ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ไม่มี มีแต่ความซบเซาที่ทุกคนพึงระวัง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบ แสดงว่าเศรษฐกิจซบหนัก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม-พฤษภาคม 2558) เปรียบเทียบกับ 5 เดือนแรกปี 2557 มีจำนวนโครงการที่เปิดใหม่รวม 127 โครงการ (ลดลง -36%) มีจำนวนหน่วยขายรวม 38,371 หน่วย (ลดลงประมาณ -14%) มีมูลค่ารวม 165,311 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 28%) และมีราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจาก 2.880 ล้านบาทเป็น 4.308 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 50%) โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยที่เปิดขายมากสุด คืออาคารชุดจำนวน 24,339 หน่วย (63%) รองลงมา คือ ทาวน์เฮ้าส์ 8,400 หน่วย (22%) และอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยว 3,492 หน่วย (9%) ตามรายละเอียดในตารางที่ 4
ปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นในปีนี้ก็คือ มีห้องชุดราคาเกินกว่า 20 ล้านบาท จำนวน 1,151 หน่วย เปิดตัวในช่วงเวลานี้ รวมมูลค่าถึง 41,460 ล้านบาท ข้อนี้ในแง่หนึ่งชี้ให้เห็นว่าที่อยู่อาศัยราคาแพง ยังไม่ได้รับผลกระทบ ยังมีการเปิดตัวเป็นอันมาก ส่วนที่อยู่อาศัยราคาปานกลางค่อนข้างถูก อาจได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ
อีกประเด็นหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือ มูลค่า 41,460 ล้านบาทของห้องชุดราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 3% ของที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวนั้น กลับมีสัดส่วนมูลค่าสูงถึง 38% ของมูลค่าห้องชุดทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลควรจะคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อ หากผู้ประกอบการเกิดมีปัญหาขึ้นมา จะทำให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจได้
ถ้าตัดกลุ่มบ้านเดี่ยวและห้องชุดในราคามากกว่า 20 ล้านบาทออกไปแล้ว จะพบว่า มีจำนวนหน่วยเปิดใหม่ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา 36,988 หน่วย รวมมูลค่า 116,527 ล้านบาท เมื่อประมาณการอุปทานทั้งปี โดยคูณด้วย 12 หาร 5 โดยไม่ปรับการผันแปรตามฤดูกาล ก็คาดว่า ในปี 2558 นี้ จะมีอุปทานบ้านราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท จำนวน 88,771 หน่วย รวมมูลค่า 279,665 ล้านบาท
ในปี 2557 มีหน่วยขายที่มีราคาเสนอขายไม่เกิน 20 ล้านบาททั้งหมด 113,645 หน่วย รวมมูลค่า 332,010 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2558 จะพบว่า จำนวนหน่วยน่าจะลดลง 22% และมูลค่า ลดลง 16% เหตุที่มูลค่าลดลงน้อยกว่าจำนวนเพราะในปี 2558 ยังเน้นการสร้างที่อยู่อาศัยระดับราคาที่สูงกว่าปี 2557 แสดงว่าในปี 2558 ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อย อาจมีโอกาสสร้างได้น้อยลง ตามอุปสงค์ที่อาจลดลง
ภาวะเช่นนี้ จะส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยยิ่งหดตัวลงจากปี 2557 ซึ่งหดตัวจากปี 2557 ถึง 11% ในแง่มูลค่า และ 13% ในแง่จำนวนหน่วย ผู้รับเหมาสร้างบ้านอาจมีปัญหาก่อน ตามด้วยผู้จองซื้อบ้านก็อาจมีปัญหาตามมาได้ ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินและสถาบันการเงินอาจได้รับกระทบตามลำดับ การอำนวยสินเชื่อจึงต้องให้การระมัดระวังเป็นพิเศษ