ขณะนี้มีกรณีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการสร้างทางเชื่อมระหว่างห้างเซ็นทรัลแอมบาสซีกับเซ็นทรัลชิดลมผ่าน อาคารสำนักงานของกลุ่มเซ็นทรัลโดยพาดอยู่เหนือทางสาธารณะคือซอยสมคิด กรณีนี้ควรเป็นทางสาธารณะ หรือมีค่าทดแทนอย่างไรหรือไม่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส มีข้อคิดเห็นและประสบการณ์ในต่างประเทศมานำเสนอ
การก่อสร้างในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เช่น การสร้างทางเชื่อมของห้างมาบุญครองเซ็นเตอร์ข้ามถนนพญาไท ซึ่งดำเนินการมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยไม่มีการร้องเรียนใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในสมัยนั้นสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน หรือเอ็นจีโออื่น ยังไม่เกิดขึ้น และตัวนายกสมาคมยังเป็นเด็กไม่ประสีประสาอยู่ในขณะนั้น
อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งก็คือ การก่อสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบซึ่งเป็นทางสาธารณะเช่นเดียวกับซอยสมคิดของโครงการสยามพารากอน ออกไปสู่ถนนเพชรบุรีเพื่อการระบายการจราจร คลองดังกล่าวเคยเป็นคลองชลประทานของกรมชลประทาน แต่ที่ดินสองฝั่งซึ่งเป็นของชลประทาน ในภายหลังตกเป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ดังนั้นสยามพารากอน จึงต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างสะพานบนที่ดินของกรมธนารักษ์ผ่านคลองแสนแสบ
สำหรับกรณีศึกษาในต่างประเทศนั้น การสร้างทางเชื่อมระหว่างห้างหรืออาคารต่าง ๆ นั้น ปรากฏได้ชัดเจนในอาคารต่าง ๆ ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองของสิงคโปร์ โดยเฉพาะฮ่องกงซึ่งมีมากที่สุด ทำให้การเดินทางในพื้นที่ศูนย์ธุรกิจไม่ต้องเดินบนถนน แต่เดินได้ระหว่างอาคารต่าง ๆ ยิ่งกว่านั้นในใจกลางมหานครของสหรัฐอเมริกา ก็ส่งเสริมการสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคาร ซึ่งขนานนามว่า “สกายวอร์ก (Skywalk)” เช่น ณ นครเซนต์ปอล มลรัฐมินนีอาโปลิส เป็นต้น
ประเด็นสำคัญก็คือ รัฐบางท้องถิ่นกระตุ้นให้อาคารต่าง ๆ ก่อสร้างทางเชื่อมทำนองนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ธุรกิจและสาธารณชน แต่ทางราชการจะต่อรองให้เปิดทางเชื่อมเหล่านี้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ การแก้ปัญหาอัคคีภัย ฯลฯ ทั้งนี้เจ้าของโครงการคงต้องอำนวยความสะดวก เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
สำหรับในรายละเอียด ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จะได้นำเสนอต่อไป