ดร.โสภณ ตอกกลับ อ.ศศิน เรื่องเขื่อนแม่วงก์
  AREA แถลง ฉบับที่ 78/2559: วันพุธที่ 02 มีนาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ ตอกกลับ อ.ศศินเรื่องให้ไปศึกษาทางเลือกอื่นแทนการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น เป็น "เล่ห์" เตะถ่วงไม่ให้สร้างเขื่อน ทั้งที่ทางเลือกที่เสนอนั้นก็คือส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเขื่อนที่ต้องปรับปรุงระบบระบายน้ำ แต่การสร้างฝายนั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้โต้กลับหนังสือของ อ.ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ทำถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ที่ให้พิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการแทนการสร้างเขื่อนแม่วงก์
            อ.ศศินกล่าวว่า "ทางเลือกดังกล่าวจะได้จำนวนปริมาณน้ำที่ใกล้เคียง กล่าวคือ กรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์จะได้น้ำ 250 ล้าน ลบ.ม.โดยประมาณ ส่วนทางเลือกกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนจะได้น้ำ 200 ล้าน ลบ.ม.โดยประมาณ และงบประมาณในการจัดทำโครงการดังกล่าวอาจจะถูกกว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ถึง 6 เท่าตัว" เป็นทางเลือกที่เคยเสนอไว้นานแล้ว โดย ดร.โสภณ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเสนอเพียงเพื่อเตะถ่วงไม่ให้สร้างเขื่อนซึ่งมีแนวคิดนี้มาตั้งแต่ปี 2525 เพื่อรอให้ต้นไม้ที่เร่งปลูก เร่งฟื้นฟูในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนี้เติบโตให้ดูเหมือนเป็นป่าสมบูรณ์ จะได้มีข้ออ้าง

ที่ผ่านมามีการ "เตะถ่วง" โครงการมาโดยตลอด เช่น พอจะสร้างเขื่อนในปี พ.ศ.2525 ก็ปรากฏว่า
            มีดำริสร้างเขื่อนในปี 2525 แต่ก็ถูกเตะถ่วงเรื่อยมา (http://bit.ly/1jHwvRs)
            พ.ศ.2532 ให้ไปศึกษา EIA
            พ.ศ.2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น เช่น เขาชนกัน
            พ.ศ.2541 ให้ทำประชาพิจารณ์
            พ.ศ.2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนสร้างเขื่อน
            พ.ศ.2556 ก็อ้างว่าต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรมแม่วงก์ที่จะเอามาสร้างเขื่อน ที่ทั้งปลูกทั้งฟื้นฟูมามีอายุ 5-18 ปีแล้ว ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมที่เคยมีชาวเขา 200 กว่าครัวเรือนอยู่แล้ว ห้ามสร้างเขื่อนอีก

            ที่ว่าทางเลือกดังกล่าวไม่มีอะไรใหม่เพราะเสนอให้ "ซ่อมแซมฝายและประตูระบายน้ำที่ชำรุด เพิ่มเติมโครงการชลประทานที่เป็นฝายและประตูระบายน้ำขนาดเล็ก ส่งเสริมการเปลี่ยนพืชไร่เป็นเกษตรผสมผสาน ตลอดจนการขุดลอกลำน้ำบางสาย และสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น พร้อมทั้งเสนอโมเดลการจัดการน้ำในระดับชุมชนอีกหลากหลาย" สิ่งที่เสนอเหล่านี้อยู่ในส่วนหนึ่งของการสร้างเขื่อนแม่วงก์อยู่แล้ว เพียงแต่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อุทยานที่มีภูเขาล้อมรอบเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้
            การสร้างฝายนั้นเคยดำเนินการมาแล้ว ปรากฏว่าไม่สำเร็จ ชาวบ้านแย่งน้ำกันจนแทบฆ่ากันตาย เรื่องนี้ถ้า อ.ศศิน ติดตามข่าวในพื้นที่ก็คงเคยได้ยิน ทุกวันนี้หลายฝายก็ใช้งานไม่ได้ ซ่อมแซมแล้วก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้สอย คลองส่งน้ำต่าง ๆ ที่ทำไว้ก็ไม่มีน้ำ ที่ประตูระบายน้ำ และคลองส่งน้ำชำรุดก็เพราะไม่มีน้ำนั่นเอง โปรดดูคลิปที่ ดร.โสภณ ได้ไปถ่ายมาด้วยตนเองดังนี้:


ดูวิดิโอคลิก: https://www.youtube.com/watch?v=QTXRlE1e99U&t=42m43s

            สำหรับพื้นที่ป่าที่มองว่าเป็นป่าสมบูรณ์นั้นจริง ๆ แล้วแต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 200-300 ครัวเรือน ที่ย้ายออกมาเพื่อสร้างเขื่อน ยังมีต้นมะพร้าวหลงเหลือให้เห็นอยู่เลย บริเวณที่ชื่อว่าแก่งท่าตาไท ก็คือที่ตั้งบ้านของนายไท ยุ้งสาย ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ตัดเอาไม้สักในป่าบริเวณนั้นมาสร้างบ้าน แม้แต่หลังคายังมุงด้วยไม้สัก แต่ต่อมาชาวบ้านเหล่านี้ได้ย้ายออกมาเพื่อเตรียมสร้างเขื่อน ทุกวันนี้ นายไท เสียชีวิตไปแล้ว แต่ศรีภริยาของท่านยังมีชีวิตอยู่ ดร.โสภณ ก็เคยไปพบมาแล้ว

อ่าน 2,971 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved