อ่าน 1,587 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 72/2558: วันอังคารที่ 24 มีนาคม 2558
เปลี่ยน "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"
เป็น "ภาษีที่ดินเพื่อบำรุงท้องที่"

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เมื่อวานนี้ (23 มีนาคม 2558) มีข่าวว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนชื่อ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" เป็น "ภาษีที่ดินเพื่อบำรุงท้องที่" (http://goo.gl/c499Xc) ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่หรือไม่
          สาระของ "ร่าง" ใหม่ (อีกแล้ว) ก็คือ
          1. จัดเก็บเฉพาะที่ดิน ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง
          2. อัตราภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกำหนดเพดานสูงสุดที่ 0.25% ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยกำหนดเพดานสูงสุด 0.5% และที่ดินเพื่อเชิงพาณิชย์และที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานสูงสุดไม่เกิน 2%
          3. จะมีข้อยกเว้นให้กับที่ดินสำหรับการเกษตร ที่มีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ส่วนที่ดินที่แพงกว่านั้นจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.05% จากเพดานสูงสุด 0.25%  ที่ดินเพื่อการพาณิชย์จะจัดเก็บจริง 0.2% จากเพดานสูงสุด 2% ส่วนที่ดินว่างเปล่าจัดเก็บจริง 0.5% ของราคาประเมิน โดยเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 2%
          ข้อวิพากษ์สำคัญของ "ภาษีที่ดินเพื่อบำรุงท้องที่" ที่นำเสนอโดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้แก่
          1. การเปลี่ยนชื่อไม่สำคัญเท่ากับการทำความเข้าใจว่าภาษีนี้จัดเก็บและนำมาใช้ในท้องถิ่นเท่านั้น ถ้าประชาชนเข้าใจก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อให้สับสน ในต่างประเทศเขาเรียกว่า Property Tax เพราะเขาเก็บภาษีจากทรัพย์สินตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) รวมทั้งสังหาริมทรัพย์ด้วย
          2. การจัดเก็บภาษีควรเก็บทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่พึงมาอ้างการใช้ดุลยพินิจ เพราะคงต่างกันไม่มาก แต่ในกรณีอาคารชุด มีที่ดินอยู่ผืนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับห้องชุดนับร้อยห้อง คงไม่สามารถแยกราคาที่ดินออกไปโดดๆ ได้ หรือแยกได้ก็เป็นตัวเลขที่ผิดเพี้ยน
          3. การจัดเก็บภาษีนี้ไม่จำเป็นต้องมีข้อยกเว้น เช่น ห้องชุดราคาถูกเพียง 300,000 บาท ถ้าเก็บภาษี 0.1% ก็เป็นเงินเพียง 300 บาท น้อยกว่าค่าทำสังฆทานหรือทำบุญต่าง ๆ เสียอีก สำหรับบ้านราคา 1 ล้านบาท หากเสียภาษี 0.1% หรือ 1,000 บาท ก็ยังถูกกว่าค่าเก็บขยะในหมู่บ้านเสียอีก
          4. การลดเพดานภาษีแล้ว แท้จริงแล้วคงเป็น "ลับลวงพราง" เพื่อลดภาษีให้กับเจ้าของที่ดินว่างเปล่ามากกว่า ในความเป็นจริงที่ดินว่างเปล่าควรจัดเก็บ ณ เพดาน 4% - 10% เพื่อให้เจ้าที่ดิน "คาย" ที่ดินออกมาตามราคาตลาด เพื่อนำมาพัฒนาเมือง โดยไม่ต้องออกไปรุกล้ำในชนบท
          5. การตีความที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อาจมีความผิดเพี้ยน เจ้าที่ดินบางรายอาจแสร้งปลูกข้าวในใจกลางเมือง (เช่นที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นในอดีต) เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีในฐานะที่ดินเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควร
          อันที่จริงท่านายกรัฐมนตรี สั่งให้ทางราชการพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนแถลงข่าว เพราะจะทำให้ประชาชนสับสน แต่ในขณะที่รัฐบาลก็ยังแถลงข่าวบ่อย ๆ ทำให้ชาวบ้านต่อต้านภาษีนี้ยิ่งขึ้น และอาจทำให้เกิดการฉวยโอกาสขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยอ้างว่าหมดทางเลี่ยงในการเก็บภาษีที่ดินฯ นั่นเอง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved