เมื่อไม่กี่วันมานี้ (4 มิถุนายน) ผมได้นำหนังสือไปยื่นให้กับลุงตู่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองนะครับ แต่เสนอวิธีการหาเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินนับล้านล้านบาท ผมเสนอไว้ดังนี้ครับ
สัมปทานรถไฟฟ้าใจกลางเมือง
การให้สัมปทานรถไฟฟ้าใจกลางเมือง ทั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องออกเงินก่อสร้างเอง จะทำให้เกิดรายได้สูง เพราะเป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ทางการเงิน มีผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการก่อสร้างออกไปนอกเมือง เช่น เส้นนราธิวาสราชนครินทร์-พระรามที่ 3-ท่าพระ (แทนรถ BRT ซึ่งไม่เวิร์ค) สายอนุสาวรีย์ชัย-คลองสามเสน-รามคำแหง ซ.12 (เชี่ยมสายสีส้ม) และสายสะพานพระรามที่ 9-รัชดาภิเษก-พระรามที่ 4-เอกมัย-ลาดพร้าว (แนวคล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีเทาแต่ไม่ผ่านทองหล่อ และไปถึงแค่ลาดพร้าวก็พอ
ตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ควรดำเนินการ
นอกจากนี้รัฐบาลยังควรให้สัมปทานรถไฟฟ้ามวลเบา (Light Rail หรือ Monorail) ที่ควรดำเนินการเชื่อมกับรถไฟฟ้ามาตรฐาน เพื่อรอบรับการจราจรในเมือง ได้แก่
1. ถนนทหาร-ประดิพัทธ์-สุทธิสาร-ลาดพร้าว 64 หรืออาจสร้างคร่อมบนคลองบางซื่อ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของถนนข้างต้นแทนเพื่อประหยัดค่าเวนคืนและปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้างก็อาจสามารถทำได้เช่นกัน
2. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ถนนสามเสน โดยคร่อมบนคลองสามเสน เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ราชบูรณะ
3. เทเวศน์-หัวลำโพง โดยสร้างเลียบถนนกรุงเกษมโดยรักษาคลองผดุงกรุงเกษมเอาไว้ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ราชบูรณะ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่หัวลำโพง
4. ช่องนนทรี-สวนพลู-ถนนจันทน์-เจริญกรุง-สี่พระยา-พญาไท โดยเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีช่องนนทรี กับพื้นที่ปิดล้อมถนนสวนพลู ถนนจันทน์ ถนนเจริญกรุง บางรัก สี่พระยา และตรงออกสู่ถนนพญาไทถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS ที่สยาม
5. สุขุมวิท 39-แสนแสบ-สุขุมวิท 55 เชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า BTS 2 สถานีคือสถานีพร้อมพงษ์และสถานีทองหล่อ
6. อุดมสุข-อ่อนนุช โดยเป็นการเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า BTS 2 สถานีคือสถานีอุดมสุข ไปตามถนนอุดมสุข ถึงสวนหลวง ร.9 และออกสู่ถนนอ่อนนุช เชื่อมกับสถานีอ่อนนุช ทั้งนี้ต้องมีข้อกำหนดให้สามารถสร้างอาคารพักอาศัยรอบๆ สวนหลวง ร.9 ได้ และในแต่ละวันมีผู้ใช้สวนหลวง ร.9 นี้เพียง 800 คน และส่วนมากเชื่อว่าจะเป็นผู้ที่ไปใช้บริการเดิมๆ ที่ไปออกกำลังกายเป็นประจำเป็นส่วนใหญ่
ข้อเสนอรถไฟฟ้ามวลเบา 6 เส้นทางสัมปทาน
ตัวอย่างรถไฟฟ้ามวลเบา (Light Rail หรือ Monorail) ในนครซิดนีย์ (ซ้าย) และนครซีแอตเติล (ขวา)
การให้สัมปทานเช่นนี้เชื่อว่าในกรณีรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไปแบบเดียวกับ BTS 3 สายข้างต้น คงเป็นเงินประมาณเส้นละ 40,000 ล้านบาทโดยเฉลี่ย ส่วนกรณีรถไฟฟ้ามวลเบา 6 เส้นทาง น่าจะเป็นเงินเส้นทางละ 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 240,000 ล้านบาท การทำรถไฟฟ้าในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป จะทำให้มีเอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันเสรี โดยไม่ต้องถูกผูกขาดโดยรายใหญ่ และรัฐบาลแทบไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินใด ๆ เพียงแต่ควบคุมและตรวจสอบการจัดทำสัญญาที่ไม่เสียเปรียบภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผมจะเสนอแต่ให้มีรถไฟฟ้า ผมเห็นว่าบางสายที่รัฐบาลวางแผนไว้ ควรเร่งให้มาก่อน บางสายควรหดหรือยกเลิก รถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ราชบูรณะ ผ่านถนนสามเสน เทเวศน์ คลองบางลำพู สะพานพระปกเกล้า ถนนพระเจ้าตากสิน ถนนสุขสวัสดิ์ ควรทำก่อนเส้นอื่นเพราะจะมีผู้ใช้บริการมาก รถไฟฟ้าสายสีส้มก็ควรสิ้นสุดที่แยกลำสาลี โดยไม่จำเป็นต้องไปถึงมีนบุรี เพราะยังมีจำนวนประชากรไม่หนาแน่นนัก ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่ ซึ่งขนานกันเพียง 2 กิโลเมตรกับสายสีแดงควรเลิก แล้วเชื่อมเข้าลำลูกกาผ่านสายสีแดงแทน เป็นต้น
สร้างอย่างหนาแน่นแต่ไม่แออัด
โดยที่ในเขตกรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการก่อสร้างมากมาย ทำให้การก่อสร้างอาคารต่าง ๆ จำกัด เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใจกลางเมืองมากขึ้น ผมจึงเสนอลุงตู่ให้กำหนดผังเมืองใหม่โดยให้การก่อสร้างในเขตใจกลางเมือง สามารถสร้างสูงได้ถึงประมาณ 15-20 เท่าของขนาดแปลงที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) โดยให้เว้นพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการก่อสร้างอาคารอัจฉริยะ อาคารเขียว เพื่อไม่ก่อมลภาวะ พื้นที่ใจกลางเมืองก็ควรให้มีการก่อสร้างสูงได้ ยกเว้น พื้นที่ประวัติศาสตร์ (เขตพระนคร) พื้นที่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร ยกเว้นบริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ก็ควรให้สร้างสูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มาใช้สวนสาธารณะแห่งนี้ได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
เขตที่ควรให้ก่อสร้างโดยมี FAR ถึง 20:1 และกำหนดให้เว้นพื้นที่โดยรอบเพิ่มเติม
การอนุญาตให้สร้างได้มากกว่าผังเมืองปัจจุบัน จะทำให้เกิดการก่อสร้างในใจกลางเมืองอีกมหาศาล (http://goo.gl/aBukys) โดยสมมติให้พื้นที่พาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 2 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ๆ ขายได้ประมาณ 70% หรือ 1.4 ล้านตารางเมตร และสมมติให้ตารางเมตรละ 60,000 บาท ก็เป็นเงิน 84,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นหากส่วนที่เพิ่มจากกฎหมายเดิม เก็บภาษี 10% ก็จะได้ภาษีนำมาพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มเติมอีก 8,400 ล้านบาท
การอยู่อาศัยในใจกลางเมือง ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบคมนาคมและขนส่งมวลชนออกไปชานเมืองอย่างไม่สิ้นสุดได้อีก เท่ากับประหยัดงบประมาณแผ่นดินไว้พัฒนาทางด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป ยิ่งกว่านั้นเมืองก็ไม่ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต คุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น แทนที่จะเสียเงิน เสียเวลาเดินทางไกลบนท้องถนน และเป็นการลดมลภาวะอีกด้วย
ถนนเลียบและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ในปัจจุบัน จำนวนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีจำกัด ทำให้การเดินทางสัญจรประสบปัญหาเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังขาดพื้นที่ถนนเพื่อการรองรับความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครในการทำหน้าที่ประสานการพัฒนากับจังหวัดภูมิภาค
กรุงโซล ซึ่งเป็นเมือง ‘อกแตก’ ตั้งอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ก็มีสะพานข้ามแม่น้ำถึง 30 สะพาน ห่างกันทุก 2 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย ยิ่งถ้าเป็นในย่านใจกลางเมือง ยิ่งมีความถี่ในการสร้างสะพานประมาณทุก 1 กิโลเมตร ในขณะที่กรุงเทพมหานคร มีสะพานตั้งแต่ช่วงวงแหวนรอบนอกด้านเหนือถึงวงแหวนรอบนอกด้านใต้เพียง 20 สะพาน ถือว่าระยะห่างเฉลี่ยระหว่างสะพานคือ 4.32 กิโลเมตร ในเขตใจกลางเมืองตั้งแต่สะพานพระราม 6 ถึงสะพานภูมิพล 1 มีเพียง 12 สะพาน โดยมีระยะห่างของแต่ละสะพานถึง 1.9 กิโลเมตรหรือเกือบ 2 กิโลเมตร
สะพานข้ามแม่น้ำทุก 1 กิโลเมตรในกรุงโซล
ดังนั้นผมจึงเสนอลุงตู่ให้สร้างสะพานเพิ่มเติมในกรุงเทพมหานครได้แก่ บริเวณถนนสุโขทัย-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 68, ถนนกรุงเกษม-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 44, ถนนเจริญกรุง-ถนนทวีธาภิเษก (อุโมงค์), ถนนท่าดินแดง-ถนนราชวงศ์, ถนนสี่พระยา-ถนนเจริญรัถ, ถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร 27, ถนนเจริญกรุง-ถนนพระรามที่ 2, ถนนบางนา-ตราด-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ข้ามบางกระเจ้า) และ ถนนสุขุมวิท-ถนนสุขสวัสดิ์ (ปากน้ำ-บางปลากด) ยิ่งกว่านั้นยังควรสร้างถนนเลียบแม่น้ำเช่นในกรุงโซล โดยก่อสร้างเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร (ไปกลับ) ทั้งสองฝั่ง เพื่อให้เป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย และเป็นการเพิ่มพื้นที่การจราจร
การมีสะพานน้อยทำให้ความเจริญกระจายออกไปในแนวราบโดยเฉพาะฝั่งตะวันออก สังเกตได้ว่าราคาทาวน์เฮาส์ ระดับไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ยังมีอยู่บริเวณถนนประชาอุทิศ ที่ตั้งอยู่เพียงข้ามฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากเป็นในฝั่งตะวันออก อาจต้องไปหาซื้อไกลถึงมีนบุรี ดังนั้นการมีสะพานข้ามแม่น้ำมากขึ้น ทำให้โอกาสที่ความเจริญจะกระจายไปในเขตใจกลางเมืองด้านตะวันตกก็จะมีมากขึ้น การพัฒนาก็จะหนาแน่นในเขตเมืองชั้นใน ไม่แผ่ไปในแนวราบมากนัก เปิดโอกาสให้ ‘ชาวกรุงธนฯ’ ได้เดินทางสะดวกและถือเป็นการเปิดช่องทางและทำเลในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น การก่อสร้างสะพานยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง และง่ายกว่าการสร้างทางด่วนหรือรถไฟฟ้า
การให้เอกชนดำเนินการเช่นจัดเก็บขยะ
ตามที่กรุงเทพมหานครระบุว่า มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะปีละ 6,000 ล้านบาท และจะขึ้นค่าจัดเก็บขยะ 10 เท่า ยิ่งกว่านั้นยังเกิดปัญหาขยะยังล้นเมืองไม่สามารถแก้ไขได้ ในประเทศไทยมีขยะ 26 ล้านตันต่อปี แต่กำจัดได้อย่างถูกต้องแค่ 7.2 ล้านตัน แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือการให้ภาคเอกชนรับสัมปทานการจัดเก็บ ทำลายขยะและนำขยะกลับมาใฃ้ใหม่ ทั้งนี้แบ่งออกเป็นหลายๆ บริษัท เพื่อป้องกันการผูกขาด และให้มีการควบคุมโดยใกล้ชิด ที่ผ่านมาภาคเอกชนสามารถกำจัดขยะและนำมาหารายได้ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ในประเทศสิงคโปร์ มีขยะปีละ 7.5 ล้านตัน สามารถรีไซเคิลได้ถึง 60% นำไปเผาและผลิตพลังงานได้ 38% ที่เหลือเพียง 2% เท่านั้นที่นำไปฝังกลบ
นอกจากจะลดค่าจัดเก็บขยะปีละ 6,000 ล้านบาทของกรุงเทพมหานครแล้ว ยังสามารถเกลี่ยเจ้าหน้าที่ไปทำงานอื่น และยิ่งกว่านั้นยังอาจสามารถสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เสียอีก เช่นในกรุงเทพมหานคร อาจประหยัดงบประมาณแผ่นดิน รวมค่าเครื่องจักร ทรัพยากรมนุษย์ และอื่น ๆ ปีละราว 10,000 ล้านบาท
โครงการที่ไม่ควรดำเนินการ
ในขณะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ทางราชการต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพและให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ ยังมีบางโครงการที่ไม่ควรดำเนินการ เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น ควรยกเลิกแนวคิดที่จะนำมักกะสันไปทำสวนสาธารณะ ที่ดินแปลงนี้พึงใช้เพื่อกิจการรถไฟโดยเฉพาะ ในการเชื่อมต่อรถไฟของสนามบิน 2 แห่ง และรถไฟฟ้าต่าง ๆ ควรเป็นศูนย์รวมการคมนาคมของการรถไฟ
ลุงตู่ควรยกเลิกโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา 14,000 ล้านบาท เพราะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ควรสร้างให้เป็นถนน 6 ช่องทางจราจร ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แทน ยิ่งกว่านั้นยังควรยกเลิกการสร้าง Skywalk ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย สกายวอล์คเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางนาและสถานีบีทีเอสอุดมสุข สกายวอล์คเชื่อมระหว่างสถานีสุรศักดิ์กับสถานีสะพานตากสิน เพราะค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรแพงกว่าสร้างตึกสูงเสียอีก และไม่เกิดประโยชน์ เพราะบริเวณดังกล่าว ไม่ค่อยมีผู้เดินสัญจรมากนัก ควรสร้างช่วงสุรศักดิ์-ช่องนนทรี น่าจะมีผู้ใช้ประโยชน์มากกว่า
พวกเรามาหนุนช่วยลุงตู่พัฒนาเมืองทั้งเมืองกรุงและเทศบาลต่างๆ กันนะครับ แต่ภายใต้กรอบที่ลุงประกาศเองว่า "ขอเวลาอีกไม่นาน" คงไม่อ้างคนรอบข้างว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ให้อยู่ต่อนะครับ อิ อิ