อย่าโยงการเมืองกับ 7-eleven & CP
  AREA แถลง ฉบับที่ 161/2558: วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีข่าวต้าน 7-eleven ในไทยที่หาว่าขายกระทั่งอาหาร ไม่เผื่อแผ่โอกาสให้แม่ค้าทั่วไปบ้าง จนเลยเถิดถึงการผูกขาดตัดตอนของกลุ่ม CP ดร.โสภณมองว่าการขายอาหารในร้านเป็นแนวคิด 7-eleven อย่างน้อยก็ในภูมิภาคนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวกับ CP

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพยืไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำการสำรวจวิจัยและประเมินค่าศูนย์การค้าและกิจการค้าปลีกแทบทุกประเภทในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้นำเสนอความเห็นต่อกรณีการดูเหมือนผูกขาดของ 7-eleven อย่างไรก็ตามการแสดงความเห็นนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์ใดๆ ดร.โสภณ เป็นนักวิจัยและผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นกลางทางวิชาชีพโดยไม่ทำกิจการนายหน้า หรือไม่พัฒนาที่ดินเอง

            ขณะนี้ ดร.โสภณ กำลังสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่กรุงมะนิลา ได้พบว่ามีร้าน 7-eleven มากมาย เช่นในประเทศไทย แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในร้านยังมีมุมให้นั่งทานอาหารที่ซื้ออีกต่างหาก ผู้เข้ามานั่งรับประทานก็มีทุกเพศทุกวัย ในประเทศไทยยังคงไม่มีมุมทานอาหารในลักษณะนี้


ฟิลิปปินส์: ในร้านก็ยังมีมุมให้นั่งทานอาหารสบายๆ (ดร.โสภณ พรโชคชัย เพิ่งถ่ายเอง)

            ในอินโดนีเซีย ดร.โสภณ เคยไปพบมาตั้งแต่ พ.ศ.2550 ที่ปรากฏว่าหน้าร้าน 7-eleven แทบทุกแห่งจะจัดที่ให้นั่งรับประทานอาหารอยู่ข้างร้าน บ้างก็มีพื้นที่ขนาดใหญ่พอๆ ตัวร้านเองเลย ก็ปรากฏว่ามีผู้นิยมมาทานอาหารที่หน้าร้าน 7-eleven เป็นจำนวนมาก และส่วนมากก็คงเป็นเยาวชนและอื่นๆ


อินโดนีเซีย: ทำคล้ายภัตตาคารพร้อมที่จอดรถข้างร้าน 7-eleven เลย http://goo.gl/lAT7Ef

            ในมาเลเซีย ก็มีข่าวตั้งแต่ปีที่แล้วว่า 7-eleven แห่งใหม่ๆ จะมีมุมนั่งรับประทานอาหารภายในร้านเช่นกัน นี่คงแสดงให้เห็นว่า 7-eleven ในแทบทุกประเทศเพื่อนบ้านของเรา มีนโยบายในการขยายกิจการด้านอาหาร อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาจับจ่ายในร้าน


มาเลเซีย: กำลังจะสร้างมุมทานอาหารในร้าน 7-eleven เช่นกัน https://goo.gl/L2wUwR

            สำหรับในญี่ปุ่นที่ ดร.โสภณ เดินทางไปบ่อยๆ ก็พบว่า ร้าน 7-eleven ของญี่ปุ่น ก็มีจัดที่จอดรถไว้พร้อมสรรพเช่นกัน ก็คล้ายกับกิจการน้ำมันที่มีพื้นที่ให้นั่งรับประทานอาหารภายในสถานีบริการน้ำมันเป็นต้น ส่วนในร้าน 7-eleven เล็กๆ ในใจกลางเมืองที่ไม่มีที่จอดรถ ก็มีอาหารขาย กระทั่งเต้าหู้ ไข่ต้ม ดูคล้ายแย่งอาชีพของแม่ค้าทั่วไปยิ่งกว่าในไทยเสียอีก


ญี่ปุ่น: 7-eleven หลายแห่งมีขนาดใหญ่พร้อมที่จอดรถ ไข่ต้มก็ขาย http://goo.gl/Om8cJA

            ในกรณีของสิงคโปร์ ยังพบร้าน 7-eleven ตั้งขายเป็นบูธ หรือกล่อง (Kiosk) อยู่ริมถนนออร์ชาร์ด ซึ่งเป็นแหล่งค้าปลีกหลักแห่งหนึ่งของสิงคโปร์ แต่ก็ใช่จะมียี่ห้อเดียว มียี่ห้ออื่นด้วย ที่สำคัญต้องมีการขออนุญาตถูกต้อง ไม่ใช่ละเมิดกฎหมาย ตั้งแผงลอยกันเต็มไปหมด โดยเอาเงินเข้ากระเป่าใครก็ไม่รู้


สิงคโปร์: บุกเปิดข้างถนนแบบกล่องข้างทางเลย http://goo.gl/pvq3xl

            ภาพต่างๆ ที่พบในหลายประเทศข้างต้นชี้ให้เห็นว่า 7-eleven คงมีนโยบายขยายกิจการด้านการขายอาหารสำเร็จรูปทั่วไปอย่างน้อยก็ในภูมิภาคนี้ และไม่เฉพาะ 7-eleven แม้แต่ Family Mart หรือร้านสะดวกซื้อยี่ห้ออื่นๆ ต่างก็ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกันเช่นกัน คล้ายๆ กับกิจการน้ำมัน ซึ่งมีการค้าปลีก และพื้นที่รับประทานอาหารภายในสถานีบริการน้ำมัน จากประสบการณ์ในการนับรถ แจงนับการจราจรของ ดร.โสภณ พบว่า ในสถานีบริการหลายแห่ง รายได้จากการค้าปลีกสินค้า ใกล้เคียงกับรายได้จากน้ำมันด้วยซ้ำไป

            การขายอาหารใน 7-eleven ดูคล้ายกับการตัดโอกาสของแม่ค้าทั่วไป ก็คล้ายกับการเกิดของ 7-eleven ก็ถูกกล่าวหาว่าทำลายร้านโชห่วยเล็กๆ แต่ปรากฏว่าร้านเล็กๆ ก็ยังเกิดขึ้นมากมาย แต่รายเดิมๆ บ้างก็ปิดเพราะคนขายอายุมากแล้ว ลูกๆ ไม่สืบทอดกิจการแบบนี้ เป็นต้น กรณีนี้ควรมองในมุมมองใหม่ในการแข่งขันเสรีโดยเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่แม่ค้ารายใหญ่หรือรายเล็กเป็นศูนย์กลาง

            การเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง อันดับแรกก็ต้องดูว่าร้านไหนขายถูกกว่า มีคุณภาพที่ดีกว่า จะเห็นแก่แม่ค้าอย่างในอินเดีย (ที่ห้ามเครือข่ายค้าปลีกเข้าไปในประเทศ) อาจไม่จำเป็นว่าเป็นสิ่งที่สมควร เพราะในแง่หนึ่งก็อาจกำลัง “สูบเลือด” จากประชาชนตาดำๆ อยู่ก็ได้ ปรากฏการณ์นี้ยังคล้ายกับการพยายาม “ตีกัน” ไม่ให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เข้าไปในเมืองภูธร เพื่อหวังรักษาฐานะการ “ปิดประตูตีแมว” ของตนเอง

            แต่บางท่านก็ห่วงว่า หากร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้ออื่น หรือห้างท้องถิ่น/ภูธรถูก “ลบ” หายไป จะทำให้เกิดการผูกขาด แต่ในความเป็นจริง ก็จะมีการแข่งขันเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่เคยมีการผูกขาดที่แท้ (ยกเว้นอุปโลกน์กันเอาเอง) แม้แต่น้ำดำจะเหลือแค่ 2 รายหลัก แต่ก็ยังมีรายอื่นๆ เกิดขึ้น หรือแม้แต่ยี่ห้อรถยนต์ ยี่ห้อกระเป๋า หรือยี่ห้อเครื่องสำอางใหญ่ๆ จะมีไม่กี่ยี่ห้อ แต่ก็ยังมียี่ห้อท้องถิ่นหรือยี่ห้อเล็กๆ เกิดขึ้นและดำรงอยู่เช่นกัน

            ในสงครามการค้า บางรายกลับนำความเป็นชาติมาหากิน เช่น ครั้งหนึ่ง เราเคยมีการรณรงค์ว่า “รักเมืองไทย ใช้ (น้ำมันยี่ห้อหนึ่งของไทย)” แต่ในความเป็นจริง หากน้ำมันยี่ห้อ JET (ที่เดี๋ยวนี้ย้ายฐานไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียแล้ว) ขายถูกกว่า มีห้องน้ำบริการฟรีที่ถูกกว่า จะให้คนไทยตาดำ ๆ ไปใช้บริการของน้ำมันยี่ห้อคนไทยที่ขายแพงกว่า บริการแย่กว่าได้อย่างไร คนไทยทั่วไปยิ่งมีเงินอยู่จำกัด ยังจะใช้ความเป็นชาติมาหลอกเบียดบังอีก นี่คงเป็นสิ่งที่ไร้คุณธรรมยิ่งกว่าหรือไม่

            ดร.โสภณ เองก็ทำธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ โดยพัฒนาไปถึงระดับนานาชาติแล้ว แต่ในวงการนี้ก็มีรายใหญ่จากต่างประเทศเช่นกัน เราจะมาใช้ “มารยา” บอกว่า “รักเมืองไทย ใช้ของไทย” ถ้าจะให้คนไทยใช้ของไทย สินค้าและบริการของไทย ต้องมีคุณภาพทัดเทียมต่างชาติแต่ในราคาที่ถูกกว่า จึงจะสู้เขาได้  แต่ถึงแม้ทัดเทียมและถูกกว่า บางคนก็ยังอาจ “เห็นขี้ฝรั่งหอม” ใช้ของนอก  อันนี้ก็คงนานาจิตตัง

            การยึดประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่หรือสามัญชนเป็นที่ตั้งจึงเป็นสิ่งที่สมควรที่สุด เป็นมงคลที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และอยู่ได้อย่างยั่งยืนกับสังคมส่วนรวม

อ่าน 2,591 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved