สิ่งต่าง ๆ ย่อมมีทั้งคุณและโทษ ดีและเสีย แต่ล่าสุดประเมินออกมาแล้วว่า สร้างเขื่อนดีกว่าไม่สร้าง เขื่อนเก็บน้ำได้ดีกว่าป่า ลองมองต่างมุมดูเพื่อสังคมอุดมปัญญา!
ผมได้เห็นโปสเตอร์ "โฆษณาชวนเชื่อ" ของพวกเอ็นจีโอต้านเขื่อนบอกว่า "เขื่อนกำลังเอาท์ ไม่มีใครเอาแล้ว" โดยยกตัวอย่างว่าในสหรัฐอเมริกายกเลิกเขื่อนไป 65 แห่ง ที่เหลือสวีเดน ฝรั่งเศส เยอรมนี เวียดนามและญี่ปุ่น ต่างยกเลิกไป 6, 3, 2, 2 และ 1 แห่งตามลำดับ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ในฐานะที่ผมรับใช้ท่านผู้อ่านด้วยการเปิดโลกกว้างในหน้าต่างประเทศ ผมจึงขออนุญาตบอกตรงๆ ว่าตัวเลขข้างต้นคือการ "แหกตา" คนไทยโดยแท้
ในปี พ.ศ.2555 มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเกิดขึ้นใหม่ถึง 125 แห่งในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจากปี พ.ศ.2554 ซึ่งมีโครงการใหม่ 95 แห่ง ยิ่งกว่านั้นยังมีโครงการที่รอการอนุมัติในอีก 45 มลรัฐ รวมไฟฟ้าที่จะผลิตได้ถึง 60,000 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนราว 7% ในสหรัฐอเมริกาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2,500 แห่ง และอันที่จริงจะสามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้อีก 15% เมื่อได้ติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในอื่นเพิ่มขึ้นอีก 600 แห่ง
ในสหรัฐอเมริกายังมีเขื่อนถึง 80,000 แห่งเพื่อการชลประทานและอื่นๆ กล่าวได้ว่าพลังงานไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกานั้นส่วนใหญ่ได้จากโรงผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมัน-แก๊ส 75% และจากพลังงานปรมาณูอีก 10% ส่วนของไทยนั้นมาจากน้ำมัน-แก๊สถึง 89% และประเทศไทยไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณู ขืนประเทศไทยไม่มีเขื่อนเพิ่มขึ้น ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากทางอื่นที่ยั่งยืน ประเทศไทยอาจยิ่งพึ่งพาต่างชาติมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงควรสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้ "เลี้ยว" กลับหลังหันครั้งใหญ่ ด้วยการผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะเล็งเห็นว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะในอาฟริกา เอเซียใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ประธานและรองประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ที่แล้วมาการค้านเขื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เป็น "Wrong Message" แต่ตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่แล้ว "This is now. We are back".
สำหรับภาพรวมอันดับประเทศที่มีเขื่อนมากที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกามี 9,265 แห่ง จีนมี 5,191 แห่ง อินเดียมี 5,102 แห่ง ญี่ปุ่นมี 3,116 แห่ง บราซิลมี 1,431 แห่ง แคนาดามี 1,166 แห่ง อาฟริกาใต้มี 1,114 แห่ง สเปนมี 987 แห่ง ตุรกีมี 741 แห่ง และฝรั่งเศสมี 706 แห่ง ส่วนเยอรมนีมี 308 แห่งและสวีเดนมี 190 แห่ง ดังนั้นที่ว่ามีการยกเลิกเขื่อนไป 3 แห่งในฝรั่งเศส 2 แห่งในเยอรมนี และ 1 แห่งในญี่ปุ่น จึงถือเอามาเป็นสาระไม่ได้เลย นอกจากจะเป็นการบิดเบือนเพื่อลวงให้คนไม่รู้ร่วมต้านเขื่อนเท่านั้น
เมื่อมองประเทศเพื่อนบ้านของไทย เวียดนามโดยการสนับสนุนของธนาคารโลก กำลังพัฒนาเขื่อนพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กถึง 20-25 แห่ง เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทั้งนี้การสร้างเขื่อนย่อมต้องตัดไม้-ถางป่าบ้าง แต่ "ยิ่งให้ ยิ่งได้" คือยิ่งทำให้มีน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ แถมยังสามารถมีน้ำเพียงพอไว้ดับไฟป่าได้อีกต่างหาก ส่วนเมียนมาร์มีเขื่อนทั้งหมด 40 เขื่อน และกำลัวจะพัฒนาเพิ่มเติมอีกถึง 88 เขื่อนหรือมากกว่าเดิมอีก 2 เท่าตัว ดังนั้นหากรอบข้างของไทยมีการสร้างเขื่อนพลังน้ำมากขึ้น ไทยก็คงต้องพึ่งพิงทางพลังงานจากเพื่อนบ้านอย่างไม่ต้องสงสัย
