ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดความเร็วรถในเมือง การปรับนาทีละ 100 บาท ฐานทำรถติด ทำเลนจักรยานใจกลางเมือง เท่ากับเป็นการฆ่าคนขี่จักรยานโดยเฉพาะ เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีมาก นิวยอร์กยังไม่สำเร็จ เป็นการเบียดบังช่องทางการจราจรที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วอีกต่างหาก ดร.โสภณ เสนอให้ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยาน พร้อมเสนอแนวทางการสร้างเมืองจักรยานที่แท้จริง
ล่าสุด ได้ดำเนินการก่อสร้างทางจักรยานตามนโยบายของรัฐบาล ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 765 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 19 กิโลเมตร และเตรียมการก่อสร้างเพิ่มอีก 2,225 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าคงมีแต่ตัวเลข ไม่อาจสร้างได้จริง เพราะไม่เป็นประโยชน์ ท่านรัฐมนตรี และครอบครัวเอง ก็คงไม่ขี่จักรยาน ปกติรถก็ติดมากมายอยู่แล้ว ถนนควรสร้างเพิ่ม แม้ไม่มีรถใหม่สักคัน เพราะตอนนี้มีน้อยกว่าจำนวนรถเป็นอันมาก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ผู้ซึ่งได้เดินทางไปดูงานอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก เห็นว่า การสร้างเลนจักรยานตามถนนต่าง ๆ ในพื้นที่ใจกลางเมือง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมีสูงมาก เท่ากับเป็นการฆ่าผู้ขี่จักรยานโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ขี่จำนวนหนึ่งคุ้นชินกับการขี่บนถนนใหญ่และขี่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถือเป็นบุคคลยกเว้นจำนวนน้อยนิด
ยิ่งกว่านั้นการมีเลนจักรยานบนถนนสายต่าง ๆ ใจกลางเมือง ยังเป็นการเบียดบังพื้นที่การจราจรที่มีอยู่น้อยมากอยู่แล้ว ให้น้อยลงไปอีก เป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมโดยรวมอีกต่างหาก การที่จะคาดหวังว่าลำพังการสร้างเลนจักรยาน จะเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนหันมาใช้จักรยาน จะเป็นเพียงความฝันเท่านั้น หากขืนดำเนินการต่อไปจะเป็นความสูญเปล่า และความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
การขี่จักรยานในนิวยอร์ก อาจไม่เหมือนโคเปนเฮเกน: http://nymag.com/news/features/bike-wars-2011-3/
การขี่จักรยานในโคเปนเฮเกน ก็ยังใช้ทางเท้า ใช่จะทำเลนจักรยานล้ำเข้าถนนเสียทั้งหมด และที่เขาเป็นเมืองหลวงจักรยานได้เพราะระบบขนส่งมวลชนไม่ทั่วถึงและที่สำคัญราคาแพงเกินไป
ในนครแทบทุกแห่งของญี่ปุ่น ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยานแทนการสร้างล้ำเข้าไปในถนนที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ยกเว้น ในพื้นที่เมืองนอกเมืองที่สร้างขึ้นใหม่
ในกรุงโซล ก็ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยานเป็นหลัก
ในนครคุนหมิง ก็ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยาน (ยกเว้นพื้นที่เมืองใหม่) แม้แต่จักรยานยนต์ไฟฟ้า ก็ใช้ทางเท้าได้
ประสบการณ์ขี่จักรยานของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ในกรุงวอชิงตันดีซี
สำหรับแนวทางการพัฒนาเลนจักรยานอย่างมีบูรณาการนั้น ดร.โสภณ เคยเสนอ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ใน AREA แถลง ฉบับที่ 31/2556: 28 มีนาคม 2556 (http://goo.gl/sX7ppC) มีไว้ดังนี้
การส่งเสริมการใช้จักรยานทำได้จริงเพียงการทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลายเพื่อการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง เช่น เขตบางรัก พญาไท ยานนาวา สาทร ปทุมวัน วัฒนา คลองเตย และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้
หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใด ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น
ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ 17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน
หากพิจารณาถึงผลดีที่ได้ด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก และแนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย
โดยนัยนี้ เราต้องรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ใช้รถจักรยานเช่าเสียก่อน ถ้าคนจำนวนมากขี่จักรยาน เลนจักรยานก็ไม่ต้องมี แต่ระยะแรกต้องมีอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก ระวังอุบัติเหตุบนถนนในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังสามารถจัดทำอาคารจอดรถเพื่อการพักรถก่อนเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานครโดยรถจักรยาน ตลอดจนการสร้างหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ สร้างห้องอาบน้ำสาธารณะ หรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น
กรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา (แต่ต้องปรับเรื่องท่อและความเรียบ) บางคนนึกอิจฉาที่ชาวตะวันตกใส่สูทขี่จักรยานไปทำงานเพราะเมืองไทยร้อน แต่ในหน้าหนาวพวกเขาก็ทำเท่ไม่ได้ ถ้าเราจะขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เราก็ควรต้องมีชุดที่ปกคลุมร่างกายให้ดี แล้วค่อยไปเปลี่ยนชุดที่ทำงาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง (ที่แท้) เช่นชาวตะวันตก คนเมืองควรทำเมืองให้สะอาดปลอดมลพิษด้วยสองมือของเรา
กรุงเทพมหานครอาจต่างจากกรุงโคเปนเฮเกนที่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีค่าใช้จ่ายสูง ชาวบ้านจึงนิยมขี่จักรยานเองมากกว่า แต่สำหรับประเทศไทย ควรมีระบบขนส่งมวลชนมากกว่านี้ เพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคล ซึ่งทำให้มีปริมาณรถน้อยลง การขี่จักรยานยนต์จะปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง