AREA แถลง ฉบับที่ 190/2557: 27 พฤศจิกายน 2557
รายการเถียงให้รู้ TPBS เรื่องกับเขื่อนแม่วงก์
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ในคืนวันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ "เถียง" กับนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ถึงประเด็นการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นับเป็นการถกเถียงที่น่าสนใจเพราะปกติ มักพบแต่เสียงของฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อน โปรดชมรายการที่ link นี้: http://goo.gl/kDorvo
ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้ "เถียงให้รู้เรื่องในทุกประเด็น เช่น
1. สร้างเขื่อนต่างหากที่จะทำให้สัตว์ป่า ป่าไม้เจริญเติบโตและเป็นการสงวนพันธุ์สัตว์หายาก การสร้างเขื่อนคือการสร้างสรรค์ การไม่สร้างเขื่อนจะทำให้ป่าถูกแอบทำลายไปเรื่อยโดยไม่มีเขื่อนเป็นปราการในการป้องกันการล่าสัตว์
2. พื้นที่สร้างเขื่อน เป็นที่อยู่ของชาวบ้านเดิมถึง 200 ครัวเรือน มีไร่ข้าวโพด ไร่อื่น ๆ แม้แต่ต้นมะพร้าวยังหลงเหลืออยู่ รวมทั้งเป็นอดีตป่าเสื่อมโทรมที่เตรียมไว้สร้างเขื่อนเมื่อ 20 ปีกว่าก่อน แต่ถูกเตะถ่วงเรื่อยมา จึงทำให้ต้นไม้มีอายุ 6-18 ปี ป่าก็ค่อย ๆ ฟื้นฟู และปลูกกล้าไม้แซม ๆ เข้าไปเพื่อให้ดูมีปริมาณมาก แต่ลำต้นของแต่ละต้นก็มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 1 ไม้บรรทัด ต้นไม้ขนาดหลายคนโอบคงมีหลงเหลือไม่กี่ต้น และจะสังเกตเห็นตอไม้อยู่ทั่วไป แสดงว่าเขาตัดไม้ทำลายป่ามาหลายรอบแล้ว ต้นไม่ใหม่เพิ่งงอกใหม่
3. การมีเขื่อนเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ลำพังความสูญเสียของประชาชนจากน้ำท่วมและฝนแล้ง รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้กับประชาชนนับร้อยนับพันล้านต่อปีอยู่แล้ว การสร้างเขื่อนเพียง 13,000 ล้าน จึงคุ้มทุนอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้หากประชาชนจะขุดบ่อบาดาล ก็ต้องใช้เงินนับหมื่นบาท และได้แต่น้ำที่มีสารประกอบของเหล็ก ดื่มไม่ได้ ประชาชนต้องซื้อน้ำคันรถละ 300 บาทมาดื่มและใช้
4. พวกค้านเขื่อนสร้างเรื่องเท็จมาทำให้ประชาชนที่ไม่มีข้อมูลหลง เช่น เอานกยูงที่เพิ่งจับมาเลี้ยงเมื่อ 5 ปีก่อนโดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเปิดงานใหญ่โต มาอ้างเป็นของธรรมชาติ ทั้งที่ตอนเริ่มจับมาเลี้ยง ถูกสุนัขกัดตายไปก็ยังมี หรือการอ้างเสือ ซึ่งไม่เคยพบรอยเท้าบริเวณที่สร้างเขื่อน หรือเอาคลิปเสือแม่ลูก ซึ่งลูกเสือขนาดนั้นไม่สามารถเดินมาถึงที่สร้างเขื่อนได้ คงอยู่ในป่าลึกที่ต้องเดินจากที่สร้างเขื่อนนับสิบว้นเข้าไปในป่า หรือเอาคลิปเสือตัวใหญ่เดินอยู่ แต่หลังฉากเป็นภูเขาสูงมาอ้าง ซึ่งแสดงว่าเสืออยุ่คนละที่เพราะบริเวณที่ตั้งเขื่อนไม่มีภูเขาสูงเลย
5. ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 71% ต้องการเขื่อน ยิ่งถามชาวไร่ชาวนา แทบร้อยทั้งร้อยต้องการเขื่อน พวกเอ็นจีโอมักบอกต้องฟังภาคประชาชน แต่พอประชาชนต้องการเขื่อนก็กลับไม่ยอมฟัง หาว่าประชาชนถูกหลอกทั้งที่ประชาชนเขาสรุปจากประสบการณ์นับสิบๆ ปีเกี่ยวกับการจัดการน้ำมาแล้ว พอน้ำท่วมมา ชาวนาก็ต้องรีบเกี่ยวข้าว ขายได้เพียงเกวียนละ 3,000-4,000 บาท จากราคาประกันในรัฐบาลก่อน 15,000 บาท
เสียงของประชาชนคนเล็กคนน้อยกลับไม่มีใครยิน เสียงของอภิชนจอมดรามาพวกเอ็นจีโอกลับส่งเสียงดังลั่น ในการทำประชาพิจารณ์ การรับฟังความเห็นของประชาชน เสียงส่วนใหญ่ล้วนให้สร้าง แต่ประชาชนกลับดูไร้สิทธิไร้เสียงในการจัดการทรัพยากรของตนเอง พวกค้านเขื่อนบอกว่าต้องให้คน กทม. ตัดสินด้วย ถ้าอย่างนั้น การสร้างทางด่วน รถไฟฟ้าใน กทม. ทำไมไม่ถามชาวต่างจังหวัดบ้าง
โดยสรุปแล้ว น้ำคือชีวิต เมื่อมีน้ำกักเก็บไว้มาก ก็ดีต่อทุกฝ่าย ในป่ายังมีน้ำป่าไหลหลากทำคนตายปีละมากมาย ไม่ใช่ที่เก็บน้ำที่แท้จริง แต่เมื่อมีเขื่อน มีความชุ่มชื้น ป่าโดยรอบก็เขียวชอุ่ม รกชัฏ สัตว์ป่าก็สามารถอยู่ได้อย่างร่มเย็น มีอาหาร มีน้ำมากมายไว้แพร่พันธุ์ ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็จะได้เขื่อนไว้แก้ปัญหาความแห้งแล้ง น้ำท่วม สามารถผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ที่ธนาคารโลกส่งเสริม ช่วยส่งเสริมการประมง การท่องเที่ยวได้อีกด้วย
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|