หากวิเคราะห์ต้นทุนของเขื่อนนั้นจะพบว่า เขื่อนมีต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่าโรงผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน-แก๊สหรือพลังงานลมและแสงแดด แต่ก็มีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่าและไม่ต้องใช้น้ำมัน-แก๊ส ถือเป็นพลังงานสะอาด และยังมีประโยชน์อีกหลายสถานเช่น การชลประทาน แก้ภัยแล้ง ดันน้ำเค็ม ป้องกันน้ำท่วม การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนและบริเวณโดยรอบ อีกทั้งยังสามารถเป็นปราการคุ้มครองสัตว์ป่าจากการไล่ล่า และป่าไม้จากการบุกรุกทำลายป่า
แล้วการสร้างเขื่อนจะมีความคุ้มค่าเพียงใด ในข้อนี้หากพิจารณาอายุทางกายภาพของเขื่อนก็คงอยู่ได้ตราบนานเท่านาน เขื่อนฮูเวอร์คงมีอายุขัยพอ ๆ กับหินผาที่อยู่โดยรอบ แต่หากพิจารณาอายุขัยทางเศรษฐกิจ ก็คงอยู่ได้ไม่เกิน 100 ปี แต่คาดว่าเขื่อนจะคุ้มทุนในระยะเวลาประมาณไม่เกิน 20 ปี ส่วนที่เหลือทั้งหลายก็คือกำไร เช่น ถ้าได้สร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อปี พ.ศ.2525 ด้วยเงินเพียง 3,761 ล้านบาท ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว
1. ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่มาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาทตามข้อมูลของกรมชลประทาน
2. ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ตามสูตร =((13,000/3,761)^(1/31))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา
3. หากขณะนั้นกู้เงินมาทำโครงการด้วยเงิน 3,761 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% เป็นระยะเวลา 15 ปี ก็เท่ากับผ่อนชำระคืนเพียงปีละ 419 ล้านบาท หรือเดือนละ 37 ล้านบาท หรือ =8%/(1-(1/(1+8%)^15))*3,761 และตอนนี้ก็ผ่อนหมดไปแล้ว 16 ปี
ขอส่งท้ายด้วยรูปภาพเขื่อนรูปหัวใจในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า Taum Sauk ซึ่งอยู่ในมลรัฐมิสซูรี่ เขื่อนแห่งนี้เคยพังมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ลดละความพยายามสร้างขึ้นมาใหม่และแล้วเสร็จจนได้รับรางวัลสิ่งก่อสร้างดีเด่น จะสังเกตได้ว่าเขื่อนนี้ย่อมเก็บน้ำได้ดีกว่าดินในป่าในปริมาณมากกว่าอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ ถ้าป่าเก็บน้ำได้จริง จะมีน้ำป่าไหลหลากทั้งที่บนยอดเขาก็ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างไร เขื่อนจึงเป็นที่เก็บน้ำถาวร ส่วนป่ากลับที่เป็นเก็บน้ำชั่วคราวในปริมาณจำกัดเท่านั้น
การพัฒนาประเทศในกรณีเขื่อนจากทั่วโลกนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ไทยเราต้องฟังความรอบข้าง อย่าให้ใครมาหลอกลวงด้วยข้อมูลที่ "ดรามา" โดยเด็ดขาด หาไม่ประชาชนคนเล็กคนน้อย สัตว์ป่า และป่าไม้จะไม่ได้รับการดูแล และไม่อาจเติบโตอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
Dams in Burma: http://en.wikipedia.org/wiki/Dams_in_Burma#Lists_of_dams
Hydroelectric power makes big comeback at U.S. dams: www.rdmag.com/news/2013/09/hydroelectric-power-makes-big-comeback-us-dams
Number of Dams by Country Members www.icold-cigb.org/GB/World_register/general_synthesis.asp?IDA=206
World Bank turns to hydropower to square development with climate change: www.washingtonpost.com/business/economy/world-bank-turns-to-hydropower-to-square-development-with-climate-change/2013/05/08/b9d60332-b1bd-11e2-9a98-4be1688d7d84_story.html
Vietnamese Small Hydro Project Dam Safety Plans: www.damwatch.co.nz/sungvui.pdf
Ozark Constructors Receives Award of Excellence from USSD: www.fredweberinc.com/news/ozark-constructors-recieves-award-of-excellence-from-asdso-/