AREA แถลง ฉบับที่ 139/2556: 9 ตุลาคม 2556
กรณีเขื่อนแม่วงก์ ถ้าคิดแบบ NGOs ต้องรื้อเขื่อนทั่วประเทศ
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
www.facebook.com/dr.sopon4
ถ้าคิดแบบ NGOs นักค้านเขื่อน บรรดาเขื่อนใหญ่ ๆ ที่มีคุณค่าอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติมาตลอด 2 ชั่วคนทั้งหลาย ก็คงไม่ควรสร้าง และหากรื้อทิ้งเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าได้ ก็คงยิ่งดี ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ กรณีเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ซึ่งนักค้านเขื่อนสะท้อนให้เห็นภาพสัตว์ป่าที่หนีน้ำท่วมอย่างสุดจะน่าสงสาร เพื่อนำมาอ้างอิงค้านเขื่อนแม่วงก์
แต่ก่อนอื่น ผมขอเรียนว่า ผมออกมามองต่างมุมจากพวกนักค้านเขื่อนนั้น ใช่ว่าผมสนับสนุนการทำลายสิ่งแวดล้อม ผมปลูกป่า เขียนบทความส่งเสริมการรักษาป่า จัดประกวดเรียงความชิงโล่สมเด็จพระเทพฯ เพื่อรักษาป่า ฯลฯ แต่ที่ผมออกมา ‘มองต่างมุม’ ก็เพราะเหตุผลที่นักค้านเขื่อนนำมาอ้างนั้น หลายอันฟังดูคล้ายมีเหตุมีผล แต่ความจริงขาดน้ำหนักและเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง
ผมไม่ได้อยากดังในทางถูกให้ด่า หาไม่ก็คงอวยๆ มอบช่อดอกไม้ให้กับพวกนักค้านที่อาศัยความน่ารัก น่าสงสารของคน สัตว์ สิ่งของมา “ดรามา” ไม่ดีกว่าหรือ เพียงแต่ผมไม่กลัวเปลืองตัว และหวังให้สังคมได้พิจารณาให้ถ่องแท้ ผมเชื่อว่ามีหลายท่านอาจไม่เห็นด้วยกับนักค้านเขื่อน แต่ไม่กล้าออกมาขวางในยามน้ำเชี่ยวเพราะกลัวเปลืองตัว บังเอิญผมไม่กลัว เพราะไม่มีเบื้องหลังและทำดีมาโดยตลอด
ในกรณีเขื่อนรัชชประภา ได้มีการนำวีดีโอของคุณสืบ นาคะเสถียร {1} ที่ทำหน้าที่ช่วยอพยพสัตว์ป่าจากการติดเกาะหลังจากเกิดเขื่อนรัชประภาแล้ว มาเผยแพร่เพื่อให้คนหลงถึงความน่าสงสารของสัตว์ และไพล่มาแนะนำว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์จะได้ไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก แต่ในความเป็นจริง เขื่อนแม่วงก์ ไม่มีโอกาสเกิดเกาะเช่นนี้ เพราะเป็นที่ราบ
แม้ในกรณีเขื่อนรัชชประภาเอง ไม่ควรสร้างจริงหรือ เขื่อนนี้มีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนแม่วงก์นับสิบเท่า ตั้งอยู่ในเขตอุทยานเหมือนกัน อีกทั้งอยู่ในเทือกเขาหินปูนเช่นเดียวกับเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งนักค้านเขื่อนสำทับว่าไม่ควรสร้างเพราะหินปูนจะเก็บน้ำไม่อยู่ แต่จากการสร้างเขื่อนรัชชประภามาแล้ว 25 ปี ก็ไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด
หากประเมินด้วยใจที่เป็นธรรม ระหว่างวันนี้ไม่มีเขื่อนรัชชประภา กับมีเขื่อนรัชชประภา อย่างไรจะคุ้มค่ากว่ากัน เชื่อว่าวิญญูชนคงได้คิดว่า การสร้างเขื่อนย่อมดีกว่าการไม่สร้าง การสร้างเขื่อนนั้นใช่ว่าไม่เห็นแก่ชีวิตสัตว์ป่าและป่าไม้ แต่เราจำเป็นต้องดัดแปลงธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะผู้เดือดร้อนในพื้นที่
ประโยชน์ของการสร้างเขื่อนรัชชประภา เป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป {2}
1. การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง
2. บรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี
3. การประมง อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ สามารถให้ผลผลิตทางด้านการประมงเฉลี่ยปีละ 300 ตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง
4. การท่องเที่ยว ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 70,000 คน
5. การผลิตไฟฟ้า พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 315 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น
6. การแก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม ในลำน้ำพุมดวง-ตาปี และบริเวณปากแม่น้ำที่มีน้ำเค็มรุมล้ำเข้ามาตามลำน้ำ
ประโยชน์เหล่านี้ได้กับประชาชนนับแสนนับล้าน ใช้มา 25 ปีแล้ว และจะได้ใช้ต่อไปอีกนับร้อยปี แต่ถ้าเราเห็นแก่ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดกับสัตว์ป่าไม่กี่ร้อยตัว และส่วนใหญ่ก็ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนที่ตายไปก็มีเป็นส่วนน้อยนิดนั้นในระหว่างการอพยพ เทียบไม่ได้เลยกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีเขื่อนรัชชประภาดังกล่าวนี้
เรากำลังรักสัตว์ รักป่าจนคิดว่าคนอื่นไม่รักเช่นตน จนลืมนึกถึงความทุกข์ยากของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ยากจนหรือไม่
อ้างอิง
{1} มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้นำเสนอวีดีโอนี้ www.youtube.com/watch?v=lfxm1D7uly8
{2} ดูรายละเอียดเขื่อนรัชชประภา ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เขื่อนรัชชประภา
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|