AREA แถลง ฉบับที่ 32/2558: วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558
ย้ายเมืองหลวง ความคิดฝันเฟื่อง
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงของไทยจาก "บางกอก" ไปสนามชัยเขต นครนายก ฯลฯ หรือช่วงหนึ่งเราก็ย้ายส่วนราชการออกจากเกาะรัตนโกสินทร์ ผมขอบอกว่านี่เป็นความคิดผิดเพี้ยนสิ้นดี ลองมาดูกันเพราะคงยังแทบไม่เคยมีใครบอกกับท่านผู้อ่านเช่นนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปประชุมวิชาการด้านที่อยู่อาศัยที่กรุงลอนดอนมา ผมเลยไปเดินเที่ยวชมกรุงลอนดอนอยู่ 2 วัน ผมก็ย่ำไปเรื่อยโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมือง เช่น สวนไฮด์ปาร์ค พระราชวังบัคกิงแฮม บิ๊กเบน อาคารรัฐสภา เดินไปถึงบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นที่พานักของนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ผ่านกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ไปจนถึงจัตุรัสทราฟัลการ์ ฯลฯ ในกรุงลอนดอน ส่วนราชการ วิหาร ราชวัง พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกัน นักท่องเที่ยวพากันเดินเหิน ชมสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจมากมายอย่างตื่นตาตื่นใจ
สิ่งหนึ่งที่ผมฉุกคิดขณะเดินก็คือทำไมเขาไม่ย้ายกรุงลอนดอนออกไปบ้าง หรือย้ายเฉพาะส่วนราชการออกนอกเมืองเช่นเมืองไทย ท่านทราบไหมลอนดอนมีอายุประมาณ 2,000 ปี ปารีสก็มีอายุพอ ๆ กัน นครหลวงในยุโรปล้วนมาอายุนับพันปี ยิ่งหากเป็นกรุงโรมยิ่งมีอายุถึง 2,800 ปี ทำไมเขาไม่คิดย้ายหรือได้ดำเนินการย้ายเมืองหลวงเฉกเช่นที่นักผังเมืองไทยคิดต่อกรุงเทพมหานครที่มีอายุเพียง 233 ปีบ้าง แนวคิดการย้ายเมืองหลวงคงมีข้อผิดพลาดอย่างแน่นอน
เมืองหลวงที่มีการย้ายได้สำเร็จนั้น ส่วนมากเป็นการย้ายเฉพาะส่วนราชการ เช่น กรุงเนปยีดอของเมียนมาร์ เมืองปุตราจายาของมาเลเซีย กรุงบราซิเลียของบราซิล กรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐอเมริกา กรุงแคนบราของออสเตรเลีย เป็นต้น และพออยู่นานไป เมืองเหล่านี้ก็เป็นเมืองโดยตัวมันเอง แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจยังมักอยู่ที่เดิม เช่น กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย นิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ซิดนีย์ของออสเตรเลีย เป็นต้น
การย้ายเมืองหลวงยังเป็นผลจากการเมือง เช่น การตั้งเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตกที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อกรุงบอนน์ แต่ภายหลังการรวมประเทศ ก็กลับมาใช้กรุงเบอร์ลินอีกครั้งหนึ่ง ในประเทศไทยก็เคยย้ายเมืองหลวงไปลพบุรีในสมัยพระนารายณ์มหาราช แม้แต่ในสมัยจอมพล ป. ก็ยังเคยคิดย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น แต่การย้ายแบบนี้มักไม่ถาวร ยกเว้นการย้ายแบบถอนรากถอนโคนเช่นการย้ายจากกรุงศรีอยุธยามากรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
