จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ขอนำเสนอเรื่องอาคารของไทยยังแข็งแรงแม้มีแผ่นดินไหวเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดจากนักลงทุนต่างชาติ
เมื่อวันที่ 4 เมษายน ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายในกลุ่มอาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการ ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม - 3 เมษายน พบว่า
1. ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น จำนวน 5,555 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 5,203 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 304 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 48 อาคาร (0.86%)
2. ในต่างจังหวัด จำนวน 5,057 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ (สีเขียว) จำนวน 4,749 อาคาร มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ (สีเหลือง) จำนวน 262 อาคาร ส่วนอาคารที่โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร (สีแดง) จำนวน 46 อาคาร (0.91%)
3. ในกรุงเทพมหานครจำนวน 175 หน่วยงาน 498 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ (สีเขียว) จำนวน 454 อาคาร มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ (สีเหลือง) จำนวน 42 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร (สีแดง) จำนวน 2 อาคาร (0.4%) เท่านั้น
แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเลย ยกเว้นที่อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพียงแห่งเดียวซึ่งคงเป็นเพราะปัญหาที่อาจเกิดจากทุจริตในวงราชการ โดยต้องมีการสืบสวนต่อไป ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารแต่อย่างใด
การที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเลย แสดงถึงมาตรฐานระดับโลกของการก่อสร้างอาคารสูงในประเทศไทย กรณีนี้น่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในคุณภาพของอาคารสูงในไทย อาคารชุดไทยได้รับการดูแลโดยนิติบุคคลอาคารชุดที่มีหน้าที่จัดการทรัพย์ส่วนกลางและจัดเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของร่วม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคาร
อาคารชุดต่างๆ ในประเทศไทยมีการประกันความเสียหายเพื่อคุ้มครองอาคารชุดในทุกอาคาร โดยเฉพาะโครงการอาคารชุดที่เปิดระหว่างปี 2550-2568 ในกรุงเทพมหานครที่เปิดตัวสะสมมากว่า 20ปี ประมาณ 5,994 โครงการ มีวงเงินคุ้มครองความเสียหายรวมกว่า 3.8 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ปีหนึ่งๆ อาคารชุดจ่ายเบี้ยประกัน ปีละกว่า 2,200 ล้านบาทในปีปัจจุบัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งยังรวมถึงการชดเชยความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นภายในห้องชุดแต่ละห้องอีกด้วย
ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยอาจยังกลัวการอยู่อาศัยในอาคารชุดหลังเกิดแผ่นดินไหว แต่ก็คงเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ค่าซ่องแซมที่อยู่อาศัยเป็นเงิน 10-15% ของมูลค่า (ถ้ามี) แต่หากขายลดราคาไปเหลือ 50% ผู้ขายก็จะสูญเสียมากกว่าแผ่นดินไหนเสียอีก แต่ก็อาจเป็นโอกาสของผู้ที่จะสามารถซื้อห้องชุดในราคาถูกได้เช่นกัน