เมื่อวันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ ก็มีข่าวว่า "เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยว่า "จีดีพีขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว. . . รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พอใจที่เห็นตัวเลขจีดีพีขยายตัว 0.7% และเเนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยลง" (
http://goo.gl/NIVZwJ) ข้อนี้ผมเกรงว่าท่าน รมต. จะไม่กล้าบอกภาพที่แท้จริงแก่ท่านนายกฯ
ผมจึงขออนุญาตให้ข้อมูลอีกด้านแก่ท่าน เผื่อได้นำไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชาติ เพราะหากรัฐบาลมีชุดข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นำไปสู่วางแผนการพัฒนาประเทศผิดพลาดไป จึงนำเสนอข้อมูลจากการวิเคราะห์ล่าสุดของธนาคารโลก (
http://goo.gl/RbohUJ) เพื่อท่านนายกฯ ตลอดจนองคาพยพต่าง ๆ ของรัฐบาล และแม้แต่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปจะได้สังวรไว้ ดังนี้:
1. ความจริงคือเศรษฐกิจโลกกำลังเติบโตไม่ได้ซบเซาลงดังที่สภาพัฒน์และรองนายกฯ อ้าง โดยผลการวิเคราะห์ของธนาคารโลกในเดือนมกราคม 2558 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดแท้ ๆ พบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกระหว่างปี 2555-2560 อยู่ที่ 2.4% 2.5% 2.6% 3.0% 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ แสดงว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วง "ขาขึ้น" ไม่ใช่ "ขาลง" หรือ "ขาขึ้นก่ายหน้าผาก" แต่อย่างใด
2. ที่ว่าเศรษฐกิจโลกมีปัญหานั้นก็มีส่วนจริง แต่เป็นเฉพาะรัสเซียที่ยังจะตกต่ำต่อเนื่องในปี 2558 โดยจะถึงก้นบึ้งในปี 2559 และจะเริ่มฟื้นในปี 2560 ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น ในช่วงปี 2557-2559 ต่างฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ สิ่งที่สะท้อนจากประเทศไทยก็คือ ขณะนี้อย่างภูเก็ต ก็ได้เงินหมุนเวียนจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก นักท่องเที่ยวรัสเซียก็แผ่วไปแล้ว
3. การที่ประเทศไทยเราคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ 0.7% นั้น ในสายตาของธนาคารโลกล่าสุด กลับคาดการณ์ไว้เพียง 0.5% เท่านั้น ต่ำกว่าการคาดการณ์ของไทยเสียอีก กรณีนี้อาจชี้ว่าตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 0.7% ที่ทางราชการระบุไว้สำหรับปี 2557 นั้นอาจยังสูงกว่าความเป็นจริง ก็เป็นไปได้ ทางราชการอาจจะไม่ต้องการให้ประชาชนตกใจ จึงปรับตัวเลขให้ดูดีขึ้นสักหน่อย
4. สำหรับอนาคตการเติบโตของประเทศในเอเซียแปซิฟิก นั้น ธนาคารโลกได้แสดงผลการวิเคราะห์ไว้ดังนี้:
จะเห็นได้ว่าไทยเคยนำหน้าอินโดนีเซียในด้านอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาก่อนและนำมายาวนานแม้กระทั่งปี 2555 แต่นับแต่ประเทศไทยมีปัญหา การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2556 ก็ลดลงอย่างเด่นชัด ในขณะที่อินโดนีเซียก็ยังเติบโตแม้ในอัตราที่ต่ำลงเล็กน้อย ในปี 2558-2560 แม้ประเทศไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเป็น 3.5% 4.0% และ 4.5% ตามลำดับ แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่ 6.7% อย่างเด่นชัดมาก ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าประเทศในภูมิภาคนี้ต่างก้าวกระโดดไปข้างหน้า ขณะที่ประเทศไทยยังกำลังฟื้นตัวอยู่
