กระแสการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น พยายามที่จะแจงถึงจุดดีๆ ต่าง ๆ ของการคงสภาพป่าไว้ ไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ความจริงเป็นการสร้างภาพ
เมื่อเดือนมกราคม 2557 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ลงพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสำรวจสภาพที่เป็นจริง ได้ข้อมูลที่สาธารณชนอาจไม่ทราบ และได้นำมาเปิดเผยไว้ ดังนี้
1. สภาพป่า บริเวณแก่งลานนกยูง เป็นป่าโปรงที่ฟื้นฟูในห้วงระยะ 5-20 ปีที่ผ่านมา หลังจากความพยายามในการก่อสร้างเขื่อนตั้งแต่ พ.ศ.2525 ไม่บรรลุผล ทั้งนี้แต่เดิมบริเวณดังกล่าวนี้ เคยมีชาวบ้านเผ่ากระเหรี่ยง และชาวไทย อยู่อาศัยอยู่ 200-300 ครัวเรือน ดังนั้นป่าในพื้นที่นี้จึงถูกทำลายไปมาก และเพิ่งฟื้นฟูในภายหลังจริง ไม่ใช่ป่าดงดิบแต่อย่างใด การที่บางฝ่ายพยายามอ้างความสมบูรณ์ของป่า ก็เพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนเป็นสำคัญ
2. ไฟป่าเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและที่สำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เพื่อจับสัตว์ป่าบ้าง หรือเพื่อให้เกิดเห็ดสดบ้าง กรณีเช่นนี้ทางราชการคงมีข้าราชการหรือลูกจ้างจำกัด ทำให้เกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง และเกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากมีเขื่อน ก็ย่อมมีน้ำมากเพียงพอที่จะใช้ดับไฟป่า การก่อสร้างเขื่อนจึงช่วยดับไฟป่าได้เพราะมีน้ำท่าเพียงพอนั่นเอง
3. การล่าสัตว์ ที่ผ่านมาก็พบการล่าสัตว์บ้าง ซึ่งก็ทำนองเดียวกับไฟป่า ทางราชการจำเป็นต้องมีงบประมาณหรือบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อการป้องกันและปราบปรามการล่าสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ และโดยที่มีพื้นน้ำประมาณ 12,000 ไร่ ก็จะช่วยกันพื้นที่ป่าไว้ได้มาก โอกาสที่ใครจะบุกรุกเข้าวางเพลิงหรือล่าสัตว์ย่อมจะน้อยลง สัตว์ป่าก็จะอยู่อย่างสงบในป่าลึกได้โดยมีการรบกวนจากมนุษย์ลดน้อยลง
4. สภาพแก่งลานนกยูงก็มีความสวยงามดี และน่าเสียดายหากกลายเป็นพื้นที่ใต้ท้องเขื่อน อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นความจำเป็นในการสร้างเขื่อน และในอนาคตหลังจากสร้างเขื่อนแล้ว ก็อาจเกิดแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอีกมาก เช่นที่เกิดขึ้นในเขื่อนอื่น ๆ พื้นที่บางส่วนอาจสามารถปรับปรุงเป็นหาดทราย อาจมีลานหินคล้ายกับแก่งลานนกยูงนี้อีกในบริเวณเนินเขาที่น้ำจะขึ้นไปท่วมถึง
5. สำหรับน้ำในแก่งลานนกยูง และแก่งเกาะใหญ่ที่อยู่ห่างออกไป 5.6 กิโลเมตร ในช่วงหน้าน้ำ ก็มีน้ำ มีปลาอยู่พอสมควร แต่โดยมากมักเป็นปลาขนาดเล็กๆ แต่ในช่วงหน้าแล้ง น้ำลดลงเหลือน้อยมาก โดยเฉพาะบริเวณแก่งเกาะใหญ่ ชาวบ้านสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้เลย การมีน้ำอยู่น้อยนี้จึงอาจเป็นข้อจำกัดต่อการบริโภคของส่ำสัตว์ มนุษย์ และการเจริญเติบโตของป่าไม้ แต่หากมีเขื่อน ก็ย่อมจะมีน้ำท่าสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อป่า สัตว์ป่าและมนุษย์ในหลายทาง ทั้งการแก้ไขปัญหาอุทกภัย การชลประทาน การประมง การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
6. นกยูงและสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนตรทราย กระจง ไก่ฟ้า กวาง แต่เดิมไม่มีหรือในสมัยโบราณอาจมี แต่หายไปนานแล้ว มาเมื่อ 4-5 ปีก่อน ทางราชการได้นำมาเลี้ยงไว้ในพื้นที่นี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม แรก ๆ อยู่ในกรง แต่ต่อมาก็ปล่อยให้หากินอิสระ และที่แพร่พันธุ์อยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุดก็คือนกยูง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อแก่งลานนกยูง นกยูงเหล่านี้แรกๆ ยังถูกสุนัขกัดเสียชีวิตไปบ้าง แต่ต่อมาก็แพร่พันธุ์จนถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ไปแล้ว
เขื่อนแม่วงก์จึงจะมีประโยชน์เอนกอนันต์ การลงพื้นทีส่ำรวจข้อมูลโดยไม่ยึดติดกับฉันทาคติที่ต้องการปกป้องผืนป่าโดยไม่อิงกับความจำเป็นที่แท้ อาจไม่ได้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้ ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบหลายด้าน เพื่อไม่ให้ถูกนักต้านเขื่อนลวง
รูปที่ 1: ณ หน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)
รูปที่ 2: นกยูงเหล่านี้ได้นำมาปล่อยเมื่อ 4-5 ปีก่อนนี้เอง แต่เดิมสูญพันธุ์ไปแล้ว
รูปที่ 3: ณ บริเวณแก่งลานนกยูง ที่เป็นนกยูงที่เพิ่งเอามาปล่อย
โปรดดู Clip เพิ่มเติมได้ที่:http://www.youtube.com/watch?v=BODxiMjiPMA&t=12m13s