อ่าน 1,941 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 23/2554: 22 มีนาคม 2554
เร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          ‘โสภณ’ ยกตัวอย่างกรุงโซล ชี้ทางลัดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพมหานคร และเศรษฐกิจไทยด้วยการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10 สะพาน
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอส้งหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ในขณะที่การสร้างทางด่วน รถไฟฟ้ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากและเชื่อช้า เนื่องจากปัญหาการเมือง แนวทางหนึ่งในการพัฒนาเมือง ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและเศรษฐกิจก็คือ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพิ่มขึ้น โดยควรสร้างอีกอย่างน้อย 10 สะพาน เพื่อกระจายความเจริญ

          ดร.โสภณ ยกตัวอย่างกรุงโซล ซึ่งเป็นเมือง ‘อกแตก’ ตั้งอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ก็มีสะพานข้ามแม่น้ำถึง 30 สะพาน ห่างกันทุก 2 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย ยิ่งถ้าเป็นในย่านใจกลางเมือง ยิ่งมีความถี่ในการสร้างสะพานประมาณทุก 1 กิโลเมตร ในขณะที่กรุงเทพมหานคร มีสะพานตั้งแต่ช่วงวงแหวนรอบนอกด้านเหนือถึงวงแหวนรอบนอกด้านใต้เพียง 20 สะพาน ถือว่าระยะห่างเฉลี่ยระหว่างสะพานคือ 4.32 กิโลเมตร ในเขตใจกลางเมืองตั้งแต่สะพานพระราม 6 ถึงสะพานภูมิพล 1 มีเพียง 12 สะพาน โดยมีระยะห่างของแต่ละสะพานถึง 1.9 กิโลเมตรหรือเกือบ 2 กิโลเมตร
          การมีสะพานน้อยทำให้ความเจริญกระจายออกไปในแนวราบโดยเฉพาะฝั่งตะวันออก สังเกตได้ว่าราคาทาวน์เฮาส์ ระดับไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ยังมีอยู่บริเวณถนนประชาอุทิศ ที่ตั้งอยู่เพียงข้ามฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากเป็นในฝั่งตะวันออก อาจต้องไปหาซื้อไกลถึงมีนบุรี ดังนั้นการมีสะพานข้ามแม่น้ำมากขึ้น ทำให้โอกาสที่ความเจริญจะกระจายไปในเขตใจกลางเมืองด้านตะวันตกก็จะมีมากขึ้น การพัฒนาก็จะหนาแน่นในเขตเมืองชั้นใน ไม่แผ่ไปในแนวราบมากนัก เปิดโอกาสให้ ‘ชาวกรุงธนฯ’ ได้เดินทางสะดวกและถือเป็นการเปิดช่องทางและทำเลในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
          ดร.โสภณ กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง และง่ายกว่าการสร้างทางด่วนหรือรถไฟฟ้า สำหรับการเวนคืน ก็เวนคืนพื้นที่น้อยกว่า ดร.โสภณเสนอให้จ่ายค่าทดแทนการเวนคืนสูงกว่าราคาตลาดอีก 10% เพื่อกระตุ้นให้มีการเวนคืนโดยเร็ว และพัฒนาสะพานได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามในการเวนคืน ทางราชการจำเป็นต้องประเมินค่าทรัพย์สินให้ถูกต้องตามราคาตลาด จะใช้ราคาเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่กรมธนารักษ์ จัดทำขึ้นไม่ได้

แผนที่แสดงสะพานข้ามแม่น้ำในกรุงโซล เกาหลีใต้

          พื่นที่ที่ควรสร้างสะพานเพิ่มเติมในกรุงเทพมหานครได้แก่ บริเวณถนนสุโขทัย-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 68, ถนนกรุงเกษม-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 44, ถนนเจริญกรุง-ถนนทวีธาภิเษก (อุโมงค์), ถนนท่าดินแดง-ถนนราชวงศ์, ถนนสี่พระยา-ถนนเจริญรัถ, ถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร 27, ถนนเจริญกรุง-ถนนพระรามที่ 2, ถนนบางนา-ตราด-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ข้ามบางกระเจ้า) และ ถนนสุขุมวิท-ถนนสุขสวัสดิ์ (ปากน้ำ-บางปลากด)
          อาจกล่าวได้ว่า นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว กรุงลอนดอน กรุงปารีส และมหานครสำคัญอื่น ๆ ล้วนมีสะพานข้ามแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้เมืองไม่พัฒนาไปในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และทำให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเมืองอย่างเข้มข้นและไม่พัฒนาไปในแนวราบ ซึ่งทำให้สาธารณูปโภคต้องตามออกไปรอบนอกอย่างไม่สิ้นสุด เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved