สถานีโทรทัศน์ TPBS ได้เผยแพร่ "บทวิจัยอนาคตที่ดินมักกะสันสู่ 'สวนสาธารณะ' หรือ 'ศูนย์การค้า'" (http://goo.gl/q4UOti) ดร.โสภณ เห็นว่าเป็นข้อเขียน (ไม่ใช่งานวิจัยตามชื่อ) ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงขออนุญาต "มองต่างมุม" เพื่อประโยชน์สาธารณะ
1. "เป็นการทำลาย “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งทำหน้าที่เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ"
ความจริง: ที่ดินในใจกลางเมืองมีมากมายที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่จะ "ตู่" เป็น "ปอด" ไม่ได้ เพราะที่รถไฟ ประชาชนทั่วประเทศเป็นเจ้าของ จะมาให้คนกรุงบางส่วนใช้ คงไม่ได้ ไม่ใช่คนกรุงส่วนใหญ่ที่อยู่ไกล ไปใช้ไม่สะดวกด้วยซ้ำ ผู้ได้ประโยชน์คือเหล่านายทุนอสังหาริมทรัพย์รอบๆ พื้นที่มากกว่าที่ราคาทรัพย์ขึ้นสูง
2. "โรงงานรถไฟมักกะสันอายุกว่าร้อยปี. . .ควรทำเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษามรดกสถาปัตยกรรม"
ความจริง: อาคารโกดังหรือโรงงานก็ไม่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดยพื้นฐานอยู่แล้ว อย่าอ้างเพื่อขวางการพัฒนาเลย แต่ถ้าอยากได้ไว้ ก็นำไปรวมไว้ที่หัวลำโพงให้เป็นศูนย์พิพิธภัณฑ์รถไฟ
3. กนก เหวียนระวี (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) "ด้วยเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างถล่มทลายจากภาคประชาชน. . .ทำลาย “ปอดขนาดใหญ่” แหล่งผลิตออกซิเจนที่หาไม่ได้อีก. . .เม็ดเงินที่ได้ไม่อาจล้างหนี้ที่มีกว่า 110,000 ล้านบาทให้หมดไป"
ความจริง:
1. สวนไม่ใช่ความต้องการของคนส่วนใหญ่ แค่คนส่วนน้อยแต่เสียงดัง
2. พื้นที่สีเขียวมีอยู่มากมาย ทั้งบางกระเจ้า สนามม้า ฯลฯ แถมกรุงเทพมหานครก็ตั้งอยู่ใกล้ทะเล
3. หนี้นับแสนล้าน ส่วนหนึ่งรัฐบาลรับไปเพราะให้การรถไฟฯ ทดลองจ่าย ที่เป็นหนี้การดำเนินงานจริงราว 60,000 ล้าน ลำพังที่ดินแปลงนี้ ดร.โสภณ ประเมินไว้ 83,000-110,000 ล้านบาท
4. อาทิตย์ โกวิทวรางกูร (เครือข่ายมักกะสัน) "พื้นที่ในส่วนนี้ที่สามารถเป็นไปได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านสุขภาวะ การพัฒนาเยาวชน. . .คนที่อยากอนุรักษ์มรดกรถไฟ หรือกลุ่มคนพิการ"
ความจริง: ที่ไหนก็พัฒนาเยาวชน คนพิการ ฯลฯ ได้ ไม่ควรอ้างเลยเถิด ข้อเสนอของ ดร.โสภณ ต่อนายกฯ (http://goo.gl/2mz3Z3) คือให้ใช้พื้นที่ 40% เป็นสวนและสาธารณูปโภค อีก 60% พัฒนาในเชิงพาณิชย์ เป็นอาคารเขียวก็ยังได้
อาคารเขียว สร้างกันทั่วโลกแล้ว เขาไม่ทำสวนพื้นราบเพราะเปลืองพื้นที่ เปลืองค่าดูแลมากมาย
5. ปองขวัญ (สมาคมสถาปนิกสยามฯ) "ถ้าไม่มีปอดตรงนี้. . .เทียบมูลค่าความเสียหายกับมูลค่าผลกำไรที่จะได้จากการตัดตอนพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาประมูล บอกได้เลยว่าได้ไม่คุ้มเสีย"
ความจริง: กล่าวลอยๆ โดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน การให้เอกชนนำไปพัฒนา ไม่ต้องเสียเงินภาษีประชาชน แต่ใช้เงินเอกชนถึง 80,000 ล้าน ไม่เบียดบังคนภูธร ไม่ประเคนให้คนกรุงบางส่วน โดยเฉพาะนายทุนรอบสวน สมัย พ.ศ.2485 ป่ามีทั่วประเทศ น้ำยังท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
6. นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (ดารา) “คือสวนสาธารณะค่ะ ณ วินาทีที่นุ่นได้ถอดรองเท้าและเดินเหยียบหญ้า มันคือความสงบ นี่คือความผูกพันของนุ่น"
ความจริง: ดารามีเวลาเหยียบหญ้าสักกี่วันใน 1 ปี ควรไปเหยียบที่บ้าน สวนสาธารณะมีคนใช้น้อย เช่น สวนลุมพินี 8,500 คน/วัน สวนหลวง ร.9 800 คน/วัน ส่วนมากเป็นคนซ้ำหน้า เดี๋ยวนี้เขาสร้างสวนเล็กๆ กระจายทั่วเมือง ไม่ใช่สวนใหญ่ที่ต้องเสียเงินสร้างนับพันล้าน และนับร้อยล้านต่อปีในการดูแล
7. ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ (บางกอกฟอรั่ม) "คุณรักแผ่นดินแท้จริงหรือไม่ คุณรักที่จะมอบแผ่นดินนี้ให้กลุ่มทุนกลุ่มเดียว หรือจะให้ความสุขกับประชาชนทั้งมวล”
ความจริง: ถ้ารักแผ่นดินจริง ต้องไม่เอาที่ดินของคนทั้งชาติมาให้คนหยิบมือเดียวฟรีๆ ไม่เอามาบำเรอนายทุนที่มีอสังหาริมทรัพย์รอบสวน ควรเอามาประมูลให้ได้เงิน 80,000 ล้านบาทจากภาคเอกชนมาพัฒนาการรถไฟฯ เพื่อคนทั้งประเทศ เงินจำนวนนี้ยังสร้างถนนปลอดฝุ่นได้ถึง 10,000 กิโลเมตร สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 15 สะพาน ซื้อที่ถูก ๆ รอบเมืองสร้างสวนได้มากกว่า 80 เท่าของมักกะสัน
8. ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล “เรามีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว จะไปจ้างคนมาทุบทิ้ง. . .หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของใครบางคน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ได้”
ความจริง: ต้องมองให้ไกล ทุบเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าต่อประเทศชาติ พัฒนาใหม่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เอื้อประโยชน์ต่อคนไทยและคนต่างชาติที่มาเยือน กลายเป็นเมืองที่ไม่มีวันหลับ เป็นอัตลักษณ์ที่มีประโยชน์ต่อชาติโดยตรง เป็นศูนย์ธุรกิจกลางศูนย์ธุรกิจ เมืองจะมีประสิทธิภาพ ไม่ขยายตัวแนวราบไม่สิ้นสุด
9. ตุลย์ ไวฑูรเกียรติ (ศิลปิน) “เราอยากให้ลูกหลานเติบโตขึ้นมาเพื่อมีความสุขกับการใช้สตางค์ เพื่อออกไปตากแอร์งั้นหรือ"
ความจริง: กรุงเทพมหานครมีความหนาแน่น 3,500 คนต่อ ตร.กม. ขณะที่สิงคโปร์ 7,000 คน และนิวยอร์ก 10,000 คน แต่ไม่แออัดเพราะเน้นสร้างสูง อย่างห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ก็เข้าฟรี แอร์เย็น คนเข้าห้างมากกว่าสวน ในห้างก็เรียนรู้ธรรมชาติได้ แถมการรถไฟฯ ได้เงิน 20,000 กว่าล้านจากค่าเซ้งแค่ 20 ปี
10. ทรงกลด บางยี่ขัน (นิตยสาร a day) “เป็นคนชื่นชอบรถไฟมาก ยิ่งรถไฟเก่ายิ่งชอบ. . .ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาชานชาลารถไฟเก่าปัดฝุ่นเป็นคาเฟ่สำหรับคนรักรถไฟ นั่งจิบกาแฟ ชมรถไฟสายสำคัญวิ่งผ่าน และสามารถถ่ายรูปกับรถไฟได้ โดยมีคนแต่งชุดเป็นกัปตัน. . ."
ความจริง: เป็นความคลั่งไคล้ส่วนตัว นานาจิตตัง แต่ท่านคงไม่ทราบว่า สถานีรถไฟใหญ่ใจกลางนครญี่ปุ่น กำลังจะทุบ จะรื้อเพื่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์ของคนเมืองโดยรวม
สถานีรถไฟเก่าในญี่ปุ่นกำลังจะแปลงโฉมเป็นสำนักงาน ศูนย์การค้าทั้งนั้น ไม่มีเอาไปทำสวน
อย่าดรามาถามว่า “เม็ดเงิน” กับ “ปอดคนกรุงเทพฯ” สิ่งใดสำคัญกว่ากัน? การพัฒนาเชิงพาณิชย์ก็รักษาปอดได้ มีอาคารเขียว ที่มีผัก ผลไม้ และความร่มเย็นได้ทั้งในอาคาร ระเบียง ดาดฟ้า ผนังตึก ฯลฯ ในยุคสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องสร้างแต่สวนพื้นราบให้เปลืองค่าดูแลอีกแล้ว ปีหนึ่งๆ กรุงเทพมหานครเสียค่าดูแลสวนเกือบ 1,300 ล้านบาท เราต้องการเงินเพื่อพัฒนาการรถไฟเพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ไปเบียดบังภาษีของคนทั้งประเทศ มาประเคนให้คนกรุงบางส่วน โดยเฉพาะเหล่านายทุนที่มีอสังหาริมทรัพย์รอบสวนนั่นเอง