ตามที่มีข่าวว่า รมว.คมนาคมไฟเขียวขึ้นค่าธรรมเนียมแท็กซี่ 2 สนามบิน ปรับจาก 50 บาท เป็น 75 และ 95 บาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกของการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียม จะให้ บมจ.การท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท) เป็นผู้รับภาระส่วนต่างค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น แต่ข่าวกล่าวว่า ทอท ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กรณีนี้นับเป็นปัญหา "หญ้าปากคอก" ที่ไม่น่าจะแก้ไขยาก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ทุกวันนี้หากประชาชนทั่วไปจะขึ้นรถแท็กซี่ ก็มักขึ้นไปเรียกที่ชั้นผู้โดยสารขาออกที่มีแท็กซี่มาส่งผู้โดยสารเป็นประจำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ยิ่งกว่านั้นจากปากคำของแท็กซี่บางรายยังกล่าวว่า บางครั้งยังต้องจ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัยบนชั้นผู้โดยสารขาออกเป็นเงินคันละ 20 บาทด้วย อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่พบเจ้าหน้าที่ของ ทอท. พยายามจะรักษากฎหมาย โดยการห้ามการรับผู้โดยสารบนชั้นผู้โดยสารขาออกเช่นกัน
เรื่องเช่นนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ แต่ถ้าหากเป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ในกรณีสนามบินของไทย หากผู้โดยสารต้องการขึ้นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างน้อย 50 บาท ซึ่งต่อไปจะเพิ่มเป็น 75 บาท แถมบางครั้งยังต้องรอนาน และสภาพรถที่โดยเฉลี่ยอาจดูเก่ากว่ารถแท็กซี่ทั่วไป ตลอดจนคนขับแท็กซี่ที่ดู "หัวหมอ" มากกว่าแท็กซี่ทั่วไปด้วย
การลงทะเบียนแท็กซี่ที่สนามบินอาจเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในความเป็นจริง ทางราชการที่เกี่ยวข้องควรควบคุมแท็กซี่ทุกคันอยู่แล้ว ไม่เฉพาะที่มารับส่งผู้โดยสารที่สนามบิน หากมีการควบคุมที่ดี ทอท. ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือให้เกิดช่องว่างที่อาจเกิดมีผู้มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้องกับการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อกาทุจริตได้
การที่แท็กซี่ทั่วไปขับรถไปส่งผู้โดยสารที่สนามบินแล้วต้องขับรถเปล่าออกมา เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องเผาผลาญน้ำมันไปโดยไร้ค่า และสูญเสียประโยชน์ของผู้ขับขี่แท็กซี่เอง ลามไปถึงผู้โดยสาร ซึ่งบางครั้งอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มแก่แท็กซี่ เพราะแท็กซี่บางรายอาจไม่ยินดีจะไปส่งที่สนามบิน กลายเป็นภาระของประชาชนผู้ใช้บริการไปอีก ยิ่งกว่านั้นในส่วนของแท็กซี่ที่สนามบินเองในทุกวันนี้ ยังต้องรอเวลาที่จะรับผู้โดยสารนานประมาณ 2-3 ชั่วโมง ยิ่งหากต้องไปส่งผู้โดยสารใกล้ ๆ ก็ยิ่งไม่คุ้มค่ากับการรอคอย
ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และ ณ สนามบินนานาชาติของประเทศสิงคโปร์ แท็กซี่ที่มาส่งผู้โดยสารขาออก จะวนไปรับผู้โดยสารขาเข้าได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีธรรมเนียมพิเศษสำหรับกรณีมาสังกัดกับสนามบิน ดังนั้นไทยจึงควรมีการควบคุม กำกับ ทดสอบสมรรถนะคนขับและรถอย่างสม่ำเสมอเพื่อผู้บริโภคแบบ One Stop Service ไม่จำเป็นที่หน่วยงานอื่นใด ต้องมากำกับอีก
การปล่อยให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม 75 บาทในอนาคตอันใกล้นี้จึงเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ข้างผู้บริโภค และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เงินจำนวนนี้แท็กซี่ได้ไปเต็ม ๆ หรือไม่ ก็ควรได้รับการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ในยุคสมัยนี้ ควรดำเนินการต่าง ๆ อย่างโปร่งใส และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ไม่ไปสร้างปัญหาบานปลายอื่นอีก
สนามบินเป็นหน้าตาสำคัญของประเทศไทย หากชาวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยแล้วเห็นการจัดการที่แลดูคล้ายไม่สุจริต อาจทำให้เสียชื่อเสียงได้ ในสิงคโปร์ ยังดูแลแท็กซี่ให้กลายเป็นดั่ง "ทูต" ของประเทศตน คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยว แทนที่จะเอาเปรียบ (ในโอกาสที่เป็นไปได้) เพื่อให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ และมาท่องเที่ยวอีกนั่นเอง