เครื่องจักรนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ที่พึงประเมินโดยเฉพาะในกรณีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การลงทุน การร่วมทุน การประเมินค่าทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรนั้นมีหลักการที่ชัดเจน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย อดีตกรรมการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งอาเซียน ให้ข้อคิดต่อการประเมินค่าเครื่องจักร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดมาตรฐานเอาไว้ (https://bit.ly/39iXJYy)
การประเมินค่าเครื่องจักรอาจรวมตั้งแต่:
1. “โรงงาน (Plant)” หมายถึง สถานประกอบการที่ใช้ในการผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ถูกออกแบบสร้างมาซึ่งประกอบไปด้วย ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และส่วนควบ เครื่องจักรหลัก และอุปกรณ์สนับสนุนการผลิตทั้งหมดหรือเรียกโดยรวมว่า ทรัพย์สิน
2. “เครื่องจักร (Machinery)” หมายถึง สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น สำหรับใช้ก่อกำเนิดพลังงาน เปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าช ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน และหมายความรวมถึงอุปกรณ์ไฟลวีล ปุลเล สายพาน เพลา เกียร์หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสนองกัน
3. “อุปกรณ์ (Equipment)” หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในการสนับสนุนกระบวนการผลิต
สำหรับวิธีการประเมินค่าเครื่องจักรตามมาตรฐานของ กลต.นั้น กำหนดไว้ 3 วิธีได้แก่ วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) วิธีต้นทุน (Cost Approach) และวิธีรายได้(Income Approach) กลต.กำหนดว่าการประเมินมูลค่าควรเลือกใช้วิธีการประเมินวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือตั้งแต่หนึ่งวิธีขึ้นไปตามความเหมาะสม ทั้งนี้การประเมินจะต้องระบุถึงแนวทางการกำหนดวิธีการประเมินมูลค่าเครื่องจักรให้เหมะสมกับการปฏิบัติงานประเมิน ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับลักษณะของเครื่องจักรที่ประเมิน
วิธีหนึ่งที่ไม่ค่อยมีผู้ใช้มากนัก เพราะซับซ้อน แต่ก็มีความจำเป็นมากก็คือวิธีรายได้ ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่าในบางสถานการณ์ โรงงานเหล็ก ผลิตเหล็กออกมาทุกๆ 1 ตันจะขาดทุนนับพันบาท หากใช้วิธีต้นทุน ก็จะได้มูลค่าสูงเกินจริง หากใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาดก็ไม่มีตลาดให้เปรียบเทียบในยามวิกฤติ จึงควรใช้วิธีรายได้เป็นสำคัญ ซึ่ง กลต. ได้กำหนดว่าการประเมินมูลค่าเครื่องจักรโดยวิธีรายได้ผู้ประเมินต้องปฏิบัติดังนี้
1. การประเมินมูลค่าเครื่องจักรโดยวิธีคิดผลตอบแทนทางตรง (Direct Capitalization) ในการประมาณการรายได้ค่าใช้จ่าย อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Capitalization Rate) และรายการอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ประเมินต้องอ้างอิงข้อมูลจากข้อมูลตลาดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมที่ประเมินที่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยข้อมูลดังกล่าวต้องมีความเพียงพอเหมาะสมและน่าเชื่อถือ รวมทั้งต้องแสดงที่มาและการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งประมาณการต่างๆ อย่างชัดเจนสมเหตุสมผลและสามารถตรวจสอบได้
2. การประเมินมูลค่าเครื่องจักรโดยการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของรายได้ที่เป็นกระแสเงินสด (Discount Cash Flow) ในการประมาณการกระแสเงินสดรับ กระแสเงินสดจ่าย อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Capitalization Rate) อัตราคิดลด (Discount Rate) มูลค่าสุดท้ายหรือมูลค่าเสถียรภาพ (Terminal/Reversionary Value) และรายการอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ประเมินต้องอ้างอิงข้อมูลตลาดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องจักรที่ประเมินที่สามารถเปรียบเทียบกันได้รวมทั้งต้องพิจารณาผลประกอบการที่ผ่านมา และแนวโน้มในอนาคตของเครื่องจักรที่ประเมิน ภาวะอุปสงค์อุปทานของตลาด และปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าเครื่องจักรที่ประเมิน โดยข้อมูลดังกล่าวต้องมีความเพียงพอเหมาะสมและน่าเชื่อถือ รวมทั้งต้องแสดงที่มาและการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งการประมาณการต่างๆ อย่างชัดเจนสมเหตุสมผล และสามารถตรวจสอบได้นั่นเอง
ท่านผู้สนใจใช้บริการประเมินราคาเครื่องจักร โรงงาน อุปกรณ์ ฯลฯ ทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน สามารถติดต่อฝ่ายประเมินค่าทรัพย์สิน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส โทร.02.295.3905 ต่อ 114 ดร.โสภณ และคณะยินดีไปประเมินให้ท่านอย่างมั่นใจ