แนวทางการสร้างพื้นที่สีเขียวยุคใหม่
  AREA แถลง ฉบับที่ 150/2558: วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ เสนอแนวคิดใหม่ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง โดยไม่เปลืองงบประมาณแผ่นดินและสร้างสวนสาธารณะกระจายให้ประชาชนได้ใช้ทุกหัวระแหง

            การที่มีเสียงเรียกร้องให้ใช้พื้นที่มักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ควรให้ รฟท. นำไปใช้เพื่อเป็นศูนย์คมนาคมเชื่อมต่อ 2 สนามบินและรถไฟฟ้าเส้นอื่นๆ ที่จะผ่านมากในบริเวณใกล้เคียง โดย รฟท. อาจพัฒนาโรงแรมที่พัก ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้า และอื่น ๆ เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการนับแสน ๆ คนต่อวัน และยังอาจเหลือพื้นที่อีกราว 40% เป็นพื้นที่สีเขียว ถนน ตลอดจนสาธารณูปโภคอื่น ๆ

            กรณีนี้สังคมพึงเข้าใจแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวตามแนวคิดใหม่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะการนำที่ดินมักกะสันมาทำสวนสาธารณะทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเงินเป็นเงิน 80,000 หมื่นล้านบาท ค่าพัฒนาเป็นสวนสาธารณะอีกนับพันล้านบาท และค่าบำรุงรักษาอีกนับร้อยล้านต่อปี อาจนำเงินส่วนนี้ไปสร้างสวนสาธารณะชานเมือง จะสามารถสร้างได้อีกเป็นพื้นที่เกือบร้อยเท่าของที่ดินมักกะสัน

            แนวคิดใหม่ในการทำสวนสาธารณะ ก็คือการสร้างสวนขนาดเล็กกระจายทั่วเมืองทำให้เข้าถึงชุมชนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ทำให้มีใช้มากขึ้น การสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ยังเป็นความสิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก เพราะมีผู้ใช้สอยน้อย เมื่อเทียบเคียงกับพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่นสวนลุมพินีมีผู้ใช้บริการเพียงวันละ 8,500 คน สวนหลวง ร.9 มีผู้ใช้บริการวันละ 800 คน หรือสวนจตุจักรมีผู้ใช้บริการประมาณวันละ 3,500 คน

            อีกกรณีหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง ก็คือ การอนุญาตให้สร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษในใจกลางเมือง โดยเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่ก่อสร้างต่อพื้นที่ดิน (floor area ratio) เป็น 15-20:1 จากที่สูงสุดเพียง 10:1 และส่วนมากประมาณ 4-6:1 ในปัจจุบัน แล้วให้เว้นพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่โล่งเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง ก็จะทำให้ใจกลางเมืองมีความน่าอยู่มากขึ้น

            นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมให้สร้างอาคารอัจฉริยะ อาคารเขียว อาคารอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตัวอาคารพร้อมกับการปลูกผัก ผลไม้ ต้นไม้ในอาคาร บนดาดฟ้า ระเบียง ผาผนังภายนอก และอื่น ๆ อันจะทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกันกับการสร้างสวนสาธารณะ

            นอกจากนั้นอาคารศูนย์ราชการต่าง ๆ ใจกลางเมืองควรให้ย้ายไปรวมกันในศูนย์ราชการอย่างมีประสิทธิภาพ และเอาพื้นที่เหล่านี้มาพัฒนาโดยเว้นพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว และเน้นการสร้างอาคารเขียว ขณะเดียวกันก็ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย ก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปในทางการเดียวกันได้ ทั้งนี้โดยการเว้นพื้นที่ประมาณ 30-40% เพื่อการทำเป็นพื้นที่สีเขียวเช่นเดียวกับกรณีมักกะสัน

            การเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองโดยวิธีข้างต้นจะทำให้รัฐบาลหรือท้องถิ่นประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างสวนสาธารณะ รวมทั้งงบประมาณในการบำรุงรักษา และหากจัดการได้ดีพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ยังสามารถจะยืนได้ด้วยตนเองด้วยการเก็บค่าเข้าใช้บริการในโอกาสต่าง ๆ เช่นการจัดกิจกรรมของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น

 

อ่าน 4,548 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved