การวิพากษ์ที่เลื่อนลอยและเบาหวิวของกรีนพีซกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซีย
  AREA แถลง ฉบับที่ 242/2558: วันพุธที่ 19 สิงหาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติจากคุณธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีซ ตอบโต้ข้อวิพากษ์ของผมต่อการเสนอข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกรีนพีซที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ผมจึงขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทางกรีนพีซจะเลิกทำร้ายประเทศไทยด้วยข้อมูลแบบนี้อีก

          ผมได้ชี้ให้เห็นว่าการที่โรงไฟฟ้ากระบี่จะใช้ถ่านหินบิทูมินัสที่มีคุณภาพกว่าลิกไนต์เช่นในมาเลเซียที่โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ริมทะเลและใช้เป็นถ่านหินนี้ซึ่งดีกว่าลิกไนต์และได้รับการพิสูจน์แล้วในมาเลเซียที่โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ริมทะเลเลย ไม่ได้ก่อมลภาวะอะไร โดยผลการศึกษาที่ผ่านก็ชี้ว่าไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เพราะ (ตามที่กรีนพีซได้ช่วยสรุปว่า) “ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Kapar (ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ราว 56 กิโลเมตรเท่านั้น) มีระดับไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียและขององค์การอนามัยโลก ผู้ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากแหล่งกำเนิดนั้นรับเอา ‘มลพิษที่มีความเข้มข้นต่ำมากและอยู่ในระดับที่ยอมรับได้’ กลุ่มประชากรดังกล่าวจึงไม่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากมลพิษเหล่านั้น”

            ส่วนที่กรีนพีซบอกว่าควรพูดถึง “เรื่องมลพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตแม้มีระดับน้อยมากถึงหนึ่งส่วนในล้านล้านส่วน มองไม่เห็นและยากที่จะวัดเมื่อหลุดออกจากแหล่งกำเนิดสู่สิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร ที่ไม่ควรมองข้าม” นั้น กรณีนี้ทางการมาเลเซียคงไม่มองข้ามเป็นแน่ และกรีนพีซก็ไม่ได้นำเสนอข้อมูลใด ๆ นอกเหนือจากการ “ขู่” ด้วยความกลัวที่ไร้เหตุผลสนับสนุน

            กรีนพีซอ้างว่าเอกสารของตนเรื่อง “กระบี่บนทางแพร่ง : ถ่านหินสกปรกหรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด” (http://bit.ly/1MBSVje) นั้น “ข้อมูลส่วนใหญ่ในรายงานมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based)น และการสำรวจภาคสนาม(field studies) . . .อ้างอิงข้อมูลแผนที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงร่างรายงาน EHIA ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ สถิติที่นำมาใช้ในรายงานมีที่มาและอ้างอิงไว้ในเชิงอรรถอย่างชัดเจน” แต่หากท่านใดได้มีโอกาส download เอกสารนี้มาอ่าน “หลักฐานเชิงประจักษ์” ที่กรีนพีชอ้าง กลายเป็นคำคร่ำครวญของคนไม่กี่คน และที่ ผอ.กรีนพีซว่าได้สำรวจคนมานับพันคนจึงเป็นเท็จ (   http://bit.ly/1Pl1IDY)

             กรีนพีซอ้างพื้นที่ชุ่มน้ำว่าสำคัญอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมก็ได้อธิบายให้เห็นด้วยหลักฐานประจักษ์ว่าที่โรงไฟฟ้า Tanjung Bin ที่อยู่ติดพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่มาก และห่างจากสิงคโปร์เพียง 9 กิโลเมตร ก็ยังสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ นี่เป็นบทพิสูจน์ชัดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ร่วมกันได้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ  อย่าไปกลัวดังที่กรีนพีชให้ข้อมูล