หากพิจารณาจากว่าตัวเลขรายได้ประชาชาติอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านล้านบาท (http://goo.gl/G8yZFx) การที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลอ้างที่ 0.7% นั้น อาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็นที่ 4% ในภาวะการเมืองปกติ ดังนั้นรายได้ที่หายไปจากประเทศไทยจึงเป็นเงินถึง 420,000 ล้านบาท (ลดต่ำกว่าที่ควรไป 3.3%) หากประเทศไทยไม่มีปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 จนนำไปสู่รัฐประหารเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว ประเทศไทยคงมีความเจริญมากกว่านี้ ประชาชนคงมีความสงบสุขกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรณีนี้สะท้อนออกมาเป็นการเปลี่ยนแปลงราคาที่อยู่อาศัย โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา บ้านในกรุงลอนดอน ราคาเพิ่มขึ้นถึง 18% (http://goo.gl/6F2K6C) ในขณะที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 8% ในสหรัฐอเมริกา (http://goo.gl/llCSzJ) ในขณะที่ในกรุงเทพมหานคร บ้านที่มีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้ว มีราคาเพิ่มขึ้นเพียง 0.68% (http://goo.gl/hbq9ey) แต่บ้านใหม่ในตลาดอาจมีราคาเพิ่มสูงกว่านี้ ดังนั้นประเทศที่เศรษฐกิจดี ราคาบ้านก็จะเพิ่มขึ้นสูงด้วยเช่นกัน ว่ากันว่าในขณะนี้ถ้าคนไทยเรามีเงิน น่าจะไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในรัสเซีย เพราะราคาจะตกไปเหลือเพียง 60% ถือไว้อีก 3 ปีค่อยขายจะได้กำไรดี (พึงสังวร)
สำหรับทางเลือกที่รัฐบาลเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมากแล้ว แม้จะสามารถลดต่ำลงได้อีกก็ตาม แต่ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่างหากที่น่าจะมีปัญหาว่าห่างกันมากจนเกินไป เพราะสถาบันการเงินต่าง ๆ มีกำไรดีเพราะส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนี้ หากเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินเปิดเสรี หรือให้ต่างชาติมาร่วมแข่งขันอย่างเสรี จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง เป็นคุณต่อเศรษฐกิจของชาติเช่นกัน
สำหรับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) สำรวจพบว่าการเปิดตัวของโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภท (แนวราบและอาคารชุด) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2557 ที่ผ่านมา สรุปครบ 12 เดือนแล้วพบว่า ลดลงกว่าปี 2556 โดยปี 2557 เปิดตัวรวมกัน 114,094 หน่วย รวมมูลค่า 344,549 ล้านบาท ลดลงกว่าปี 2556 ในแง่จำนวนหน่วย 13% และในแง่มูลค่า 11%
ในปี 2558 นี้ คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวกว่าปี 2557 ซึ่งมีวิกฤติทางการเมือง โดยน่าจะฟื้นตัวอยู่ที่ 10% แต่ก็คงยังไม่มากเท่าปี 2556 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก็ยังไม่แน่ว่าจะมีการเติบโตได้เท่าที่คาดการณ์หรือไม่ เพราะเชื่อว่าการเมืองไทยอาจจะร้อนระอุขึ้นในเวลาไม่ช้าไม่นาน และการลงทุนของภาครัฐอาจสะดุดหยุดลงได้เช่นกัน
ดูจากภาพเศรษฐกิจโลกแล้ว เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ของไทยไม่น่าหนักใจ มีโอกาสเติบโตเช่นนานาอารยประเทศ ขอเพียงให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่แท้จริงตามที่รัฐบาลสัญญาว่า "อีกไม่นาน" ยิ่งในขณะนี้คู่แข่งของไทยเราคืออินโดนีเซีย กำลังโฆษณาชวนเชื่อให้คนไปลงทุนประเทศเขา เพราะบ้านเมืองของเขามีความสงบสุข มีประชาธิปไตย ไม่มีรัฐประหาร อะไรทำนองนี้ การนี้ถือเป็นการข่มไทยในที
มาเอาใจช่วยรัฐบาลพัฒนาชาติให้ถูกทางหน่อยครับ
ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกากำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ราคาบ้านในลอนดอนกำลังดีวันดีคืนสวนทางกับรัสเซีย
บ้านในนครดีทรอยท์เคยเหลือราคา 1 เหรียญในยามเศรษฐกิจตกต่ำ