ย้อนกลับมายังกรุงลอนดอน ปรากฏว่ารัฐบาลอังกฤษมีกระทรวงต่าง ๆ ถึง 24 แห่ง แต่ส่วนมากมักจะตั้งอยู่ในเขตใจกลางเมืองเป็นสำคัญเป็นสำคัญ น่าแปลกไหมอังกฤษมีประชากรพอ ๆ กับไทย เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่กลับสามารถใช้พื้นที่ในใจกลางเมืองทำการบริหารรัฐกิจโดยไม่ต้องย้ายออกไปนอกเมืองเช่นประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ชอบนักที่จะสร้างเมืองใหม่
สำหรับเมืองหลวงใหม่เมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงในประเทศกำลังพัฒนาสร้างกันขึ้นมาก็คือเมืองเกซอนซิตี้ โดยถือเป็นเมืองหลวงใหม่ของฟิลิปปินส์อยู่พักหนึ่ง นัยว่ากรุงมะนิลา "เน่า" เกินเยียวยา มีชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งคือสลัมทอนโด จึงมีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวง แต่ก็ไม่สำเร็จ เกซอนซิตี้กลับถูกควบรวมกลายเป็นเพียงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเขตนครหลวงมะนิลานั่นเอง
ต่อไปเชื่อว่าเมืองใหม่เช่นปุตราจายา ก็คงหนีไม่พ้นเป็นเมืองที่อาจไม่ประสบความสำเร็จนัก ผมเคยพาคณะดูงานอสังหาริมทรัพย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปเยี่ยมชมมาแล้ว เมืองนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสนามบินนานาชาติกับกรุงกัวลาลัวเปอร์ ห่างจากกรุงประมาณ 38 กิโลเมตร การจัดผังเมืองที่นี่จัดได้หลวมมาก ต้องเดินทางกันด้วยรถยนต์สถานเดียว ตามแผนเดิมปุตราจายาจะมีรถไฟฟ้ามวลเบาระยะทาง 18 กิโลเมตร 23 สถานี แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะการกระจัดกระจายตัวของส่วนต่าง ๆ ของเมืองมากเกินไปนั่นเอง
บางคนกลัวโรค "โลกร้อน" ขึ้นสมอง แต่ความจริงไม่พึงตกใจกลัว ดูอย่างสิงคโปร์ยังนิ่งสนิท อย่าให้ใครเป่าหูเรื่องโลกร้อน ประเทศในยุโรปทั้งเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก มีเมืองที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เขาก็ยังอยู่ได้ แถมทำเกษตรกรรมได้ การที่น้ำเซาะชายฝั่งเล็กน้อยแถวทะเลบางขุนเทียนเพราะการตัดไม้ทำลายป่าโกงกางนั้น ไม่มีผลต่อการจมของกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด วัดเจดีย์หอยที่ตั้งอยู่ชายแดนปทุมธานีกับอยุธยานั้น มีหอยนางรม มีทรายมากมายเป็นประจักษ์หลักฐานสำคัญว่าทะเลเคยกินลึกเข้าไปถึงนั่นหรือถึงนครสวรรค์เลยทีเดียว ในความเป็นจริงทะเลถูกแผ่นดินกินไปต่างหาก
"วาระซ่อนเร้น" ของการย้ายเมืองหลวงนั้น อาจเป็นเพราะข้าราชการที่ต้องการจะสร้าง "อัครสถาน" ให้ตนเองได้ทำงานโดยถลุงงบประมาณไปเป็นอันมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย ลองนึกดูว่าศูนย์ราชการที่สร้างขึ้นที่แจ้งวัฒนะ ถ้าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของเอกชน จะก่อสร้างอาคารแบบหลวม ๆ เช่นนี้หรือ มีใครเคยเดินจากถนนแจ้งวัฒนะเข้าไปจนถึงอาคารศูนย์ราชการบ้างไหม ส่วนมากคงไม่เพราะไกลกันเหลือเกิน)
ยิ่งกว่านั้นการที่มีข่าวว่าจำนวนนายพลไทยยังมีมากกว่าสหรัฐอเมริกา แสดงว่าระบบราชการไทยใหญ่โตเทอะทะเกินเหตุ ใช้เงินงบประมาณ ใช้สถานที่มากเกินความต้องการ อย่างงบประมาณแผ่นดินไทยปีหนึ่ง ๆ ค่าใช้จ่ายหลักประมาณ 70-80% ก็คือค่าจ้างข้าราชการและค่าใช้จ่ายประจำ เงินลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศเป็นเพียงส่วนน้อย ด้วยระบบราชการที่ใหญ่โตเช่นนี้จึงทำให้ต้องย้ายออกจากเขตใจกลางเมืองเดิม
ความคิดผิดเพี้ยนของการย้ายเมืองอีกอย่างหนึ่งก็คือ การอ้างถึงการรักษาศิลปวัฒนธรรมหนึ่งจนทำลายศิลปวัฒนธรรมอีกอันหนึ่ง คิดง่าย ๆ ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นสมัยนี้ เราคงไม่มีโอกาสสร้างสะพานพระปิ่นเกล้า เพราะคงถูกหาว่าไม่ต้องตามการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ เราถึงขั้นทำลายอาคารศาลฎีกาเดิม เพียงอ้างว่าไม่ต้องกับอาคารแบบ "รัตนโกสินทร์" ทั้งที่ในวังหลวงเองก็มีอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปมากมาย เรา "บ้า" เข้าขั้นถึงขนาดทุบศาลาเฉลิมไทย ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ทั้งที่อาคารก็ยังแข็งแรงกว่าศาลาเฉลิมกรุงด้วยซ้ำ ดูอย่างลอนดอน ปารีส ฯลฯ อาคารศิลปกรรมสมัยใหม่และเก่ากลับอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่อายกัน
แต่เดิมสนามหลวงเป็นศูนย์รวมรถประจำทาง ก็ถูกยกเลิกไป อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถือเป็นใจกลางเมือง กม.0 ของ กรุงเทพมหานคร ก็ไร้ความหมาย รถไฟฟ้าที่จะวิ่งข้ามสะพานพระราม 7 ก็เป็นหม้าย แม้จะสร้างสะพานรถไฟฟ้าเตรียมไว้แล้วก็ตาม ดังนั้นใจกลางเมืองของไทยจึงขาดการพัฒนาเพราะขาดระบบขนส่งมวลชน และค่อย ๆ เหี่ยวเฉาลงไป ทั้งเยาวราช สำเพ็ง บางลำพู ฯลฯ ศูนย์กลางเมืองก็ขยายไปออกไปรอบนอกอย่างไร้ทิศผิดทาง
ถ้าเรารักษาใจกลางเมืองไว้อย่างยุโรปหรือโตเกียว โอซากา โซล เราก็ควรวางระบบขนส่งมวลชนที่ดี แต่นี่เรากลับล้มเลิกไปหมด หรือถ้าจะสร้างเมืองใหม่ ก็สร้างชิดติดกับใจกลางเมืองเดิม ไม่ใช่สร้างออกไปนอกเมือง เช่น การสร้างผู่ตงที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ถูเทียมที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางโฮจิมินห์ซิตี้ ดีซีซิตี้ที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางกรุงเวียนนา ก็ยังทำได้
ยิ่งกว่านั้นทางเลือกหนึ่งในการขยายเมืองก็คือ การ "สร้างเมืองซ้อนเมือง" โดยเอาสถานที่ราชการ เช่น ท่าเรือ ค่ายทหาร หรืออื่น ๆ มาสร้างเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ใหม่ ในกรุงลอนดอนก็มีการแปลง London Docklands มาใช้เพื่อการพาณิชย์ ในกรุงมะนิลาก็ย้ายค่ายทหารใจกลางเมืองออกไปทำศูนย์การค้า ท่าเรือคลองเตยและที่ดินรถไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีพื้นที่รวมกันเกือบ 3,000 ไร่ สามารถมาสร้าง CBD ในใจกลาง CBD ได้เลย
ไทยควรวางผังเมืองที่ดีเยี่ยงอารยประเทศ ถ้ายังวางผังเมืองส่งเดชเช่นทุกวันนี้ ยิ่งจะไม่เป็นคุณต่อส่วนรวม โปรดสังวร
อาคารสมัยเก่าและใหม่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ภาพรวมของลอนดอนยุคใหม่ ที่ไม่ยึดติดกับอาคารเก่าๆ
บ้านพักนายกฯ พร้อมกระทรวงต่างๆ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|