            กรีนพีซอ้างว่าที่ผมนำแผนที่ดาวเทียมมาแสดงทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงแรม/รีสอร์ทท่องเที่ยวที่อยู่รายรอบ การอ้าง review ของโรงแรมต่างๆ ที่รายรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินว่าไม่มีการบ่นเรื่องมลพิษ เพื่อจะสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า “ไม่มีผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นั้น “ดูจะตื้นเขินอยู่มิใช่น้อย” ผมขอเรียนว่า นี่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน คนไปท่องเที่ยวก็ไม่รู้สึกถึงปัญหา ถ้าชาวบ้านรู้สึกได้ถึงปัญหา เขาคงไม่ยอมให้โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ใกล้ขนาดนั้น นี่บางแห่งตั้งมาเป็นสิบปีแล้ว ก็แสดงว่าปลอดภัย แต่กรีนพีซก็พยายามอ้างฝุ่นละอองที่เล็กลงไปอีก จาก PM10 เป็น PM2.5 เพื่อบอกว่าโรงไฟฟ้ามีปัญหา ผมเชื่อว่านักวิชาการ ชาวบ้าน และข้าราชการมาเลเซียคงไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาดังคำของกรีนพีซที่พยายามอ้างให้มีปัญหาเป็นแน่

            ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ผลการศึกษาของมาเลเซียที่ออกมาเปิดเผยว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินปลอดภัยแล้ว ยังมีผลการศึกษาของ MIT ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลก ใช้นักวิจัยสหศาสตร์เป็นจำนวนมาก สำรวจมาแล้วว่า ถ่านหินเป็นสิ่งจำเป็นและทำให้กระบวนการสะอาด ปลอดภัยได้ (http://web.mit.edu/coal)

            ผมว่าที่กรีนพีชเขียนจั่วหัวถูกต้องแล้วว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินในคาบสมุทรมาเลเซียนั้นมีขนาดใหญ่และมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้น. . . สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของมาเลเซียเป็นที่สองรองจากอินโดนีเซีย ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 33 โดยมีกำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 7,056 เมกะวัตต์ รัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2562 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะเพิ่มเป็นร้อยละ 64”

            นี่ขนาดว่ามาเลเซียที่เป็นประเทศผลิตน้ำมันยังจะหันมาใช้ถ่านหิน จีน อินเดียก็เช่นกัน เพราะราคาถูก มีอยู่ทั่วไปตามที่ MIT ได้ศึกษาไว้ว่า ถ่านหินมีเหลือเฟือ ราคาถูก และใช้ได้อีกนาน แต่การใช้ถ่านหินอาจขัดผลประโยชน์กับประเทศตะวันตกที่ผลิต “พลังงานสะอาด” เช่นจากลมและแดด ซึ่งสกปรกตั้งแต่แรก เพราะเทคโนโลยีที่แทบไม่มีอะไร กลับมีราคาแสนแพง ผลิตออกมาต่อหน่วยยังต้องจ่ายชดเชยให้เสียอีก การอ้างความสกปรกของถ่านหินที่มีกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดและปลอดภัย จึงเป็นกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้เราใช้พลังงานสะอาดที่ “แสนสกปรก” ในการจัดซื้อ ด้วยข้ออ้างที่ไม่เป็นจริง

            อย่าไปเชื่อพวก “สะอาด” ที่แสน “สกปรก” มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา พม่า อินเดีย จีน ฯลฯ พิสูจน์มาให้เห็นแล้วว่า ถ่านหินบิทูมินัส ผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่า ประหยัดกว่า สะอาดกว่า และอย่าลืมว่าแต่เดิม พ.ศ.2509-2538 เราใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่กระบี่ โรงแรมรีสอร์ทต่าง ๆ ก็ยังเกิดเพิ่มขึ้นมากมาย แสดงว่าไม่สกปรกดังที่กรีนพีซอ้าง หรือพยายามไปหาพวกกลุ่มเล็ก ๆ น้อย ๆ มาอ้างเพื่อ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ”

            ผมอยากบอกว่าเอกสารของกรีนพีซ ถ้าเป็นในกรณีมาเลเซีย ลาว กัมพูชา อินเดีย คงถูกระงับให้เผยแพร่ไปแล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และทำร้ายผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

อ่าน 4,415 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved