ค่ารถไฟฟ้ากัวลาลัมเปอร์ถูกกว่าไทย
  AREA แถลง ฉบับที่ 122/2561: วันจันทร์ที่ 05 มีนาคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ท่านทราบไหม ค่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครแพงกว่าในมาเลเซีย และน่าจะแพงกว่าในมหานครนิวยอร์กและประเทศตะวันตกอื่น แต่ในขณะที่บริษัทดำเนินการกลับสามารถขยายกิจการได้ดี หากค่าโดยสารถูกกว่านี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่านี้

            ข้อสังเกตนี้ได้มาในระหว่างที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะกรรมการ ARENA (ASEAN Real Estate Network Alliance) ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรด้านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียน และประธานก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) ได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน MAREC (Malaysian Annual Real Estate Convention) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม 2561

เครือข่ายรถไฟฟ้าของกรุงกัวลาลัมเปอร์โยงใยในเมืองได้ดีกว่าไทย

ที่มา: https://goo.gl/NqUHgt

 

            อย่างเช่น สาย Kelana Jaya line ซึ่งมีทั้งหมด 37 สถานี ระยะทาง 46.4 กิโลเมตร เก็บค่าโดยสารประมาณ 10 บาท (1.3 ริงกิต) สำหรับสถานีแรก (ถูกกว่าไทยที่ 15 บาท) และสถานีสุดท้ายที่ 43 บาท (5.3 ริงกิต) แต่หากไปต่อรถอื่นไปไกลกว่านั้น ราคาสูงสุดก็ไม่เกิน 67 บาท (8.3 ริงกิต) แต่หากเทียบเป็นเงินไทยโดยใช้สมมติฐานที่ว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวของมาเลเซียสูงกว่าไทย 70% ก็จะพบว่าราคาในกรณีประเทศไทย จะเป็นเงิน 6 บาทสำหรับสถานีแรก และจนถึงสถานีสุดท้ายก็เพียง 25 บาทของไทยเท่านั้น

 

ภาพแสดงอัตราค่าโดยสาร ดูทั้งหมดได้ที่: https://goo.gl/yyCrxC

 

            อันที่จริงรถไฟฟ้าในมหานครนิวยอร์กยังถูกกว่าไทย คือเก็บเพียง 2.75 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือเป็นเงินประมาณ 86 บาท (http://bit.ly/Utsjb4) แต่ค่าครองชีพในนครนิวยอร์กอาจสูงกว่าไทยถึง 4-5 เท่า ก็เท่ากับเป็นเงินเพียง 22 บาทเท่านั้น ในมหานครลอนดอนก็น่าจะถูกกว่าของไทย แต่เนื่องจากได้ดำเนินการมานานนับร้อยปีแล้วนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถทำให้ค่าโดยสารถูกกว่านี้ได้ จะได้ประโยชน์ต่อส่วนรวมกว่านี้

            รถไฟฟ้าสาย Kelana Jaya line แต่เดิมชื่อว่า Putra LRT โดยภาคเอกชนได้รับสัมปทาน  แต่ปรากฏว่า "เจ๊ง" รัฐบาลเลยซื้อคืนไป (http://bit.ly/2tjzmdc) อีกเส้นหนึ่งคือ Star LRT ก็ถูกซื้อโดยทางราชการเหมือนกัน โดย RapidKL ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรงการคลัง ประเทศมาเลเซีย (http://bit.ly/2oGVXMg) ปัจจุบันถือเป็นเส้นที่มีความยาวเป็นอันดับที่สองรองจากสาย Kelane Jaya line มีผู้โดยสารสูงเป็นอันดับสองเช่นกัน

            อย่างไรก็ตามในกรณีประเทศไทย อาจแตกต่างกัน บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ที่ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอส กลับมีกำไร 2,235 ล้านบาทในปี 2560 และ 4,390 ล้านบาทในปี 2559 ในงบการเงินรวม หรือ 4,423 ล้านบาทในปี 2560 และ 6,554 ล้านบาทในปี 2559 ในงบการเงินเฉพาะกิจการ (http://bit.ly/2H2R6vt) และมีแนวโน้มที่จะขยายกิจการเพิ่มขึ้นในกิจการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง และอาจไปจังหวัดอื่นอีก ในแง่หนึ่งการให้เอกชนดำเนินการโดยรัฐไม่ต้อง "อุ้ม" ก็เป็นข้อดี แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจดูเป็นการ "ผูกขาด"

            หากสามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลง ก็จะสามารถทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลงได้เป็นอย่างมาก เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ดูวิดิโอ fb Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://goo.gl/ZBWBP5
อ่าน 16,381 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved