อ่าน 2,429 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 185/2557: 20 พฤศจิกายน 2557
ถึงเวลาสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้ว

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่มีข่าว "ปิดฉากเขื่อนแม่วงก์ กรมอุทยานร่อนหนังสือถึงคชก.ค้าน ชี้ป่าสมบูรณ์เกินกว่าจะให้มีเขื่อน" ถือเป็นข่าวที่บิดเบือนเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้ถึงเวลาสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วต่างหาก โปรดพิจารณาการตอบโต้ด้วยหลักเหตุผลของ ดร.โสภณ พรโชคชัยที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อประโยชน์ของป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ส่วนใหญ่ต้องการเขื่อน
          1. ตามรายงานข่าวกล่าวว่านายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการประชุมคชก.โครงการเขื่อนแม่วงก์ ครั้งที่ผ่านมา ตัวแทนกรมอุทยานฯที่เข้าประชุม กลับมารายงานว่า มีข้อมูลหลายอย่างมากที่บริษัทที่ปรึกษา นำเสนอในที่ประชุมนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จหลายเรื่อง โดยเฉพาะ เรื่องสัตว์ป่า สภาพพื้นที่ป่า และเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ดร.โสภณ พรโชคชัย ตอบโต้ว่า หากมีสิ่งใดที่กรมอุทยานฯ เห็นว่าไม่ตรง ต้องทักท้วงในที่ประชุมคราวก่อน และนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคมทันที ไม่ใช่เพิ่งมานำเสนอเป็นข่าวในวันนี้ โดยไม่มีรายละเอียดว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตรงส่วนไหนบ้าง การกล่าวอ้างลอย ๆ ถือเป็นการตีกินกล่าวหา ฉ้อฉลข้อมูลทางวิชาการโดยไร้หลักการและหลักฐานหรือไม่
          2. ที่ว่า "ตามสภาพแล้วป่าแม่วงก์ เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์อย่างมาก เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของเสือโคร่ง ที่ขยายพันธุ์ออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" ดร.โสภณ กล่าวว่านี่เป็นการกล่าวตีขลุมอย่างคลุมเครือ ที่สร้างเขื่อนมีขนาดเล็กแค่ 1/1,000 ของผืนป่าตะวันตกที่อ้างถึง ใหญ่กว่า 2 เท่าของเขตสาทร เขตกระจิริดของกรุงเทพมหานครเท่านั้น และไม่เคยค้นพบเสือโคร่งในบริเวณที่สร้างเขื่อนแต่อย่างใด ในวีดีทัศน์ที่กรมอุทยานฯ ถ่ายไว้ ก็พบแต่ในบริเวณอื่นที่อยู่ห่างออกไป บริเวณที่สร้างเขื่อนมีที่กางเต็นท์ มีบ้านชาวบ้านและรีสอร์ตอยู่โดยรอบ ถ้ามีเสือมา คงเป็นข่าวใหญ่สำหรับชาวบ้านและสังคมแล้ว {1}
          3. ที่ว่า "ที่สำคัญคือ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์นั้น เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลก ซึ่งในอนาคต จะต้องผนวกรวมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลกด้วย กรมอุทยานฯเรามองว่า หากปล่อยให้เกิดการสร้างเขื่อนขึ้นมา จะต้องมีปัญหาแน่นอน" ข้อนี้ก็เป็นการกล่าวลอย ๆ ที่ไร้หลักฐานว่ามีปัญหาอย่างไร ดูอย่างเขื่อนรัชชประภา สร้างอยู่กลางหุบเขาสูง เป็นป่าดงดิบ แต่ทุกวันนี้พิสูจน์ชัดเจนว่าการมีเขื่อนทำให้ป่าไม้ สัตว์ป่า และประชาชนได้ประโยชน์ หากปราศจากเขื่อน ป่าไม้คงบรรลัยและสัตว์ป่าคงสูญพันธุ์หมดแล้ว {2}
          4. ที่ว่า "พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ก็อุดมสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเอาพื้นที่ป่าไปสร้างเขื่อน จึงทำหนังสือแจ้งคชก.ว่า จากข้อมูล ข้อเท็จจริงและสภาพที่เป็นอยู่เวลานี้ กรมอุทยานฯไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์" ข้อนี้เป็นการบิดเบือนที่เป็นเท็จ ที่สร้างเขื่อนแม้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่ก็อยู่ตรงชายขอบ จากภาพของการสำรวจก็พบแต่ไม้เล็ก ๆ อายุไม่เกิน 20 ปีที่เพิ่งฟื้นฟูหรือปลูกใหม่ พอต้นไม้โตหน่อยก็อ้างว่าป่าสมบูรณ์ ไม่อาจสร้างเขื่อนได้อีก นี่เป็นการคิดเชิงอวิชชาโดยเฉพาะ ถ้าสร้างเขื่อนแต่แรกก็คงไม่มีข้ออ้างเรื่องป่านี้ {3}
          5. ยิ่งกว่านั้นนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สผ. ยังกล่าวว่า "ความจริงแล้วก็ค่อนข้างชัดเจนว่าในเมื่อต้นเรื่องหรือเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่โครงการนี้ก็แทบจะไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" การพูดอย่างนี้ไม่ถูกต้องด้วยหลักเหตุผล แผ่นดินไทยนี้เป็นของคนไทยทั้งมวล ไม่ใช่ของกรมใดกรมหนึ่ง และในเมื่อโครงการนี้กระทบต่อประชาชนในชุมชนใกล้เคียง และประชาชนส่วนใหญ่ถึง 71% ต้องการให้สร้างเขื่อนในบริเวณนี้ {4} แต่กลับพบกับการขัดขวาง ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
          6. นายสมฤทัย ทะสดวก อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ้างว่า "เขื่อนบางเขื่อนที่ทำมา ทุกวันนี้น้ำไม่มี ปัญหา จึงอยู่ที่การจัดการน้ำพื้นฐาน ระบบหน่วยงานในท้องถิ่น ไม่ต้องสร้างเขื่อน ไม่ต้องทำลายป่า” ไม่ควรพูดตีขลุมเพื่อ "ติเรือทั้งโกลน" เป็นการปลุกระดมให้คนสับสนมากกว่าสร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลที่เป็นกลาง
          7. รศ.สุวัฒนา จิตตลดากร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็กล่าวว่า "ได้ศึกษาและพบว่ารายงานการศึกษาอีเอสไอเอ ยังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนการวิเคราะห์ทางเลือกของโครงการเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดนั้น ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำยังขาดความชัดเจน" นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของการกล่าวอ้างลอย ๆ ที่ผ่านมาพวกค้านเขื่อนก็ตั้งแง่ให้ไปศึกษาใหม่ไม่จบสิ้น เช่นให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น (พ.ศ.2537) ให้ทำประชาพิจารณ์ (พ.ศ.2541) ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำ (พ.ศ.2546) เป็นต้น เขื่อนก็ไม่ได้สร้างสักที
          8. ยิ่งกว่านั้นยังมีการอ้างลอย ๆ อีกว่า "การอ้างถึงประโยชน์ของการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม พบว่าการสร้างเขื่อนไม่มีนัยยะสำคัญต่อการป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ส่วนปัญหาน้ำท่วมในอำเภอลาดยาว ก็เกิดจากปัญหาเฉพาะถิ่นที่ขาดการบริหารจัดการระบบระบายน้ำในพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์"  ทั้งที่ประชาชนคนเล็กคนน้อยส่วนใหญ่ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยเฉพาะเกษตรกร แทบร้อยทั้งร้อยต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ทั้งสิ้น  กรณีนี้กลับไม่ฟังเสียงประชาชนเลย
          โปรดให้ความกรุณาพิจารณา เขื่อนแม่วงก์จึงจะมีประโยชน์เอนกอนันต์ต่อทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้และประชาชนคนเล็กคนน้อย ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วม แก้ฝนแล้ง ระบบชลประทาน ระบบประปา ระบบผลิตไฟฟ้า การประมง การท่องเที่ยว ฯลฯ การสร้างเขื่อนยังเป็นผลดีต่อป่าไม้ที่จะมีน้ำให้ป่าไม้เขียวชอุ่ม มีน้ำไว้ดับไฟป่า เมื่อป่าสมบูรณ์ สัตว์ป่าก็สมบูรณ์ มีน้ำ มีอาหารเพียงพอ เขื่อนยังเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ทำให้สัตว์ป่ามีมากขึ้น เช่นกรณีเขื่อนเชี่ยวหลานที่สัตว์ป่ากลับมาชุกชุมกว่าเดิมก่อนสร้างเขื่อนเสียอีก สร้างเขื่อนดีกว่าครับ

อ้างอิง
{1} การตั้งถิ่นฐานของคนกับเสือ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement795.htm
{2} เขื่อน (รัชชประภา) มีประโยชน์อนันต์ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement620.htm
{3} โปรดอ่านเล่ห์กล "ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมเพื่อต้านเขื่อนแม่วงก์" www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement589.htm
{4} ประชาชนนครสวรรค์มีจำนวนเพิ่มขึ้นที่ต้องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement719.htm


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved