(อย่าคิด) ย้ายกรุงเทพฯ !!!
  AREA แถลง ฉบับที่ 94/2558: วันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            วันนี้เป็นวันที่ 6 เมษายน วันสร้างกรุงเทพมหานคร แต่ที่ผ่านมาเรามักได้ยินแนวคิด "แฟนซี" กันบ่อย ๆ ว่า กรุงเทพมหานครมีปัญหาหมักหมมเกินเยียวยาแล้ว เราควรย้ายกรุงเทพมหานครไปอยู่ที่อื่น หรือสร้างเมืองหลวงใหม่เถอะ ผมขอบอกว่า นี่เป็นความคิดที่เป็นไปไม่ได้ และไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง

ย้ายเมืองหลวงคิดกันมานานแล้ว

            อดีตนายกฯ แซบๆ แสบๆ (แต่ท่านจะเป็นคนดีหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน) เคยคิดย้ายกรุงมาแล้ว เช่น จอมพล ป. ก็คิดจะย้ายไปอยู่เพชรบูรณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พล.อ.ชวลิต ก็คิดย้ายไปสนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็คิดย้ายไปนครนายก แต่จนแล้วจนรอดก็ย้ายไม่ได้สักที ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก คิดอยากจะย้ายกรุงอยู่เหมือนกัน เพราะเห็นปัญหาหมักหมมเป็นอันมากเลยคิดว่าจะไปเริ่มที่ใหม่ๆ เฮงๆ ทำนองนั้น

            แต่ผมมั่นใจว่าการย้ายกรุงไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมจะได้ให้เหตุผลต่อไป อย่างไรก็ตามใช่ว่าการย้ายกรุงจะย้ายไม่ได้เสียเลย ประเทศไทยของเราเคยย้ายจากเทือกเขาอัลไตมาแล้ว (อันนี้แซวท่านนายกฯ เล่นครับ) เราเคยย้ายจากกรุงศรีอยุธยา มากรุงธนบุรี และล่าสุดมาที่กรุงเทพมหานครเมื่อ 233 ปีก่อน หลายท่านจึงเชื่อว่าเราจะย้ายกรุงได้อีก

            อันนี้ก็เป็นไปได้ครับด้วยเหตุผลทางการเมือง เช่น ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกเผาไม่เหลือหลอ ซ่อมแซมไม่ไหว ก็จึงย้ายออกเสีย หรือการปราบดาภิเษกของรัชกาลที่ 1 พระองค์ท่านก็เพียงย้ายมาอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น และการย้ายมา 3 กรุงนี้ ก็ย้ายเพียงในระยะทางใกล้ ๆ เท่านั้น ดังนั้นในอนาคต หากมีเหตุผลทางการเมือง ก็อาจมีการย้ายกรุงอีกก็ได้ แต่คงไม่ใช่ย้ายเพราะกรุงเทพมหานครมีสถานะ "เกินเยียวยา" แต่อย่างใด

การย้ายเมืองหลวงในต่างประเทศ

            เช่นเดียวกับในต่างประเทศ การย้ายเมืองหลวงมักเป็นเหตุผลจากการเมือง เช่น การตั้งเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตกที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อกรุงบอนน์ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ภายหลังการรวมประเทศ ก็กลับมาใช้กรุงเบอร์ลินอีกครั้งหนึ่ง ในประเทศไทยก็เคยย้าย "ศูนย์อำนาจ" จากกรุงศรีอยุธยาไปลพบุรีอยู่ระยะหนึ่งในสมัยพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อผลัดแผ่นดิน ก็ยังใช้กรุงศรีอยุธยา แม้หลังเสียกรุงครั้งที่ 1 ก็ยังใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงเพราะไม่ได้ถูกเผาเช่นหลังการเสียกรุงทั้งที่ 2

            กรุงหรือเมืองหลวงที่มีการย้ายได้สำเร็จนั้น ส่วนมากเป็นการย้ายเฉพาะส่วนราชการ เช่น กรุงเนปยีดอของเมียนมาร์ เมืองปุตราจายาของมาเลเซีย กรุงบราซิเลียของบราซิล กรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐอเมริกา กรุงแคนบราของออสเตรเลีย เป็นต้น แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจยังมักอยู่ที่เดิม เช่น กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย นิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ซิดนีย์ของออสเตรเลีย เป็นต้น

            สำหรับเมืองหลวงใหม่เมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงในประเทศกำลังพัฒนา ก็คือเมืองเกซอนซิตี้ โดยถือเป็นเมืองหลวงใหม่ของฟิลิปปินส์อยู่พักหนึ่ง นัยว่ากรุงมะนิลา "เน่า" เกินเยียวยา มีชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งคือสลัมทอนโด จึงมีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น อย่างไรก็ตามสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เกซอนซิตี้กลับถูกควบรวมกลายเป็นเพียงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเขตนครหลวงมะนิลานั่นเอง

            ต่อไปเชื่อว่าเมืองใหม่เช่นปุตราจายา ก็คงหนีไม่พ้นเป็นเมืองที่อาจไม่ประสบความสำเร็จนัก ผมเคยพาคณะดูงานอสังหาริมทรัพย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปเยี่ยมชมมาแล้ว เมืองนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสนามบินนานาชาติกับกรุงกัวลาลัวเปอร์ ห่างจากกรุงประมาณ 38 กิโลเมตร การจัดผังเมืองที่นี่จัดไว้หลวมมาก ต้องเดินทางกันด้วยรถยนต์สถานเดียว ตามแผนเดิมปุตราจายาจะมีรถไฟฟ้ามวลเบาระยะทาง 18 กิโลเมตร 23 สถานี แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีการกระจัดกระจายตัวของส่วนต่าง ๆ ของเมืองมากเกินไปนั่นเอง

บ้างเป็นโรคกลัวโลกร้อน

            บางคนกลัวโรค "โลกร้อน" ขึ้นสมอง อย่าได้กลัวไป ดูอย่างสิงคโปร์ยังนิ่งสนิทในเรื่องนี้ อย่าให้ใครโดยเฉพาะพวกเอ็นจีโอเป่าหู ประเทศในยุโรปทั้งเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก มีเมืองที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เขาก็ยังอยู่ได้ แถมทำเกษตรกรรมได้ การที่น้ำเซาะชายฝั่งเล็กน้อยแถวทะเลบางขุนเทียนนั้น เกิดขึ้นเพราะการตัดไม้ทำลายป่าโกงกางในบริเวณนั้น ไม่ใช่เพราะน้ำทะเลเพิ่มขึ้นหรือกรุงเทพมหานครจมลงแต่อย่างใด

            ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือวัดเจดีย์หอยที่ตั้งอยู่ชายแดนปทุมธานีกับอยุธยานั้น มีหอยนางรม มีทรายมากมายเป็นประจักษ์หลักฐานสำคัญว่าทะเลเคยกินลึกเข้าไปถึงวัดนี้ซึ่งห่างจากทะเลถึง 70 กิโลเมตร หรือถึงนครสวรรค์เลยทีเดียว ในความเป็นจริง ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทะเลถูกแผ่นดินกินไปต่างหาก เพียงแต่ไม่กี่ปีหลังมานี้ มีการตัดป่าไม้โกงกางเพื่อการเลี้ยงกุ้งหรือเกษตรกรรมอื่น ๆ มาก จึงเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ไม่ได้มีปัญหาเรื่องโลกร้อนแต่อย่างใด

แปลกไหม ทำไมลอนดอน ปารีส โรม ไม่ย้าย

            คนไทยทั้งหลายรวมทั้งผมด้วย ไปยุโรปทีไร ก็ไปชื่นชมสถาปัตยกรรมเก่า ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจของกรุงลอนดอน ปารีส บรัสเซลส์ เบอร์ลิน ฯลฯ  เฉพาะในกรุงลอนดอน ผู้คนก็มักเดินเล่นไปตามสวนไฮด์ปาร์ค พระราชวังบัคกิงแฮม บิ๊กเบน อาคารรัฐสภา บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ผ่านกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ไปจนถึงจัตุรัสทราฟัลการ์ ฯลฯ จะสังเกตได้ว่าวิหาร ราชวัง พิพิธภัณฑ์ และอื่นๆ ต่างตั้งอยู่ใกล้ชิด

            สิ่งหนึ่งที่ผมฉุกคิดขณะเดินก็คือทำไมเขาไม่ย้ายกรุงลอนดอนออกไปบ้าง หรือย้ายเฉพาะส่วนราชการออกนอกเมืองเช่นที่ประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เขาทำกันมาแล้ว ท่านทราบไหมลอนดอนมีอายุประมาณ 2,000 ปี ปารีสก็มีอายุพอ ๆ กัน นครหลวงในยุโรปล้วนมาอายุนับพันปี กรุงโรมมีอายุถึง 2,800 ปี ทำไมเขาไม่คิดย้ายเฉกเช่นที่นักผังเมืองไทยคิดต่อกรุงเทพมหานครที่มีอายุเพียง 233 ปีบ้าง แนวคิดการย้ายเมืองหลวงคงมีข้อผิดพลาดอย่างแน่นอน

            ลองย้อนกลับมายังกรุงลอนดอน ปรากฏว่ารัฐบาลอังกฤษมีกระทรวงต่าง ๆ ถึง 24 แห่ง แต่ส่วนมากมักจะตั้งอยู่ในเขตใจกลางเมืองเป็นสำคัญเป็นสำคัญ น่าแปลกไหมอังกฤษมีประชากรพอ ๆ กับไทย เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่กลับสามารถใช้พื้นที่ในใจกลางเมืองทำการบริหารรัฐกิจโดยไม่ต้องย้ายออกไปนอกเมืองเช่นประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ชอบนักที่จะสร้างเมืองใหม่ ทำเนียบรัฐบาลของเขามีขนาดเล็กกว่าของไทยอย่างเทียบกันไม่ติด กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ก็มีขนาดกะทัดรัดแต่บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ย้ายเมืองหลวง: วาระซ่อนเร้น

            "วาระซ่อนเร้น" ของการย้ายเมืองหลวงนั้น อาจเป็นเพราะข้าราชการต้องการจะสร้าง "อัครสถาน" ให้ตนเองได้ทำงานโดยถลุงงบประมาณไปเป็นอันมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย ลองนึกดูว่าศูนย์ราชการที่สร้างขึ้นที่แจ้งวัฒนะ ถ้าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของเอกชน จะก่อสร้างอาคารแบบหลวม ๆ เช่นนี้หรือ มีใครเคยเดินจากถนนแจ้งวัฒนะเข้าไปจนถึงอาคารศูนย์ราชการบ้างไหม ส่วนมากคงเดินไม่ไหวเพราะไกลกันเหลือเกิน

            ยิ่งกว่านั้นการที่มีข่าวว่าจำนวนนายพลไทยยังมีมากกว่าสหรัฐอเมริกา แสดงว่าระบบราชการไทยใหญ่โตเทอะทะเกินเหตุ ใช้เงินงบประมาณ ใช้สถานที่มากเกินความต้องการ อย่างงบประมาณแผ่นดินไทยปีหนึ่ง ๆ ค่าใช้จ่ายหลักประมาณ 70-80% ก็คือค่าจ้างข้าราชการและค่าใช้จ่ายประจำ เงินลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศเป็นเพียงส่วนน้อย ด้วยระบบราชการที่ใหญ่โตเช่นนี้จึงทำให้ต้องย้ายออกจากเขตใจกลางเมืองเดิม

อนุรักษ์เมืองแบบ "คนตายขายคนเป็น"

            ความคิดผิดเพี้ยนของการย้ายเมืองอีกอย่างหนึ่งก็คือ การอ้างถึงการรักษาศิลปวัฒนธรรมหนึ่งจนทำลายศิลปวัฒนธรรมอีกอันหนึ่ง คิดง่าย ๆ ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นสมัยนี้ เราคงไม่มีโอกาสสร้างสะพานพระปิ่นเกล้า เพราะคงถูกหาว่าไม่ต้องตามการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ เราถึงขั้นทำลายอาคารศาลฎีกาเดิม เพียงอ้างว่าไม่ต้องกับอาคารแบบ "รัตนโกสินทร์" ทั้งที่ในวังหลวงเองก็มีอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปมากมาย เรา "บ้า" เข้าขั้นถึงขนาดทุบศาลาเฉลิมไทย ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ทั้งที่อาคารก็ยังแข็งแรงกว่าศาลาเฉลิมกรุงด้วยซ้ำ ดูอย่างลอนดอน ปารีส ฯลฯ อาคารศิลปกรรมสมัยใหม่และเก่ากลับอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่อายกัน

            แต่เดิมสนามหลวงเป็นศูนย์รวมรถประจำทาง ก็ถูกยกเลิกไป อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถือเป็นใจกลางเมือง กม.0 ของ กรุงเทพมหานคร ก็ไร้ความหมาย รถไฟฟ้าที่จะวิ่งข้ามสะพานพระราม 7 ก็เป็นหม้าย แม้จะสร้างสะพานรถไฟฟ้าเตรียมไว้แล้วก็ตาม ดังนั้นใจกลางเมืองของไทยจึงขาดการพัฒนาเพราะขาดระบบขนส่งมวลชน และค่อย ๆ เหี่ยวเฉาลงไป ทั้งเยาวราช สำเพ็ง บางลำพู ฯลฯ  ศูนย์กลางเมืองก็ขยายไปออกไปรอบนอกอย่างไร้ทิศผิดทาง

อยู่ที่นี่ สู้ตรงนี้

            ถ้าเรารักษาใจกลางเมืองไว้อย่างยุโรปหรือโตเกียว โอซากา โซล เราก็ควรวางระบบขนส่งมวลชนที่ดี แต่นี่เรากลับล้มเลิกไปหมด หรือถ้าจะสร้างเมืองใหม่ ก็สร้างชิดติดกับใจกลางเมืองเดิม ไม่ใช่สร้างออกไปนอกเมือง เช่น การสร้างผู่ตงที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ถูเทียมที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางโฮจิมินห์ซิตี้ ดีซีซิตี้ที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางกรุงเวียนนา ก็ยังทำได้

            ยิ่งกว่านั้นทางเลือกหนึ่งในการขยายเมืองก็คือ การ "สร้างเมืองซ้อนเมือง" โดยเอาสถานที่ราชการ เช่น ท่าเรือ ค่ายทหาร หรืออื่น ๆ มาสร้างเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ใหม่ ในกรุงลอนดอนก็มีการแปลง London Docklands มาใช้เพื่อการพาณิชย์ ในกรุงมะนิลาก็ย้ายค่ายทหารใจกลางเมืองออกไปทำศูนย์การค้า ท่าเรือคลองเตยและที่ดินรถไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีพื้นที่รวมกันเกือบ 3,000 ไร่ สามารถมาสร้าง CBD ในใจกลาง CBD ได้เลย

            การย้ายเมืองหลวงจะสร้างต้นทุนโดยไม่จำเป็นอีกมหาศาล ถือเป็นแนวคิดแบบจนตรอกของพวกที่ชมชอบการ "ล้มกระดาน" ด้วยการย้ายกรุง ไปสร้างปัญหาที่ใหม่  ทั้งที่มหานครอื่นอยู่กันมานับพันปียังอยู่ได้ ไทยต้องจัดการวางแผนพัฒนาเมืองให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่เอะอะจะชอบแต่ย้ายท่าเดียว ถ้าไทยยังวางผังเมืองส่งเดชเช่นทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครจะยิ่งเละเทะ แต่การไปสร้างที่ใหม่คงแก้ปัญหาไม่ได้

            ต้องปฏิวัติ ปฏิรูปแนวคิดการวางผังเมืองเสียแต่วันนี้

อสังหาริมทรัพย์ทั้งเก่าและใหม่อยู่ร่วมกันได้ในกรุงลอนดอน

การกัดเซาะชายฝั่งของไทย ไม่ใช่เป็นเพราะปัญหาโลกร้อน

ย่านการค้าหลักช็องเซลีเซของปารีสที่ไทยนำมาสร้างถนนราชดำเนิน

ถนนราชดำเนินกลางที่ควรเป็นศูนย์การค้าหลัก ก็กลับไม่เป็นดังหวัง

อ่าน 3,545 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved