จดหมายถึง บก.โพสต์ทูเดย์: เซ็นทรัลพาร์ก นิวยอร์ค ต่างจากมักกะสัน
  AREA แถลง ฉบับที่ 132/2558: วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ประจำวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2558 เวลา 10:57 น. ลงบทความเรื่อง "จาก Central park ถึง 'มักกะสัน'" (http://goo.gl/JH1heQ) ดร.โสภณ เห็นว่ามีความคลาดเคลื่อน ทำให้สังคมเข้าใจผิด จึงทำหนังสือไปทักท้วง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เรื่อง      ขอชี้แจงความเข้าใจผิดเรื่อง Central Park กับมักกะสัน
เรียน     บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์            

            ตามที่หนังสือพิมพ์ของท่านลงบทความเรื่อง "จาก Central park ถึง 'มักกะสัน'" (http://goo.gl/JH1heQ) กระผมเห็นว่ามีความคลาดเคลื่อน ทำให้สังคมเข้าใจผิดไปว่าควรแปลงที่มักกะสันไปเป็นสวนสาธารณะ กระผมจึงขอเสนอข้อมูลเพื่อการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง

            ในครั้งแรกของการออกแบบผังเมืองนิวยอร์ก ไม่มีการกำหนด Central Park นี้ไว้แต่อย่างใด แต่ในภายหลังจึงได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ 158 ปีก่อนนี้  โดยขณะก่อสร้างนั้น นครนิวยอร์กอยู่ในพื้นที่ Downtown ปัจจุบันเป็นหลัก พื้นที่ก่อสร้างสวนนี้ในขณะนั้นยังเป็นที่เลี้ยงสัตว์ตั้งอยู่นอกเมือง และใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาถึง 131 ปี ก่อนหยุดในปี 2536 นี่เอง (http://goo.gl/2mz3Z3)

            Central Park จึงไม่ได้สร้างอยู่กลางเมือง แต่สร้างอยู่บริเวณนอกเมือง เช่น หากเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร ก็เป็นเช่นนาร้างแถวบางนาหรือบางพลี  แล้วเมืองจึงขยายตัวไปรายล้อมสวนแห่งนี้ต่างหาก ไม่มีใครในโลกนี้ใช้ที่ใจกลางเมืองที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสูงมาทำสวนสาธารณะ เช่น ท่าเรือกลางกรุงลอนดอน (London Docklands) 1,338 ไร่ ที่ตั้งเวิลด์เอ็กซ์โป กลางนครเซี่ยงไฮ้ 3,300 ไร่ สนามบินไคตัก กลางเมืองฮ่องกง หรือศูนย์รถไฟฟ้า KL Sentral กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ขนาด 200 ไร่ หรือแม้แต่ค่ายทหารกลางกรุงมะนิลาหลายแห่ง ก็ให้ย้ายออกและพัฒนาเป็นศูนย์การค้าไปแล้วทั้งนั้น

            การเอาที่ใจกลางเมืองไปทำสวนผิดมหันต์ เพราะต้องจ่ายเงินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย 80,000 ล้านบาทจากภาษีของประชาชนทั่วประเทศ (แทนที่จะให้ภาคเอกชนประมูลไปได้เงินมาพัฒนาการรถไฟฯ) ต้องเสียเงินอีกนับพันล้านไปสร้าง ต้องมีค่าบำรุงรักษาปีละนับร้อยล้าน ทั้งที่มีผู้เข้าใช้สอยน้อย เช่น สวนลุมพินีในวันธรรมดาเพียง 8,500 คน  หรือสวนหลวง ร.9 วันละ 800 คน เป็นต้น

            สวนในสมัยใหม่ต้องยืนได้ด้วยตนเอง ผมจึงเสนอให้นำที่ดิน 60% ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ได้เงินถึง 80,000 ล้านมาพัฒนาการรถไฟฯ และที่เหลืออีก 40% มาทำสวนและสาธารณูปโภคอื่น ยุคสมัยใหม่นี้ สวน ผลไม้ ผัก สร้างบนอาคาร ดาดฟ้า ระเบียง เป็นอาคารเขียว ที่ค่าดูแลรักษาน้อยและเป็นพันธกิจของภาคเอกชน ไม่ใช่ใช้เงินหลวงอีกต่อไป ส่วนหากต้องการรักษาอาคารเก่าแก่ที่ไม่มีความสวยงามใด ๆ เพราะเป็นเพียงโกดังและโรงงาน ก็สามารถนำไปประกอบใหม่ที่หัวลำโพง เป็นแหล่งรวมพิพิธภัณฑ์รถไฟ ก็ยังทำได้

            ที่ดิน 60% ที่นำมาใช้เชิงพาณิชย์นี้ สามารถนำมาสร้างอาคารใหญ่ขนาดธนาคารกรุงเทพ ที่สีลม ขนาด 8 ไร่ ได้ถึง 37 อาคาร เอาวิสาหกิจใหญ่มาอยู่รวมกันเพื่อประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน เป็นศูนย์รวมการคมนาคมเชื่อมต่อดอนเมือง สุวรรณภูมิและอื่น ๆ กลายเป็นนครที่ไม่มีวันหลับไหล หากพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย จะพัฒนาให้คนอยู่ได้ถึงเกือบครึ่งล้านคน การเกิดศูนย์ธุรกิจนี้ทำให้เมืองไม่ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ทางด่วน ถนน ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ ก็ไม่ต้องตามออกไปอย่างไร้ทิศผิดทาง พื้นที่สีเขียว-เกษตกรรมก็จะไม่ถูกบุกรุกทำลายอีกต่อไป นี่คือหลักการวางผังเมืองสมัยใหม่ที่เน้นการใช้ที่ดินอย่างหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนกว่าการทำสวน

Central Park โปรดสังเกตบึงใหญ่ คือที่เก็บน้ำ ใช้ทำน้ำประปามาร้อยกว่าปี


ที่มาของรูป: www.getyourguide.com/new-york-l59/2-hour-central-park-bicycle-tour-t10031
 

อ่าน 4,520 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved