ท่านนายกฯ ปรารภว่าก่อนจะประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรไปศึกษากรณีศึกษาจากต่างประเทศให้ดีเสียก่อน แล้วค่อยมานำเสนอ พอดีผม (ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส) ไปดูงานด้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอาเซียน ซึ่งมีเฉพาะไทย บรูไนและเมียนมาร์ที่ไม่มีภาษีนี้ ผมจึงขออนุญาตนำเสนอ เผื่อเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ
นอร์ฟอล์ค แมสซาชูเซ็ตต์
เมื่อปี 2547 ไปดูงานเมืองนอร์ฟอล์คซึ่ง ตั้งอยู่ห่างจากนครบอสตันไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร ในมลรัฐแมสซาชูเซ็ตต์ เป็นเมืองขนาดเล็กที่มีบ้านเพียง 2,895 หน่วย แต่มีแปลงที่ดินทั้งหมดเกือบ 4,000 แปลง เมืองนี้เก็บภาษีทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ได้ 520 ล้านบาท คิดเป็น 55% ของงบประมาณทั้งปี อัตราภาษี 1.193% ของราคาตลาด แต่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึง 13% ในบางปี แต่เฉลี่ยแล้วราคาขึ้นมากกว่าภาษีที่เก็บไป (http://goo.gl/G9k9wb)
แองเคอะริจ อลาสก้า
เมื่อปี 2548 ผมไปที่นครแองเคอะริจซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 4,921 ตร.กม. แต่ส่วนใหญ่ 94% เป็นภูเขา มีประชากรประมาณ 270,000 คน มีแปลงที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยรวมกันประมาณ 94,000 แปลง รวมมูลค่าของที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 880,000 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินแปลงละ 9.362 ล้านบาท ในเมืองนี้อัตราภาษีคือ 1.6% แสดงว่าภาษีที่จะได้จากทรัพย์สินคือ 14,080 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 68% ของงบประมาณของเทศบาล ส่วนที่เหลือเป็นเงินภาษีทางอื่นและเงินอุดหนุนจากมลรัฐ เป็นต้น
หน่วยงานประเมินค่าทรัพย์สินที่นี่มีพนักงานอยู่ 52 คน เป็นผู้ประเมิน 40 คน นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ทั่วไป ค่าใช่จ่ายของหน่วยงานนี้เป็นเงินปีละประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับรายได้ที่สามารถทำได้จากทรัพย์สินที่ 14,080 ล้านนั้น ค่าใช้จ่ายนี้เป็นเพียง 1.8% ของรายได้ดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งนับว่าคุ้มมากที่มีหน่วยงานดังกล่าวประจำนครหรือเมืองแต่ละแห่ง (http://goo.gl/2mj41J)
พาล์มเมอร์ อลาสก้า
ในปี 2548 เช่นกัน เมืองนี้เป็นเมืองที่พัก (bedroom community) ของคนทำงานในนครแองเคอะริจ แต่ปัจจุบันก็มีการเติบโตด้วยตัวเองจากผลพวงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีแปลงที่ดินรวมกัน 70,000 แปลง เป็นที่อยู่อาศัย 30,000 แปลง เป็นไร่นาและอื่น ๆ 40,000 แปลง ประกอบด้วยประชากร 70,000 คน มูลค่าทรัพย์สินของเมืองนี้มีเพียง 208,000 ล้านบาท มีอัตราการเก็บภาษีที่ต่ำกว่าเล็กน้อยคือ 1.5% หรือเป็นเงิน 3,120 ล้านบาท สำหรับหน่วยงานประเมินที่นี่มีคนทำงาน 19 คน มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 58 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 1.9% ของภาษีที่ได้จากทรัพย์สิน (http://goo.gl/2mj41J)
วาชูเคาน์ตี้ เนวาดา
เมื่อปี 2551 ผมไปดูงานโดยเคาน์ตี้หรือเขตนี้มีขนาด 16,000 ตร.กม. (ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร 10 เท่า) แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและทะเลทราย ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ 33,000 รายการ อสังหาริมทรัพย์ 171,000 รายการ สามารถสร้างแบบจำลองทางสถิติเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินได้ปีละ 100,000 รายการจาก 171,000 รายการ และในอนาคตคาดว่าจะสามารถประเมินใหม่ได้ทุกปี
ในกรณีผู้ที่ขัดขืน ก็อาจถูกฟ้องบังคับขายทอดตลาดได้ จึงไม่มีใครพยายามไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเจ้าหน้าที่สำนักประเมินค่าทรัพย์สินมี 85 คน มีงบประมาณราว 250 ล้านบาทโดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อการพนักงาน นอกจากนี้สำนักฯ ยังมีงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกราว 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี และสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท (http://goo.gl/EeV8zh)
แคลการี แคนาดา
ในปี 2551 นครแคลการี (Calgary) มีประชากร 1 ล้านคน มีขนาด 730 ตร.กม. ทรัพย์สินในนครแห่งนี้ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ 413,000 รายการและสังหาริมทรัพย์ 27,000 รายการ รวมมูลค่า 8 ล้านล้านบาท ภาษีที่เก็บได้เป็นเงินประมาณ 45,000 ล้านบาท หรือเป็นการเสียภาษีเฉลี่ยประมาณ 0.56% โดยในรายละเอียดนั้นที่อยู่อาศัยเสียภาษีปีละประมาณ 0.4% ของมูลค่าตลาด ส่วนอสังหาริมทรัพย์อื่น เสียภาษีในอัตรา 1.1%
ตามกฎหมายในแคนาดาและประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก มีหลักการสำคัญสองประการคือ ประการแรก ทางราชการมีอำนาจที่จะเรียกรับข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของประชาชน และประชาชนมีหน้าที่ที่จะเปิดเผยข้อมูลนั้นเพื่อการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน และประการที่สอง ผู้ครอบครองทรัพย์สินจะเสียสิทธิในการอุทธรณ์หากไม่เปิดเผยข้อมูลเพียงพอในกรณีที่การประเมินนั้นทำให้ผู้ครอบครองต้องเสียภาษีมากขึ้น (http://goo.gl/oZStH0)
ลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย
ในปี 2554 ผมพาคณะไปดูงานประจำเขต (County) ลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นหนึ่ง 58 เขตของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ประเมินเพื่อการเสียภาษี เป็นเงิน 32.67 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี 1% ของมูลค่าที่ประเมินได้ หรือ 326,700 ล้านบาท สำหรับงบประมาณของสำนักงานประเมินค่าทรัพย์สินของลอสแองเจลิส มีงบประมาณรายจ่ายปีละ 5,250 ล้านบาท หรือแสดงว่าต้นทุนที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีเป็นประมาณ 1.6% ของภาษีที่จัดเก็บได้
ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดลอสแองเจลิส โดยปกติจัดเก็บในอัตรา 1% ของราคาประเมิน การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีข้อยกเว้นเช่นกัน ได้แก่ กรณีที่เป็นบ้านอยู่อาศัยของตนเอง ได้รับการลดหย่อนเป็นเงิน 210,000 บาท ถ้าเจ้าของบ้านเป็นทหารผ่านศึก ก็ได้ลด 150,000 บาท แต่ถ้ามีครอบครัว ก็ได้ลด 300,000 บาท กรณีบ้านของคนพิการ ก็ได้ลดตามความพิการ โดยสูงสุดลดได้ไม่เกิน 4,500,000 บาท บ้านที่ได้รับพิบัติภัย ก็สามารถลดหย่อนได้ (http://goo.gl/MhJJCB)
นิวยอร์ก มลรัฐนิวยอร์ก
ผมพาคณะนี้ไปดูงานเมื่อปี 2556 โดยนครนี้มีประชากรถึง 8.3 ล้านคน บนพื้นที่ 784 ตร.กม. อสังหาริมทรัพย์ในนครแห่งนี้มีทั้งหมด 1,079,183 ชิ้น มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินได้ทั้งหมดเป็น 24.4 ล้านล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ได้สูงสุดถึง 40% ของภาษีทั้งหมด รองลงมากลับเป็นห้องชุดและอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าซึ่งจัดเก็บภาษีได้ถึง 38% ที่อยู่อาศัยที่ใช้เองทั่วไป 15% และสาธารณูปโภคที่เก็บภาษีได้ 7% ที่เป็นเช่นนี้อาจแตกต่างจากนครหรือเขตอื่น ๆ ที่เก็บภาษีจากที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะในนครนิวยอร์กมีอาคารสำนักงานเป็นจำนวนมาก
กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ใช้เองจัดเก็บภาษีเพียง 0.75% ของมูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยแต่ละหน่วย แต่หากคิดเป็นหลัง ๆ ก็จะเท่ากับจัดเก็บภาษีประมาณ 1.28% ของแต่ละหลัง ในขณะที่ห้องชุดและอะพาร์ตเมนต์ให้เช่า เก็บภาษีสูงถึง 3.85% ของมูลค่าตลาด ส่วนสาธารณูปโภคเก็บ 5.45% ของมูลค่าที่คำนวณโดยวิธีต้นทุน และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จัดเก็บภาษีถึง 3.72% ของมูลค่า (http://goo.gl/x4kjWm)
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีคุณมหาศาล ผมก็หวังแต่ว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจในการนำมาใช้ อย่าให้เกิดกรณี "ลับลวงพราง" ที่
1. ทำทีเป็นยกเว้น/ลดอัตราจัดเก็บ 0.05% แก่ประชาชน แต่ต่อที่ดินเปล่าของอภิมหาเศรษฐี กลับลดมหาศาลจาก 4% เป็น 2%
2. รมต ปลัด อธิบดี ออกมาพูดให้สับสน สร้างกระแสให้ประชาชนต้าน จะได้เลิกเก็บภาษีนี้ มหาเศรษฐีเจ้าของที่ดินมหาศาลเลยรอด
3. พอเลิกภาษีนี้ โดยหาว่าเก็บยาก รัฐบาลก็จะมาอ้างเพื่อขึ้น VAT ทีนี้แหละ จะถูกถอนขนห่านจริงๆ
ยังไงก็มาช่วยกันให้กำลังใจรัฐบาลเพื่อนำภาษีนี้มาใช้นะครับ