การนำเสนอเอกสาร ภาพและข้อมูลต่าง ๆ ของกรีนพีซที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ถ้าเป็นในประเทศอื่น คงไม่อนุญาตให้เผยแพร่
คุณธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีซ ได้ตอบโต้ข้อวิพากษ์ของผมต่อการเสนอข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกรีนพีซที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ผมจึงได้เขียนบทความเรื่อง "การวิพากษ์ที่เลื่อนลอยและเบาหวิวของกรีนพีซกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซีย" ( http://bit.ly/1MCbFiw ) เพื่อทางกรีนพีซจะเลิกใช้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งมีผลต่อการทำร้ายประเทศไทย
ตามภาพที่คุณธารานำมาเสนอข้างต้น ไม่ได้เขียนให้ชัดว่าว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องโรงไฟฟ้าเลย เป็นภาพของการจัดการม้าน้ำและสัตว์ทะเลในตระกูลใกล้เคียง ไม่ได้บอกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินของมาเลเซียทำให้ม้าน้ำสูญพันธุ์หรืออะไร การให้ภาพโดยไม่บรรยายให้ชัดเจนถือเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปในทางลบต่อถ่านหินซึ่งมีกระบวนการผลิตยุคใหม่ที่สะอาดปลอดภัย พิสูจน์มาแล้วทั่วโลก
ในเว็บไซต์ www.sosmalaysia.org/home.html ซึ่ง SOS ไม่ใช่สัญญาณขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน แต่หมายถึงการคุ้มครองม้าน้ำ (Save Our Seahorse) ในเว็บไซต์นี้เคยมีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนาดยักษ์ (ใหญ่กว่าคลองเตยราว 10 เท่า) ที่บริเวณปากแม่น้ำ Sungai Pulai เหมือนกัน ( http://bit.ly/1EfGk2s ) ในช่วงปี 2550-2552 มีการระดมนักวิชาการออกมาเขียนบทความว่าการพัฒนาใหม่นี้ไม่ดี แต่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าและท่าเรือสร้างเสร็จมา 8 ปี พวกเอ็นจีโอกลุ่มนี้เงียบไปแล้ว แต่กรีนพีซยังเอามาอ้างโดยขัดกับความเป็นจริง
กรีนพีซเองก็ยังออกมายืนยันว่า มาเลเซีย ซึ่งมีน้ำมันและแก๊สมหาศาลกว่าไทย ยังจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจากร้อยละ 33 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 64 ภายในปี พ.ศ. 2562 แต่ไทยเรากลับถูกกรีนพีซขัดขวางไว้ ไม่ให้ใช้ถ่านหินที่มีกระบวนการผลิตที่สะอาดปลอดภัยต่อประชาชนและสัตว์ทะเล ซึ่งได้รับการพิสูจน์ชัดเจนในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายๆ แห่งในมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานราคาถูก และสามารถจัดการด้านมลภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาไม่สิงคโปร์และมาเลเซียคงไม่ยอมให้ใช้ถ่านหินบิทูมินัสเช่นที่ไทยกำลังจะใช้อย่างแน่นอน
กรีนพีซพยายามให้ไทยใช้พลังงานลมและแดด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าโดยเฉพาะพลังงานจากแดดนั้น แม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็มีความสกปรกในด้านการทุจริตจัดซื้อ เทคโนโลยีที่แทบไม่มีอะไรพิสดาร กลับมีราคาแสนแพง ทำให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยแพงกว่าจากถ่านหิน 3 เท่า นี่เท่ากับเป็นการผลักดันไทยให้ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีในราคาแพง ถือเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
เอกสารเผยแพร่ของกรีนพีซนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผอ.กรีนพีซบอกว่า "มีการรวบรวมรายชื่อเป็นพันคน" http://goo.gl/1wQatX) อย่างไรก็ตามในหนังสือดังกล่าว ก็ไม่ได้มีปรากฏรายชื่อคนนับพันดังการกล่าวอ้าง มีแต่คำให้การของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นคำพูดของคนไม่กี่คนเท่านั้น เป็นคำพูดด้านเดียว ในความเป็นจริงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่มีมาตั้งแต่ปี 2509 - 2538 โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่คุณภาพแย่กว่าถ่านหินบิทูมินัส สังเกตได้ว่าในช่วงที่ใช้ถ่านหิน ปรากฏว่าโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ กลับเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แสดงว่าไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงใด ๆ แม้ผลิตด้วยลิกไนท์ในสมัยก่อน
ผมเชื่อว่าเอกสารแบบนี้ที่ไม่ได้เสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน คงไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในประเทศอื่น ๆ นอกจากประเทศไทย เพราะอาจสร้างความสับสนแก่สังคม และสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน อาจถือเป็นการทำร้ายชาติก็ว่าได้