AREA แถลง ฉบับที่ 30/2558: วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558
ภาษีมรดก ท่าทางคงเพี้ยนไปใหญ่
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
มีข่าวว่า "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา แก้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ใหม่ โดยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีจาก 50 เป็น 80 ล้านบาท และปรับลดอัตราจัดเก็บจาก 10% เหลือ 8%" http://goo.gl/YzU8Du นี่แสดงว่าระบบภาษีมรดกกำลังจะผิดเพี้ยนไป กลายเป็นปาหี่และไฟไหม้ฟางไปในที่สุด
ทั้งนี้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะมีการนัดพิจารณาวาระที่ 2 ให้เสร็จเรียบร้อย ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้ ส่วนกฎหมายการรับให้ในกรณีที่ผู้ให้ยังมีชีวิต ก็ได้มีการผ่อนผันมากกว่า โดยถือว่าพ่อ-แม่ ให้ทรัพย์สินลูกปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกินก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 5% แต่ทาง สนช. ก็จะพิจารณาว่ากฎหมายการรับให้ต้องทำคู่กันไปกับร่างกฎหมายภาษีมรดก เพราะถ้าไม่ทำ คนก็จะเลี่ยงไปยกให้กันหมด ตั้งแต่ยังไม่เสียชีวิต ซึ่งก็จะไม่เป็นมรดกจึงต้องออกมาคู่เพื่อป้องกันช่องโหว่ตรงจุดนี้
ระบบภาษีมรดกที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ไม่เหมาะสมอย่างไร ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ข้อคิดว่า การกำหนดให้เก็บ ณ ราคา 80 ล้านบาทนั้น เป็นราคาประเมินทางราชการ ซึ่งอาจต่ำกว่าราคาตลาด เพียงแต่ไม่มีมาตรวัดแน่ชัดว่าต่ำกว่ากันเท่าไหร่ เช่น หากสมมติว่าราคาประเมินทางราชการเป็นเพียง 60% ของราคาตลาด ก็เท่ากับว่าคนที่จะเสียภาษีต้องมีมรดกสูงถึง 133 ล้าน ซึ่งแทบไม่มีใครในประเทศไทยต้องเสียภาษีมรดกกันเลย
ในสหรัฐอเมริกา ราคาขั้นต่ำของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงิน 5.34 ล้านดอลลาร์ หรือ 172.319 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในระดับมลรัฐ ภาษีมรดกเก็บกับทรัพย์สินที่มีค่าตั้งแต่ 2 ล้านดอลลาร์ (64.5 ล้านบาท) ขึ้นไปโดยเก็บในอัตราสูงสุด 20% ในประเทศไทยของเรากำหนดให้เสียภาษีมรดกตั้งแต่ 80 ล้านบาทขึ้นไป
กรณีนี้ถือว่าเป็นขีดคั่นที่สูงเกินไป สหรัฐอเมริกามีอัตราค่าครองชีพสูงกว่าไทยประมาณ 5 เท่า ถ้าเราเอา 5 หารด้วย 64.5 ล้านบาทซึ่งเป็นขีดคั่นในระดับมลรัฐ ก็จะเป็นเงินไทยประมาณ 13 ล้านบาทก็ต้องเสียภาษีมรดกกันแล้ว ส่วนในกรณีอังกฤษ จะเสียภาษีมรดกก็ต่อเมื่อมรดกนั้นมีราคาเกินกว่า 325,000 ปอนด์หรือ 17 ล้านบาท แต่รายได้ประชาชาติต่อหัวของอังกฤษสูงกว่าไทยประมาณ 3.767 เท่า ดังนั้นถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็เป็นเงินราว 4.521 ล้านบาทขึ้นไป การกำหนดขีดคั่นของมูลค่าทรัพย์สินไว้สูงจนเกินไป ก็จะทำให้มีผู้ต้องเสียภาษีน้อยลงไปเป็นอย่างมาก
อีกประการหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คืออัตราภาษี ของไทยเราจะคิดเพียง 8% เพียงอัตราเดียว แต่ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กลับกำหนดในอัตราก้าวหน้า ใครมีปราสาทหรือวังเก่า ก็หนาวไปเลย ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นการขายปราสาทหรือวังเก่าเพื่อนำเงินมาเสียภาษี นี่ถ้ามีการเสียภาษีมรดกกันจริงจังเช่นในประเทศตะวันตก บรรดาวังเก่า เช่น วังสวนผักกาด ตำหนักปลายเนิน (วังคลองเตย) หรือวังวรดิศ ก็คงต้องเสียภาษีมรดกมหาศาล
ภาษีที่คู่มากับภาษีมรดกอีกอันหนึ่งก็คือภาษีจากการให้ (ไม่ใช่มรดกที่เกิดขึ้นหลังผู้ให้เสียชีวิต) โดยจะให้มีการเรียกเก็บภาษีการให้มรดกสำหรับทายาทชั้นที่ 1 ในอัตรา 5% สำหรับทรัพย์สินที่มีการโอนตั้งแต่ 11 ล้านบาทขึ้นไป กรณีนี้ก็เช่นกันอัตราค่อนข้างต่ำ เพราะการให้ทั่วไป เช่น กรณีชิงรางวัล ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่สูง อีกประการหนึ่งขีดคั่นที่เกิน 10 ล้านบาทนี้เป็นไปตามราคาประเมินทางราชการ ซึ่งอาจต่ำกว่าราคาตลาดมาก ผมเชื่อว่าในท้ายที่สุด กฎหมายภาษีการให้ก่อนเสียชีวิตอาจไม่ได้แก้ เพื่อให้คนรวยได้เลี่ยงภาษีกัน เข้าทำนองภาษิตกฎหมายที่ว่า "ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น"
ในทุกวันนี้ ดูเหมือนผู้มีอำนาจในประเทศไทย ซึ่งคงไม่ใช่นักการเมืองเสียแล้ว แต่เป็นข้าราชการประจำใหญ่ ๆ ที่ต่างก็มีทรัพย์สมบัติมากมาย เกลียดและกลัวการเสียภาษีเหลือเกิน แต่คนรวยพึงเข้าใจว่า สังคมที่คนรวยๆ จะอยู่ได้อย่างเป็นสุขนั้น คนรวยๆ ก็ต้องเสียภาษีมรดก หรือทุกคนต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทุกวันนี้ใครมีจักรยานยนต์ยังต้องเสียภาษีล้อเลื่อน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเลี่ยงภาษี ถ้าประเทศมีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป คนที่จะอยู่ยาก อยู่ไม่เป็นสุขก็คือพวกรวยๆ ล้นฟ้านี่แหละ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันเสียภาษี
แนวคิดการเสียภาษีมรดกมาจากการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมกัน อภิมหาเศรษฐีฝรั่งที่มีค่านิยมในการบริจาคเงินมหาศาลเพื่อสังคม เพราะเชื่อตามนายแอนดรูว์ คาร์เนกี อภิมหาเศรษฐีอเมริกันที่กล่าวว่า "คนที่ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างน่าอับอาย" (the man who dies thus rich dies disgraced) เขาบริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดให้การกุศลก่อนตาย เหลือไว้ให้ทายาทบางส่วน
คนไทยเราก็ควรได้คิดเหมือนกันว่า ถ้าเราจะให้ลูกหลาน สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะสามารถให้ลูกได้ก็คือการศึกษา การทำให้ลูกสามารถได้รับการศึกษาให้ได้ดีที่สุดและสูงที่สุด เป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดเพื่อลูกของเรา เพื่อเขาจะมีฐานะมั่นคง มีสติปัญญาและความสามารถในการพึ่งตนเองได้ และร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่รอแต่มรดกจากบุพการี
ผมเคยประกาศไว้ว่า ถ้า คสช. สามารถผลักดันภาษีมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ที่ไม่ใช่แบบเล่นปาหี่) ได้สำเร็จเช่นอารยะประเทศ ผมพร้อมจะกราบงาม ๆ แทบเท้าเลยครับ
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|