เขื่อนแม่วงก์: จม.ของ ดร.โสภณถึงศาลปกครอง
  AREA แถลง ฉบับที่ 450/2559: วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวเกี่ยวกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์  ดร.โสภณ พรโชคชัย จึงทำหนังสือถึงศาลปกครอง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

25    พฤศจิกายน    2559

เรื่อง          ข้อมูลจริงเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์เพื่อประโยชน์ของศาลปกครอง

กราบเรียน นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด

                นายวุฒิ มีช่วย อธิบดีศาลปกครองกลาง

อ้างถึง        คำพิพากษาศาลปกครองกลางเรื่องเขื่อนแม่วงก์ 24 พฤศจิกายน 2559 (http://bit.ly/2gpedDc)

                     ตามที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 151 คน ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในคดีโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพนั้น กระผมเห็นว่าผู้ฟ้องในคดีนี้ไม่ได้มีคุณสมบัติที่สมควรฟ้องได้

                     ทั้งนี้ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้แทนภาคประชาชนคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ไม่ทราบถึงความทุกข์ยากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมและฝนแล้งอย่างแสนสาหัสซ้ำซากมาทุกปี เพราะไม่มีเขื่อนแม่วงก์ที่วางแผนก่อสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2525 แล้ว เสียงของภาคประชาชนที่แท้จริงถูกละเลย และกลับถูกผู้ฟ้องนำมาอ้าง  สำหรับกระผมและคณะได้เคยจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องพบว่า:

ครั้งที่ สำรวจเมื่อ % ที่เห็นด้วยกับ
การสร้างเขื่อน
โปรดดูเอกสารอ้างอิงตามนี้
1 2-3 ตุลาคม 2556 69% http://bit.ly/1MwyYWd
2 11-12 กรกฎาคม 2557 71% http://bit.ly/1PxhHjN
3 16-17 มกราคม 2559 79% http://bit.ly/1Ti1QZ0

                     จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเป็นคนส่วนใหญ่ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ในทุกครั้งของการสำรวจแทบทั้งหมดต้องการเขื่อนแม่วงก์ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ส่วนมากอยู่ในเขตเมืองหรือไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงคือผู้ที่อยู่ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง มีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถใช้วิจารณญาณเล็งเห็นได้ว่าการก่อสร้างเขื่อนนี้ เป็นการตัดสินใจที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายจึงพึงสดับฟังถึงความเห็นของภาคประชาชนที่แท้

                     การสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาด การประมง การประปา การท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นประโยชน์ต่อป่าไม้ เพราะจะได้มีน้ำไว้ดับไฟป่าที่เกิดขึ้นปีละนับร้อยหน และจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่าที่จะมีอาหารมากขึ้นจากการมีป่าที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เขื่อนจะเป็นดั่งปราการในการป้องกันการไล่ล่าสัตว์ป่าและการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในขณะนี้ ที่สำคัญพื้นที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียงราว 2 เท่าของเขตสาทร ซึ่งเป็นเขตที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน (โปรดดูรายละเอียดที่ www.maewongdam.blogspot.com)

                     การที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นผู้ที่ไม่นำพาต่อผลประโยชน์ของภาคประชาชนที่แท้ กลับสามารถอาศัยช่องทางกฎหมาย มาขัดขวางการสร้างเขื่อนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่นั้น นับเป็นการสร้างความอยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนรู้สึกขาดหลักยึด เป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน ทำลายความมั่นคงของชาติ ละเลยต่อมติมหาชนส่วนใหญ่ที่มีความชอบธรรม และดูแคลนภูมิปัญญาชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เห็นชอบต่อการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั่นเอง

                     จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอกราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ผู้ประสานงาน

กลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน
www.facebook.com/maewongdam

 

อ่าน 2,914 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved