโรงไฟฟ้า ก็ถูกทำให้ล่าช้าออกไปโดยพวก NGOs ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเสียหาย {3}
พวก NGOs ชอบขายความกลัว เอาความไมรู้ ความกลัว อันตรายต่าง ๆ มาขู่ให้ประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เกิดความวิตกกังวล บ่อยครั้งยังปะทุเป็นความรุนแรงขึ้นมาได้อีก นอกจากนั้นยังใช้ความน่ารัก น่าสงสาร ของคน สัตว์ สิ่งของมาทำให้เกิดความกลัว มาเพื่อจูงใจให้ผู้คนบริจาคให้กับ NGOs ต่าง ๆ ยิ่งในระดับโลกมีเครือข่าย การที่ทำการประท้วงเสียงดังในประเทศหนึ่ง ๆ ยังส่งผลให้ได้รับรางวัลหรือผลงานให้ “เข้าตา” NGOs ระดับโลกให้ได้เงินมาใช้สอยได้อีก ในประเทศไทยก็มีกองทุนให้เงิน NGOs ไปใช้ โดยที่จะมีความโปร่งใสหรือไม่ คงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่
จุดอ่อนสำคัญของพวก NGOs ก็คือการเงิน อาจคล้ายกับในวงการเมืองที่ขณะนี้ กลุ่มศิลปิน กปปส. ก็กำลังทวงเงินบริจาค 2,000 ล้านบาทจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่บวชเป็นพระอยู่ในขณะนี้ กรณีอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภที่ได้รับเงินบริจาคมากมายก็ตาม จะเห็นได้ว่า NGOs เหล่านี้จะไม่มีระบบการเงินที่ชัดเจน เงินไหลเข้า แล้วไหลออกไปเข้ากระเป๋าใครหรือเปล่า ก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ การช่วย NGOs จึงอาจเป็นการสร้างบาปเพิ่ม แทนที่จะได้บุญมาเติมก็ได้
ถ้าเราสังเกตให้ดี จะพบว่าพวกหัวหน้า NGOs ต่าง ๆ เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่ง ก็จะไปเล่นการเมือง เช่น สมัครเป็น สว. หรือรอรับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษา “เทกระโถน” ยิ่งสมัยนี้ยิ่งง่ายเพราะมีการสรรหา พวกหัวหน้า NGOs จึงกลายเป็น “ชนชั้นประชุม” หรือดูงาน แตะโน่นแตะนี่ไปเรื่อย แต่ไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน บางคนทำงาน NGOs มานาน จนมีฐานะมั่งคั่ง มีอสังหาริมทรัพย์มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลก
ในการทำดีทำประโยชน์ต่อสังคมหรือ CSR นั้น เราต้องระวังกับดักการรณรงค์สังคม อย่างการรณรงค์ปลูกป่าเป็นที่นิยมกันอย่างมาก เพราะทำง่ายดี และได้รับความสนุกสนาน จัดเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ได้ทางหนึ่ง การปลูกป่านั้น แม้ผู้ปลูกจะมีเจตนาที่ดีต่อสังคมและประเทศชาติ แต่ความดีที่บังเกิดนั้น ไม่ใช่ได้กับประเทศชาติเพราะเป็นการกระทำที่บิดเบือนและไม่มีประสิทธิผล ความดีนั้นบังเกิดกับคนทำดีเอาหน้ามากกว่ากับป่าไม้ของชาติ และป่าไม้ยังถูกทำลายปีละ 100 เท่าของพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่แทบไม่มีใครสนใจ มัวแต่ถูกหลอกให้ไปปลูกป่า
อีกกรณีหนึ่งก็คือเขื่อนแม่วงก์ เราเห็นการณรงค์ต้านเขื่อนแม่วงก์ เราอาจเห็นใจสัตว์เหลือเกิน แต่ความจริงแล้ว เราเข้าใจผิดหลายอย่าง ขืนไปร่วมรณรงค์ส่งเดช อาจเป็นที่ขัดเคืองของชาวบ้านได้เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ที่รู้เห็นเรื่องน้ำท่วมฝนแล้งเป็นอย่างดี เขาจะเอาเขื่อนถึง 71% หลายท่านอาจไม่รู้ว่าแม้แต่นงยูงที่แก่งลานนกยูง ก็เป็นนกยูงที่เลี้ยงไว้สร้างภาพ ไม่ใช่นกยูงธรรมชาติ การดรามามีมากจนเราที่จะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมตามแนว CSR พึงระวัง
การทำดีกับเสือ ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าพบเสือในป่าแม่วงก์ เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ก็มีข่าว "พบเสือโคร่งที่ อช.แม่วงก์" ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2557 ก็มีข่าว "ครอบครัวเสือโคร่งจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ ณ ผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน" ล่าสุดกันยายน 2557 ก็มีข่าว "เสือโคร่งจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ ณ ผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน" โดยในภาพ เสือก็อยู่บนภูเขาสูง ไม่ใช่ที่ตั้งเขื่อนแม่วงก์แน่นอน จะสังเกตได้ว่าการโกหกสร้างภาพมีเป็นระยะๆ
ความจริงคือจุดที่สร้างเขื่อนเป็นชายขอบป่า เสือคงไม่มา แต่ก็เคยมีการพบรอยเท้าเสือแต่อยู่ห่างไกลออกไป ที่สำคัญบริเวณนี้เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านและยังมีรีสอร์ตมากมาย มีจุดกางเตนท์ ซึ่งแสดงว่าไม่มีเสือจริง และจากประสบการณ์ในที่อื่น หากพบมีเสือ ก็จะถูกไล่ล่าจนได้ เพราะเป็นอันตรายต่อชาวบ้านทั่วไป อย่าลืมว่าที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียง 0.1% หรือ 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก (แม่วงก์-คลองลาน) ขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เขตที่เล็กที่สุดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร เสือคงไปอยู่ในพื้นที่ 99.9% ของผืนป่าลึกมากกว่า
ดังนั้นเราจึงอย่าได้ทำ CSR ที่ไร้ราก และสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ถ้าประเทศไทยปล่อยให้ NGOs กีดขวาง ทำลายผลประโยชน์ของชาติ สร้างความแตกแยกให้กับประชาชน เช่น กรณีเขื่อนแม่วงก์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการเขื่อน แต่ประชาชนกรุงเทพมหานคร ไม่ต้องการ ซึ่งทำให้คนต่างจังหวัดอยากถามคนกรุงเทพมหานครว่า ต่อไปจะสร้างรถไฟฟ้าต้องถามคนต่างจังหวัดบ้างหรือไม่ เป็นต้น
ประสบการณ์ในต่างประเทศนั้น เขาควบคุม NGOs อย่างเคร่งครัดว่า เงินเอามาจากไหนบ้าง มีการตรวจสอบ (ไม่ได้กีดกัน แต่ถ้าเป็นทองจริงต้องไม่กลัวไฟ) นอกจากนั้นในการใช้จ่ายเงิน ใช้จ่ายอย่างตรงประเด็นหรือไม่ เอาไปเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนหรือไม่ ซ้ำซ้อนกับภาครัฐหรือไม่ หรือกระทั่งเอาเงินไปทุจริตเข้ากระเป๋าหรือไม่
แต่ของประเทศไทย ถ้าประกาศตนเป็นคนดีเยี่ยง NGOs หรือกลุ่มที่ห้อยโหนสถาบันแล้ว ก็แทบไม่ต้องตรวจสอบ ซึ่งอาจกลายเป็นช่องโหว่ของการทุจริตและประพฤติมิชอบ และสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติในที่สุด
อ้างอิง
{1} Thais ban dictionary over 'city of prostitutes' slur. www.independent.co.uk/news/world/thais-ban-dictionary-over-city-of-prostitutes-slur-1483226.html
{2} Govt intensifies drive against NGOs, to scrutinize workings of 77 more organizations. http://timesofindia.indiatimes.com/india/Govt-intensifies-drive-against-NGOs-to-scrutinize-workings-of-77-more-organizations/articleshow/12105416.cms
{3} Economist: NGO Scandal, an Embarrassment for Papandreou http://greece.greekreporter.com/2014/02/21/economist-ngo-scandal-an-embarrassment-for-papandreou/
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|