เนื่องในวันมาฆะบูชา ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะที่เผยแพร่ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ จึงขอนำเสนอข้อคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือ
ที่มาของรูป: http://board.palungjit.org/8226138-post1.html
พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้อวตาร หรือถูกสวรรค์ส่งมายังโลกนี้ นี่คือความจริงที่ไม่อาจบิดเบือน แต่ในภายหลังพระพุทธเจ้ากลับถูกยกฐานะให้แปลกแยกไปจากความเป็นมนุษย์ พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นมนุษย์สามารถบรรลุธรรมสูงสุดได้ มนุษย์คนอื่น ๆ ก็สามารถถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างในการบรรลุธรรมได้เช่นกัน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เขียนข้อคิดต่างนี้จากการอ่านหนังสือ คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่ ที่แปลมาจากหนังสือ Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha ซึ่งเป็นหนังสือพุทธประวัติที่เขียนโดยภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง
ฝึกฝนเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า
มนุษย์ผู้กลายเป็นศาสดานี้ ศึกษาจนรอบรู้ทั้งศาสตร์และศิลปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง สมัยที่ยังเป็นเด็กนั้นศึกษาจนเก่งคณิตศาสตร์อย่างหาใครเทียบไม่ได้ มีความตั้งใจเรียนด้านภาษาและประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังฝึกฝนกีฬาจนชนะเลิศในการแข่งขันทุกประเภท ทั้งยิงธนู ฟันดาบ ขี่ม้า และยกน้ำหนัก พระพุทธเจ้าพยายามอย่างยิ่งยวดในการแสวงหาโอกาสศึกษา
ก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้ายังศึกษาคัมภีร์ศาสนาอื่นจนหมดสิ้น น้อมใจเป็นศิษย์ในหลายสำนักโดยพำนักแห่งละ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง จนพลังภาวนาและพลังสมาธิแก่กล้ายิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบหนทางที่แท้จริงได้ในช่วงแรก นี่แสดงชัดว่าผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ต้องศึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่องจนรอบรู้และรู้แจ้ง เพื่อนำความรู้มาสังเคราะห์ด้วยตนเองในที่สุด
ความจริงข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า ลำพังการบำเพ็ญเพียรในป่า หรือการยึดถือแต่คัมภีร์ ไม่ใช่หนทาง (เดียว) ที่จะบรรลุธรรมได้ หากต้องมีความรอบรู้อย่างยิ่งยอดในความเป็นจริงที่เอนกอนันต์ของชีวิต
ผู้ตื่นรู้จากความเชื่อเดิม
พระพุทธเจ้าหมายถึงบุคคลผู้ตื่น และมีความรู้แจ้งว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งมีทั้งความเกื้อหนุน ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ต่อกันและกัน พระพุทธเจ้าบรรลุถึงหนทางไปสู่การดับทุกข์ในระดับต่างๆ ตามศักยภาพของมนุษย์แต่ละคน พระพุทธเจ้าสอนว่าบุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชาอย่างงมงาย และไม่อาจกำจัดความโกรธความกลัวได้ด้วยการเก็บกดความรู้สึก ต้องใช้ปัญญาให้เกิดการรู้จริงถึงต้นเหตุปัญหา
พระพุทธเจ้ายังกล่าวว่า คำสอนเป็นวิธีการเพื่อบรรลุความจริง แต่มิใช่เป็นตัวความจริงเอง เป็นมรรควิธีแห่งการปฏิบัติ มิใช่เป็นคัมภีร์หรืออะไรที่มีไว้สำหรับยึดถือหรือบูชา ดังนั้น ใครก็ตามแม้อ่านและจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่อาจรู้แจ้ง คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่สิ่งลี้ลับยากเย็น เพราะแม้แต่เด็ก ๆ วรรณะจัณฑาลผู้ไม่มีการศึกษา ก็ยังฟังเข้าใจ
พระพุทธเจ้าเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์โดยกล่าวว่า หากการหมายรู้ของบุคคลถูกต้องแม่นยำ (ด้วยการใช้ข้อมูล ความรู้ และปัญญา) ความจริงก็จะปรากฏ พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อและยอมรับสิ่งที่สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึก สิ่งที่บัณฑิตผู้มีคุณธรรมและปัญญายอมรับและสนับสนุน และสิ่งที่เมื่อปฏิบัติแล้วสามารถยังประโยชน์และความสุขแก่ทุกฝ่าย คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่อิงกับศรัทธาความเชื่อที่ห้ามโต้แย้ง พระพุทธเจ้า สอนให้เคารพเสรีภาพทางความคิดอย่างแท้จริง
ความเป็นมนุษย์ของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็มีความรู้สึกส่วนบุคคลเหมือนคนทั่วไป เช่น โปรดประทับภาวนาในป่าประดู่ลาย เคยดุว่าพระราหุล หรือรู้สึกสลดในยามที่ภิกษุกลุ่มหนึ่งไม่ใส่ใจรับฟังคำชี้แนะ พระอรหันต์ เช่น พระสารีบุตรก็รู้สึกสลดนับแต่พระโมคคัลลานะถูกฆาตกรรม จึงเก็บตัวอยู่แต่ในกุฏิ จนพระพุทธเจ้าไปเยี่ยมปลอบใจ เป็นต้น
ในด้านศิลป พระพุทธเจ้าเป่าขลุ่ยได้ ชื่นชมสิ่งอันสุนทรีย์โดยไม่ถูกครอบงำด้วยความสวยงามหรือความน่าเกลียด นอกจากนี้ ยังเคยฝึกเลียนเสียงช้างจนเหมือน ครั้งหนึ่งในยามคับขันเมื่อช้างดุร้ายเชือกหนึ่งวิ่งตรงเข้ามา พระพุทธเจ้าเปล่งเสียงช้างออกมาดังสะท้านจนช้างเชือกนั้นหยุดชะงักทันที แต่เรื่องนี้ เราก็อาจตีความเป็น “พุทธานุภาพ” ซึ่งก็สุดแท้แต่ความเห็นในยุคหลัง
พระพุทธเจ้าเคยแก้ไขคำพูดของพระองค์ให้ถูกต้อง กล่าวคือ ครั้งหนึ่งแนะนำให้พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) บอกแก่หญิงผู้หนึ่งว่า ตั้งแต่พระอหิงสกะเกิดมา ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใด พอพระอหิงสกะทักว่า ถ้ากล่าวเช่นนั้นอาจตีความเป็นการพูดเท็จ พระพุทธเจ้าจึงแนะให้พระอหิงสกะกล่าวใหม่ให้ชัดเจนว่า นับแต่วันที่ตนถือกำเนิดในอริยธรรม ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใดเลย เป็นต้น
ต่อครอบครัวและความรัก
พระพุทธเจ้ากล่าวสัจพจน์สำคัญว่า “ที่ใดที่รัก ที่นั่นมีทุกข์” เพราะหากสูญเสียสิ่งที่ผูกพันไป ก็เสียดาย โดยเฉพาะความรักและความยึดมั่นที่มีราคะ ตัณหา และความยึดติด เป็นสาระสำคัญ แต่ก็ยังมีความรักอีกประเภทหนึ่งที่ประกอบไปด้วยความปรารถนาดีและต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หรือที่เรียกว่า เมตตาและกรุณา ซึ่งถือเป็นความงามประเภทเดียวที่ไม่จางหายและไม่ก่อให้เกิดความทุกข์
พระพุทธเจ้าแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมเป็นอย่างดี เช่น การระมัดระวังในการปฏิบัติต่อสงฆ์กลุ่มที่เป็นญาติโดยไม่ให้สิทธิพิเศษใด การเข้มงวดแม้กระทั่งภิกษุณีมหาปชาบดี หรือพระโอรส คือ พระราหุลก็ไม่เคยนอนในกุฏิเดียวกับพระพุทธเจ้า พระราหุลยังเคยปรารภว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยปฏิบัติต่อท่านอย่างชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) กลับได้รับคำยกย่องอย่างสูงยิ่งในฐานะโจรกลับใจผู้มีความอดทนสูงส่ง เป็นต้น
มองในสิ่งที่เคยเชื่อด้วยมุมมองใหม่
ปกติเราเชื่อว่าภิกษุไม่ควรสัมผัสสตรี แต่องค์ทะไล ลามะ และท่านภิกษุ ติช นัท ฮันท์ สัมผัสมือกับสตรี เมื่อพระพุทธเจ้าไปหาพระนางยโสธรา ก็ยังสัมผัสมือกัน หรือพระราหุลสมัยเป็นสามเณรก็ยังเคยสวมกอดพระมารดา เป็นต้น ข้อนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่แตกต่างระหว่างพุทธศาสนาแบบไทยกับแบบอื่น ซึ่งแสดงว่าเราควรใช้วิจารณญาณศึกษาเชิงเปรียบเทียบ ไม่ใช่เชื่อแต่สิ่งที่เคยได้ยินมา
กรณีอดีตชาตินั้น มีกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นการเกิดและตายทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกรณีนี้คงขึ้นอยู่กับการตีความ หากตีความอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็หมายถึงว่า “สสารไม่สูญหายไปไหน” พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า “ก่อนที่ตถาคตจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ตถาคตเคยเป็นดินและก้อนหิน เคยเป็นต้นไม้ เป็นนก และในชาติปางก่อน พวกเราล้วนเคยเกิดเป็นตะไคร่ หญ้า ต้นไม้ ปลา เต่า นก” เป็นต้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าคงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นวัฏจักรของสรรพสิ่งเป็นสำคัญ
ปัญหาสังคมในมุมมองใหม่
ในสมัยพุทธกาล ความยากจนของชาวนา ปัญหาเด็กพิการ ขอทาน การเจ็บป่วย เป็นปัญหาที่แม้แต่กษัตริย์ก็ไม่มีอำนาจที่จะแก้ไข อำนาจของกษัตริย์เปราะบางและมีอยู่อย่างจำกัด ในสมัยนั้น แม้พระเจ้าสุทโธทนะจะทราบว่าขุนนางละโมบและฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ก็จำต้องอาศัยพวกขุนนางทุจริตเหล่านี้รักษาบัลลังก์ ขุนนางเหล่านี้ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อมุ่งปกป้องและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ใช่มุ่งขจัดความทุกข์ยากให้ผู้ยากไร้ พระพุทธเจ้าได้เห็นความเป็นจริงข้อนี้จึงไม่คิดที่จะเป็นกษัตริย์
อาจกล่าวได้ว่า การทำทานก็ช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ยากไร้ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทางออกที่ดีจริง อาชญากรรมและความรุนแรง เป็นผลพวงของความอดอยาก ยากจน วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือประชาชน และช่วยให้ประชาชนมั่นคงปลอดภัยดี ก็คือการมุ่งสร้างเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ โดยการจัดสรรทรัพยากร ทุน และจัดการภาษีอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นต้น
สร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน
ในอินเดียโบราณ ประชาชนถูกครอบงำกดขี่จากพวกนักบวชศาสนาอื่น โดยประชาชนที่ยากจนก็ต้องยอมเสียเงินให้นักบวชเหล่านั้น เพื่อรับการทำพิธีศาสนาที่ถูกต้องตามแบบแผน แต่พระพุทธเจ้ากลับทรงมุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาลทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ แต่ทำไมในทุกวันนี้ พุทธศาสนากับศาสนาดังกล่าวกลับแยกกันแทบไม่ออก ใครทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ ใครเป็นคนเสริมต่อ และใครได้ประโยชน์จากการนี้
การช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมือง และการสงครามของกษัตริย์นครต่าง ๆ ในสมัยนั้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน พระพุทธเจ้าก็เคยห้ามศึกแย่งน้ำทำนากันในหมู่ญาติ นี่แสดงว่าหากกษัตริย์หรือข้าราชการไม่ได้รับการควบคุมที่ดี ประเทศไม่ได้เป็น “ประชารัฐ” ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ ก็ย่อมก่อสงครามจนประชาชนได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า
ในการเขียนถึงพระพุทธเจ้า เรามักใช้คำราชาศัพท์ พระพุทธเจ้าก็เคยเป็นเจ้าชายมาก่อน และหากครองราชย์ ก็อาจเป็นมหาจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้ากลับไม่ต้องการอยู่ในวรรณะนี้ แต่ ประสงค์จะใช้ภาษาและคำพูดธรรมดา ดังนั้นการใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า แม้ในแง่หนึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นการไม่นำพาต่อความตั้งใจของพระพุทธเจ้าในการสละวรรณะนี้ การใช้คำราชาศัพท์ก็เท่ากับการผูกพันพระพุทธเจ้าไว้กับวรรณะนี้
โปรดสังเกตว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ถือตน โดยสมัยที่ลาจากวรรณะเดิมมาบำเพ็ญเพียร เด็กชายวรรณะจัณฑาลให้หญ้ามาใช้ปูนั่ง ก็ยกมือไหว้ขอบคุณ สมัยตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับเป็นการขอบคุณ พระพุทธเจ้าเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังช่วยขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุดังกล่าวอีกด้วย
การที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถบรรลุธรรม จนประกาศศาสนาให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจมานับได้ 2551 ปีเช่นนี้ ทำให้เห็นชัดถึงศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและจิตใจอย่างอเนกอนันต์ได้ เราจึงต้องเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถเป็นอิสระจากอวิชชาด้วยการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาสังเคราะห์ด้วยปัญญาให้รู้จริง
พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่เราเข้าถึงได้ และอย่าลืมว่า “บุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชา