ตามที่มีข่าวว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากนี้ไปอีก 4 เดือน กระทรวงจะยุติการแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับภาษีทั้งหมด ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กังวลว่า หากผลักดันการเก็บภาษีตอนนี้จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจ” (http://goo.gl/2DNo5H) ความข้อนี้คงเป็นความเข้าใจผิดของรัฐบาล ภาษีนี้ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจต่างหาก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ข้ออ้างของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่นนี้ ในแง่หนึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ “จะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีที่ดินจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์” จะได้ไม่พูดให้เกิดความสับสน ให้มีเอกภาพก่อนค่อยนำเสนอต่อสาธารณชน ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัด อธิบดี ต่างออกมาพูดในเชิงที่ไม่ตรงกัน ก่อให้เกิดความสับสนและกระแสต้าน ทำให้การเก็บภาษีเพื่อกระจายความเท่าเทียมกันไม่เกิดขึ้น
แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอ้างว่า “หากมีการขึ้นภาษีดังกล่าวช่วงนี้ ก็มีแนวโน้มชัดเจนว่าผู้ประกอบการก็อาจจะผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค” อันที่จริงภาษีนี้มีภาระต่ำมากเพียง 0.1% ในต่างประเทศเก็บประมาณ 1-3% แต่ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 4-6% ทำให้เป็นภาษีที่ยิ่งจ่าย ยิ่งได้กับตนเอง ไม่มีอะไรน่ากังวล
ยิ่งกว่านั้นในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี หากมีการเก็บภาษีนี้มาพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญ ก็จะช่วยดึงดูดการลงทุนมากขึ้น ทำให้ท้องถิ่นยิ่งเจริญขึ้น มูลค่าทรัพย์สินจึงจะงอกเงิยยิ่ง ๆ ขึ้น แต่หากไม่เสียภาษี ท้องถิ่นก็จะทรุดโทรม มูลค่าทรัพย์สินก็จะลดลง กลายเป็นผลเสียต่อเจ้าของทรัพย์สินเอง ดร.โสภณ จึงเสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีนี้โดยด่วนและไม่ต้องมีข้อยกเว้น
การชะลอการเก็บภาษีก็เท่ากับการยับยั้งการกระจายความเท่าเทียมกันในสังคม ทำให้สังคมแตกแยกมากยิ่งขึ้นเพราะการเอารัดเอาเปรียบของผู้มีรายได้สูงที่เก็บที่ดินไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์ ไม่จ่ายภาษี ทั้งที่ในสังคมนี้ ผู้มีห้องชุด (แม้ไม่อยู่อาศัย) ก็ยังต้องจ่ายค่าส่วนกลาง หรือการมีรถจักรยานยนต์เก่า ๆ สักคันมูลค่า 20,000 บาท ก็ยังต้องเสียภาษีปีละ 100-200 บาท เป็นต้น