หลายคนคงดีใจกับการจะมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-ลำลูกกา แต่หากพิจารณาให้ดี ไม่ควรสร้างเป็นอย่างยิ่งเพราะขนานไปกับสายสีแดง ควรเข้าลำลูกกาด้วยการเชื่อมกับสถานีดอนเมืองหรือสถานีอนุสรณ์สถานมากกว่า
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่าหากมองในเบื้องต้น ก็น่าจะสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ไปถึงสะพานใหม่ แล้ววกเข้าลำลูกกา เนื่องจากมีประชากรอยู่หนาแน่นพอสมควร แต่ในอีกแง่หนึ่งรถไฟฟ้าสายนี้วิ่งขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยห่างกันเพียง 2 กิโลเมตร หากสร้างขนานไปด้วยกัน ก็อาจจะไม่คุ้มทุน
กรณีนี้เคยเกิดขึ้นคล้ายกับการสร้างทางด่วนขั้นที่สอง (ของการทางพิเศษฯ) โฮปเวลล์ (ของการรถไฟฯ) และ ดอนเมืองโทลเวย์ (ของกรมทางหลวง) ซึ่งต่างสร้างไปทางทิศเหนือเหมือนกัน และสุดท้าย ก็ต้องมีสายใดสายหนึ่งที่ “เจ๊ง” ไป ที่เหลืออยู่คือ ดอนเมืองโทลเวย์ และทางด่วนขั้นที่ 2 ก็มีผลการประกอบการที่ไม่ดีนัก
ทางออกที่สมควรก็คือ
1. การสร้างสถานีเชื่อมเข้าถนนพหลโยธินที่สถานีหลักสี่ สถานดอนเมือง หรือสถานีอนุสรณ์สถาน แล้วจึงเลี้ยวเข้าถนนลำลูกกาหรือสายไหม
2. ควรจัดทำผังเมืองในบริเวณนั้น (รวมของกรุงเทพมหานครและปทุมธานีในบริเวณนั้นเข้าด้วยกัน) ให้สามารถจัดรูปที่ดินหรือรวบรวมแปลงที่ดินเพื่อสร้างเมืองใหม่ เมืองชี้นำ รอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้า ที่ไม่ใช่ปล่อยให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างสะเปะสะปะดังที่ผ่านมา เช่น ตามเส้นทางรถไฟฟ้า Airport Link เป็นต้น
3. ทำ Sky Walk หรือทางเชื่อมใต้ดิน หรือระบบขนส่งมวลชนแบบรางเบา (Light Rail หรือ Monrail) เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้า BTS MRT และรถไฟฟ้าสายสีแดงบริเวณหมอชิตบางซื่อ เพื่ออำนวจความสะดวกในการเดินทาง
รัฐบาลควรมองที่ประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าระบบใดระบบหนึ่ง